‘กรุงศรี ฟินโนเวต’ ขยับแผนลงทุน  เจาะ ‘สตาร์ทอัพ’ รับอานิสงส์โควิด

‘กรุงศรี ฟินโนเวต’ ขยับแผนลงทุน   เจาะ ‘สตาร์ทอัพ’ รับอานิสงส์โควิด

กระแส “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” ที่โถมเข้ามาต่อเนื่องในช่วงหลายปีนี้ มีอิทธิพลต่อหลายภาคอุตสาหกรรม ซึ่งภายใต้การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

จนสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจ จะเห็นว่ามีหลายธุรกิจต้องปิดตัว หรือต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ภายใต้วิกฤติย่อมมีโอกาส โดยจะเห็นว่าเวลานี้มีบริษัทใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ท่ามกลางดิจิทัลดิสรัปชันที่เรียกว่า “สตาร์ทอัพ”

“แซม ตันสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) บอกว่า ในวิกฤติย่อมมีโอกาส จะเห็นว่าเวลานี้มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย เช่น google netflix Alibaba uber zoom intagram ฯลฯ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ขึ้นมาผู้บริโภคในยุคใหม่ 

ดังนั้นจากวิกฤตของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ หรือโควิด-19 ครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นโอกาสสำคัญ ที่เราจะเห็น “สตาร์ทอัพ”เจ๋งๆเกิดขึ้นมากมายท่ามกลางวิกฤตนี้เช่นกัน และนี่ก็จะเป็นโอกาสของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัทใหม่ๆ ล้อไปกับบริบท new normal

แซม บอกด้วยว่า ท่ามกลางโควิด-19 ทาง “กรุงศรี ฟินโนเวต” เองก็ต้องปรับตัว เพื่อหาโอกาสและการเติบโตใหม่ๆ ในอนาคตเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องทบทวนแผนการดำเนินธุรกิจ การลงทุนใหม่ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไปสู่การลงทุนในสตาร์ทที่มีโอกาสเติบโตได้หลังโควิด -19 มากขึ้น เช่น สตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับ อีโลจิสติกส์ (e-logistics) การชำระเงินออนไลน์ การบริหารด้านซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น รวมไปถึงธุรกิจการส่งอาหาร(food delivery)เป็นต้น

เขาย้ำว่า การลงทุนบน new normal ใหม่ ต้องยึด 4 ด้านสำคัญ  1. คือการลงทุนเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ 2. การลงทุนโดยพิจารณาถึงผลตอบแทนในระยะยาว 3. การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่ออนาคต และ 4. การลงทุนใน fund of funds ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวกรุงศรีฯยังมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ยุโรป อิสราเอลด้วย

“กลยุทธ์ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป การปรับกลยุทธ์ใหม่ 2 ด้านหลักด้วยกัน ด้านแรก เราจะเน้น financial return จะเริ่มเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมา เพื่อใช้ต่อยอดต่อในอนาคต โดยเราตั้งเป้าหมายก่อนปี 2567 จะก้าวขึ้นเป็น The best banking corporate venture capital และจะเป็น กรุงศรี ฟินโนเวต 3.0 ซึ่งจะเป็นองค์กรที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากธนาคารแล้ว แต่จะสามารถมีกำไรของตัวเองและนำกำไรมาต่อยอดการลงทุนใหม่ๆได้ และจะเห็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและสถาบันมาร่วมลงทุนกับเราเพื่อนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนในสตาร์ทอัพใหม่ ซึ่งเป็นโมเดลคล้ายสหรัฐ ญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเห็นแพลนเหล่านี้ราว 3ปีนับจากนี้”

แต่การสร้างกำไรได้ก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากการผลักดัน บริษัทสตาร์ทอัพต่างๆเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วย เช่น Grab ,FINNOMENA ,ICON ซึ่งจะหนุนให้บริษัทมีผลตอบแทนเพิ่มเป็น 2-3 เท่า ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จากปัจจุบันที่เริ่มเห็นผลตอบแทนจากการเข้าไปลงทุนแล้วจากธุรกิจที่เติบโตมากขึ้นแล้ว

ส่วนแผนระยะสั้นๆ บริษัทมีแผนขอเงินลงทุนจาก ธนาคารกรุงศรีฯ เพิ่มอีก 50 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.5 พันล้านบาท ทำให้เงินลงทุนรวมขึ้นเป็น 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่บริษัทมีเงินลงทุนอยู่แล้ว 50 ล้านดอลลาร์ โดยช่วง 3ปี ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 40 ล้านดอลลาร์

สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทมีแผนเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพใหม่อีกราว 3-4 บริษัท ด้วยเงินลงทุนราว 10 ล้านดอลลาร์ที่เหลือ ทำให้สิ้นปีจะเห็นเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพรวมเป็น 10 บริษัท จากปัจจุบันที่เข้าไปลงทุนแล้ว 7 สตาร์ทอัพคือ Grab, FINNOMENA, Baania, Omise, CHOCOCRM, SILOT และล่าสุดคือ ICON Framework ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาระบบการทำงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยบริษัทเข้าไปลงทุนราว 10% หรือราว 100 ล้านบาท

นอกจากนี้จะเห็นโปรเจคใหม่เกิดขึ้น จากการจับมือพันธมิตรเป็น 100โปรเจค จากปัจจุบันที่เกิดขึ้นแล้ว 75 โปรเจค จากการร่วมมือกับพันธมิตรสตาร์ทอัพทั้งหมด 50 ราย และมีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้กับหน่วยงานกรุงศรีแล้วถึง 26 หน่วยงานด้วย