'เอ็กซอน' แจ้ง กนอ.ชะลอลงทุนปิโตรเคมี EEC 3 แสนล้าน

'เอ็กซอน' แจ้ง กนอ.ชะลอลงทุนปิโตรเคมี EEC 3 แสนล้าน

กนอ.เผย “เอ็กซอนโมบิล” แจ้งชะลอลงทุนปิโตรเคมีในอีอีซี หลังได้รับผลกระทบจากโควิด “สมจิณณ์” เดินหน้าเพิ่มพื้นที่นิคมฯ แหลมฉบัง ยืนยันไม่ถมทะเล เล็งปรับพื้นที่บนบก 2 พื้นที่รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ที่ผ่านมามีการประเมินความต้องการปิโตรเคมีของตลาดโลกจะมีอัตราการขยายตัวถึง 40% ในช่วงปี 2559–2583 และความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อการลงทุน 

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท ในพื้นที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้น ล่าสุดบริษัทเอ็กซอนโมบิล ได้แจ้งขอชะลอโครงการออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 

ทั้งนี้ กนอ.ยังคงเดินหน้าศึกษาขยายพื้นที่ที่จะรองรับโครงการลงทุนของบริษัทเอ็กซอนโมบิลในอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง First S-Curve และ New S-Curve ต่อภายใต้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยจากการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมของสถาบันปิโตรเลียม พบว่ามีอยู่ 4 พื้นที่ ได้แก่

พื้นที่ 1 เป็นพื้นที่บนบก ที่มีความเหมาะสมที่สุด เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เช่าของการท่าเรือแห่งประทศไทย (กทท.) โดยในขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวมีผู้เช่าพื้นที่อยู่ 7 ราย รวม 14 แปลง ใช้เป็นคลังสินค้า ลานจอดรถยนต์และรถบรรทุก เพื่อการส่งออก และอู่ต่อเรือ ซึ่งมีสัญญาเช่า 1-15 ปี ซึ่งจะต้องไปเจรจากับบริษัทที่มีสัญญาเช่าหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

พื้นที่ 2 เป็นพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยรอบโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งประกอบไปด้วยชุมชนกระจายตัวและแทรกตัวระหว่างโรงกลั่นน้ำมัน และระหว่างคลังน้ำมันและคลังก๊าซ มีเนื้อที่ 5,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมประมาณ 1,200 ไร่ แต่ก็ต้องไปเจรจากับชุมชนต่อไป

พื้นที่ 3 เป็นพื้นที่ถมทะเลในบริเวณเขาบ่อยา และเขาภูไบ ด้านทิศเหนือของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยกำหนดในเบื้องต้นให้มีพื้นที่เป้าหมายในการถมทะเลประมาณ 2,534 ไร่ โดยระยะที่ 1 มีพื้นที่ 2,000 ไร่ เป็นพื้นที่เช่า 1,500 ไร่ และระยะที่ 2 ได้พื้นที่รวม 2,534 ไร่ เป็นพื้นที่เช่า 2,250 ไร่

พื้นที่ 4 เป็นพื้นที่การก่อสร้างแหล่งเก็บตะกอน ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการก่อสร้างขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 มีเนื้อที่ประมาณ 1,875 ไร่ และผ่านการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว มีพื้นที่เช่าประมาณ 1,675 ไร่

ขยายนิคมไม่สน“เอ็กซอน”

“จากการศึกษาทั้ง 4 พื้นที่ พบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมรองรับการลงทุนในอนาคตจะเป็นพื้นที่บนบก หรือพื้นที่ที่ 1-2 โดยมองว่าการถมทะเลจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ทั้งนี้ แม้ว่าเอ็นซอนโมบิลจะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการลงทุนโรงงานปิโตรเคมีในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง แต่ กนอ.ยังเดินหน้าแผนจัดหาพื้นที่ต่อไป เพื่อพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงต่อไป โดยจะนำพื้นที่ที่เหมาะสมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.พิจารณาต่อไป” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายยอดขายหรือเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปีงบประมาณ 2563 ยังคงเป้าหมายเดิมที่ 3,000 ไร่ โดยล่าสุดสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ มียอดขายหรือเช่าอยู่ที่ 1,838 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.49% ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 2 เดือน จะพยายามทำให้ได้มากที่สุด คาดว่าจะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้

ส่วนการเปิดนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในอีอีซี จากแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 ทำให้มีความชัดเจนเรื่องพื้นที่สำหรับภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมจากเดิมที่คาดว่าจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้ 18 แห่ง ลดลงเหลือ 10 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เข้ามาลงนามสัญญาร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมกับ กนอ.แล้ว 2 ราย คาดว่าที่เหละจะทยอยเข้ามาลงนามสัญญากับ กนอ.ต่อไป

 

ศึกษาลงทุน3แสนล้าน

รายงานข่าวจาก กนอ.ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัทเอ็กซอน มีแผนลงทุนโครงการปิโตรเคมีด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งต้องการพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงกลั่นศรีราชา โดยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา บริษัทเอ็กซอนโมบิล ได้หารือกับภาครัฐเพื่อเตรียมพื้นที่การลงทุนใหม่ที่คาดว่าจะมีวงเงิน 3.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวได้ศึกษาการใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุดของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าความต้องการปิโตรเคมีพบว่าจะมีอัตราการเติบโตขึ้นถึง 40% ในช่วงจากปี 2559–2583 ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย

นอกจากนี้ บริษัทเอ็กซอนโมบิล ได้ระบุถึงจุดเด่นในการใช้วัตถุดิบน้ำมันดิบนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโครเคมี โดยตรงไม่ต้องผ่านการกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินหรือดีเซลก่อน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลก ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปออกมาเกินความต้องการใช้

รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ผลิตได้จะเป็นพวกโพลิเมอร์คุณภาพพิเศษ เพื่อรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของไทย (S-Curve) ที่ต้องการใช้วัสดุคุณภาพพิเศษ เช่น ชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการวัสดุที่น้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทาน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุด้านการเกษตรในกลุ่มแผ่นฟิล์มที่ใช้ในการทำโรงเรือนหรือคลุมแปลงเพาะปลูก บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์