'การบินไทย' ขอคงสิทธิ 95 สัญญาหน่วยงานรัฐ หนุนแผนฟื้นฟูกิจการ

'การบินไทย' ขอคงสิทธิ 95 สัญญาหน่วยงานรัฐ  หนุนแผนฟื้นฟูกิจการ

"วิษณุ”ถกคณะกรรมการติดตามปัญหาการบินไทย ก่อนยื่นรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูให้ศาลล้มละลาย 17 ส.ค.นี้ “ชาญศิลป์” ขอผ่อนปรน-ยืดสัญญาใช้สิทธิ 95 สัญญากับหน่วยรัฐ หวังหนุนแผนฟื้นฟูกิจการ

ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งแรกในวันที่ 17 ส.ค.2563 ซึ่งการบินไทยจะต้องเตรียมเสนอรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้การบินไทยรายงานความคืบหน้าขั้นตอนการจัดทำแผนฟื้นฟูและการแก้ไขปัญหาของการบินไทย ซึ่งการบินไทยจะต้องเสนอรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนการฟื้นฟูกิจการให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาตามขั้นตอนหลังจากการบินไทยยื่นขอฟื้นฟูกิจการ

“การบินไทยมารายงานความคืบหน้าตามปกติ ผมไม่ได้ไปขอดูแผนฟื้นฟูกิจการเพราะถ้าไปดูก็จะเป็นการล้วงลูก” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้พบกับนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ที่มารับหน้าที่แทนนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ได้สอบปัญหาอุปสรรคที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหลังจากไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้การบินไทยเคยเสนอปัญหามาหลายเรื่องและได้สรุปเสนอรัฐบาลให้ช่วยแก้ไขแล้ว 

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า วันที่ 17 ส.ค.นี้ การบินไทยจะเสนอรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณารายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด

พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการการบินไทย รวมถึงนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ทั้งนี้ หากศาลล้มละลายกลางเห็นด้วยกับรายชื่อดังกล่าวจะมีคำสั่งรับผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ และจะมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยหลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนที่ให้เปิดเจ้าหนี้เข้ามาแจ้งรายละเอียด และจะมีการรับรายชื่อเจ้าหนี้ทั้งที่การบินไทยและที่กรมบังคับคดี เพื่อให้ทราบรายชื่อเจ้าหนี้และมูลหนี้ของบริษัท 

รวมทั้งจะมีกำหนดระยะเวลาการทำแผนฟื้นฟูต้องแล้วเสร็จภายในกำหนดเมื่อใด โดยความยากของการทำแผนฟื้นฟูกิจการ คือ การประเมินสถานการณ์ไปข้างหน้าว่าธุรกิจจะเป็นอย่างไร รายรับ และรายจ่ายของบริษัทจะเป็นอย่างไรซึ่งต้องมองไปในอนาคต

ยังไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน  

“ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหนี้รายใดมายื่นคัดค้าน แต่ก็มีบางรายที่เข้าใจผิดว่าทำไมก่อนหน้านี้ไม่มีรายชื่อเป็นเจ้าหนี้ ตอนหลังได้มีการแจ้งไปแล้วว่ามีรายชื่อแล้วไม่มีปัญหา และส่วนใหญ่เจ้าหนี้ที่ได้ไปเดินสายไปพบทั้งสถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าของที่เป็นเจ้าหนี้การเช่า ส่วนใหญ่ก็เห็นใจ เข้าใจ และเห็นด้วยกับการที่ให้เราเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ”นายชาญศิลป์กล่าว 

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า ศาลปกครองกลางกำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการได้ถึงวันที่ 14 ส.ค.นี้

นายชาศศิปล์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการบินไทยต้องนำความรู้ที่มีมาช่วยบริหารการบินไทย ซึ่งขณะนี้ทุกสายการบินมีปัญหา แต่มองว่าการบินไทยมีจุดแข็งทั้งคนและทรัพยากรสำคัญที่จะฟื้นฟูให้กลับมาได้ 

รวมทั้งที่สำคัญการบินไทยเป็นแบรนด์ของประเทศทั้งในเรื่องของวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ร้านอาหารโรงแรม มีผลต่อเศรษฐกิจมาก มีการจ้างงาน และมีการทำหน้าที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยปีละ 17-18 ล้านคนต่อปี ดังนั้นการบินไทยจึงมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศมาก และจะปล่อยให้ล้มละลายไม่ได้จึงต้องใช้สัพพะกําลังในการฟื้นฟูให้กลับมาให้ได้ 

บินไทยขอคงสิทธิ95สัญญา

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งนี้ได้หารือในเรื่องความช่วยเหลือการบินไทยของหน่วยงานรัฐ 9 หน่วยงาน  รวมสัญญาที่ทุกหน่วยงานทำสัญญากับการบินไทย 95 รายการ

โดยเป็นสัญญาที่ทำไว้กับการบินไทยในขณะที่การบินไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น สัญญาการเช่าที่ดิน สัญญาการประกอบการในสนามบิน สัญญาที่ทำกับการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สัญญาการนำสินค้าเข้าออกที่ทำไว้กับกรมศุลกากร

ทั้งนี้ นายวิษณุ ได้ช่วยประสานและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ช่วยเหลือการบินไทยตามสัญญาที่มีอยู่ก่อน ซึ่งได้รับความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี  

ส่วนกรรมการหลายคนในที่ประชุมได้ให้คำแนะนำที่ดีในข้อพึงระวังในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งทั้งความช่วยเหลือและคำแนะนำจากกรรมการและหน่วยงานต่างๆ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ถูกต้องในช่วงที่การบินไทยกำลังอ่อนแอ 

รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐแม้การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วก็เป็นสิ่งที่ยังสามารถทำได้ เนื่องจากพฤตินัยแล้วการบินไทยเป็นของหน่วยงานรัฐมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ มีกองทุนวายุภักษ์ และมีนักลงทุนที่เป็นคนไทยกว่า 80-90% ถือหุ้นอยู่ การช่วยเหลือการบินไทยให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ถือว่าเป็นการช่วยเหลือคนไทย มีประโยชน์ต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอย่างมาก

สคร.ตรวจสัญญาร่วมทุน 

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนายการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สัญญาของการบินไทยที่มีอยู่กับหน่วยงานภาครัฐมีทั้งสัญญาที่มีการทำไปแล้ว สัญญาที่กำลังจะหมดอายุ ซึ่งได้ผูกพันไว้ในตั้งแต่การบินไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น สัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ 

ทั้งนี้ ได้มีการหารือกันว่าสัญญาทั้ง 95 รายการ สัญญานี้ในส่วนที่กำลังจะมีการหมดสัญญาให้ต่อสัญญาออกไปก่อน ส่วนที่ยังไม่หมดสัญญาได้ขอให้ไม่ใช้สิทธิ์เลิกสัญญา แม้ในเงื่อนไขเคยระบุว่าหากการบินไทยผิดชำระหนี้แล้วจะสามารถยกเลิกสัญญาได้ก็ตาม

รวมทั้งขอผ่อนผันเงื่อนไขบางส่วนของสัญญาเพื่อให้การบินไทยเดินหน้ากิจการต่อไปได้  ซึ่งในส่วนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการยื่นรายชื่อคณะทำแผนฟื้นฟูในวันที่ 17 ส.ค.นี้ แต่จะช่วยให้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยกลับมาได้ตามแผน

ทั้งนี้ สคร.จะรับไปดำเนินการ คือ สัญญาบางส่วนที่เข้าแผนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะพิจารณาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนและกระทบข้อกฎหมายอย่างไร โดย สคร.จะเป็นตัวกลางในการไปเจรจาหารือในส่วนนี้ต่อไป