'บิ๊กตู่' ไม่รื้อนั่งร้าน รักษาอำนาจ ส.ว.

'บิ๊กตู่' ไม่รื้อนั่งร้าน รักษาอำนาจ ส.ว.

ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะออกมาประสานเสียงพร้อมร่วมวง “แก้รัฐธรรมนูญ” โดยจะมีร่างฉบับของรัฐบาล ส่งสภาฯ ให้พิจารณาควบคู่กันไปด้วย

ในมุมหนึ่ง อาจมองได้ว่า ท่าทีที่อ่อนลงของ “บิ๊กตู่” เพื่อลดแรงเสียดทานจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ชุมนุมเคลื่อนไหว หนึ่งในข้อเรียกร้องคือ “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ต่างจากข้อเรียกร้องให้ “ยุบสภา” และ “หยุดคุกคามประชาชน” เนื่องจากการเคลื่อนไหว ย่อมมีเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเลี่ยงไม่ได้

ถ้ายังจำกันได้ “รัฐธรรมนูญ 60” ร่างขึ้นเพื่อสกัด “พรรคเพื่อไทย” เป็น “รัฐบาล” ถือว่าได้ผลระดับหนึ่ง โดยหลังเลือกตั้ง “เพื่อไทย” ได้แต่ “ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง” ชนิดที่ไม่มี “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ที่ล้วนเป็นเบอร์ใหญ่แม้แต่คนเดียว 

แต่สิ่งที่ผิดคาดไปก็คือ “พรรคอนาคตใหม่” ในตอนนั้น กลับได้ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” เป็นกอบเป็นกำ จากสูตรคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทุกคะแนนไม่ตกน้ำนั่นเอง

 

เรื่องระบบเลือกตั้ง การทำไพรมารี่โหวต และวิธีคำนวณคะแนนเสียง เป็นประเด็นสำคัญที่หลายพรรคร่วมรัฐบาลขอกันมาเยอะ และพร้อมจะเอาด้วย รวมถึง “เพื่อไทย” จะมีเฉพาะ “พรรคก้าวไกล” ที่พยามไม่แตะต้องประเด็นนี้ เพราะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ 

พรรคก้าวไกล จึงมุ่งไปที่ประเด็นอำนาจ ส.ว. ที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ รวมถึงประเด็นที่มา ซึ่งมีความต้องการให้ ส.ว.มาจากการ เลือกตั้ง

การตั้งเป้าหั่นอิทธิฤทธิ์ อิทธิเดชของ ส.ว.เช่นนั้น จะมีใครใน 250 เอาด้วยสักแค่ไหน แม้จะมีเสียงแตกออกว่าเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยก็ตาม ก็ยังไม่นับว่าเป็นมติเป็นทางการของ ส.ว.

เมื่อลองเช็คกระแสจากจากพรรครัฐบาล ก็ยอมรับว่า ถ้าหากไปตัดอำนาจ ส.ว. เขาจะยอมหรือไม่ หากไม่ยอม ก็เดินหน้าแก้ไขกันยาก 

เช่นเดียวกับแนวคิดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะถึงอย่างไรเสนอของฝ่ายต่างๆ ก็ไม่แตะต้อง หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องตั้งขึ้นมา สู้ค่อย ๆ แก้ไปในทีละประเด็น ที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมเป็นส่วนใหญ่ กระบวนการก็จะเดินต่อไปได้

รวมถึงหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ คนในพรรครัฐบาลยังเสนอให้ตัดทิ้งไปเสียอย่างนั้น เพราะในความเป็นจริง สามารถบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลได้อยู่แล้ว และที่ผ่านมา การรายงานความคืบหน้าต่อสภาตามวงรอบ ก็แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าใดเป็นรูปธรรมชัดเจน ขนาดเป็นรัฐบาลนี้ที่ร่างกฎเกณฑ์นี้ขึ้นมาเอง ก็ยังทำอะไรได้ไม่คล่องตัวนัก

ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้รับรายงานถึงเหตุผลความจำเป็น ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วนั้น ก็ไม่ขัดข้องอะไร ยกเว้น ประเด็น ส.ว. ที่เปรียบเป็นนั่งร้านให้อยู่ในอำนาจต่อไป อย่างน้อยก็เลือกตั้งครั้งหน้าอีกสมัย 

รวมถึงประเด็นในบทเฉพาะกาล เรื่องประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังมีผลบังคับใช้ ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ นั้น ไม่อยากให้มีการแตะต้อง

ดังนั้น ท่าทีของนายกฯ ย่อมรู้อยู่แล้ว เรื่องไหนที่มีแนวร่วม ก็พร้อมจะแก้ไข และบางเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามเอาด้วย เช่น ประเด็น ส.ว.ก็คงยืนยัน ถึงอย่างไร ก็ไม่เอาด้วยแน่นอน

มองกลับไปที่สถานะของวุฒิสภาชุดนี้ ที่มาตามบทเฉพาะกาล ปฏิเสธไม่ได้ว่า ล้วนเป็นเนื้อแท้ที่พล.อ.ประยุทธ์ และคสช.เลือกเฟ้นเองมากับมือ เพื่อเป็นหลักประกันตั้งแต่แรกว่า ถ้าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา หากพรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้ง ส.ว.ก็พร้อมเป็นกองหนุนช่วยเหลือรัฐบาลอย่างเต็มที่ 

หรือหากแพ้เลือกตั้งก็พร้อมเป็นฝ่ายค้านที่ตรวจสอบรัฐบาล

เมื่อผลปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลได้ ประกอบกับ ส.ว.ทั้ง 250 คน ไม่ได้แตกแถวเพราะได้โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อย่างพร้อมเพรียง รวมทั้งที่ผ่านมาวุฒิสภาก็พิจารณาและโหวตกฎหมายสำคัญของรัฐบาลอย่างไม่มีอิดออด

ด้วยเหตุนี้ วุฒิสภาจึงเป็นเขตปกครองพิเศษ ที่ยากต่อการถูกแก้ไข เรื่องที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญล้มวุฒิสภาชุดนี้ ต้องบอกว่า ลืมไปได้เลย แต่การแก้ไขในส่วนของวุฒิสภานั้นเกิดขึ้นแน่นอน โดยจะเป็นเรื่องที่ ส.ว.จะเสนอมาให้ “บิ๊กตู่” พิจารณาเอง ไม่ว่าจะเป็นการ การทบทวนเรื่องการติดตามการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น

ที่สุดแล้ว วุฒิสภาชุดปัจจุบัน จะยังคงอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจ