พระมหากรุณาธิคุณ 'สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง' 20 ปี 'ธนาคารสมอง' สร้างประโยชน์สังคมไทย

พระมหากรุณาธิคุณ 'สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง' 20 ปี 'ธนาคารสมอง' สร้างประโยชน์สังคมไทย

จากพระราชดำรัสของ "สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง" ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทาน เกี่ยวกับเรื่อง “ธนาคารสมอง” นำมาสู่การจัดตั้งธนาคารสมองในปี 2543 ให้ผู้เกษียณอายุทำประโยชน์ต่อเนื่องให้กัสังคม ปัจจุบันดำเนินงานมาแล้ว 20 ปี

จากพระราชดำรัส... สู่ธนาคารสมอง

“...ความจริงหกสิบแล้ว ถึงแม้จะเป็นเวลาที่สมควรที่จะให้ผู้ที่มีอายุน้อยเข้ามาได้ทำหน้าที่ของเขาบ้าง มีโอกาสทำหน้าที่ เราก็ยังเป็นกองหนุนที่คอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองได้ โดยมีภาคเอกชนรวบรวมกัน ไม่ต้องการเงินเดือนอะไรของรัฐบาล ภาคเอกชนมารวบรวมกัน เรียกว่า เบรนแบงก์ ธนาคารมันสมอง...”

จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานในที่ประชุมมหาสมาคม ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลาดรโหฐาน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา มีประเด็นรับสั่งเกี่ยวกับเรื่อง “ธนาคารสมอง” โดยการให้ผู้เกษียณอายุที่ได้สั่งสมความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาเป็นเวลายาวนานได้สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวมต่อไป 

ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำบัญชีหรือทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ จำแนกเป็นรายสาขาตามความเหมาะสม และประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้วุฒิอาสาฯ ได้ทำงานพัฒนาประเทศตามพระราชประสงค์  

“ธนาคารสมอง” จึงเป็นศูนย์รวมผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ที่เกษียณอายุแล้วทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ทรงภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่มีสุขภาพดี มีความพร้อมและสมัครใจที่จะนำปัญญา ความรู้ และประสบการณ์มาช่วยพัฒนาประเทศโดยไม่หวังผลตอบแทน  มุ่งถึงผลประโยชน์ส่วนรวม โดยประสานและเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้วุฒิอาสาฯ ได้ทำงานสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป

บทบาทของวุฒิอาสาธนาคารสมอง

การทำงานของวุฒิอาสาฯ มีทั้งแบบปัจเจกและรวมกลุ่มทำงาน โดยให้ความช่วยเหลือตามคำร้องขอของหน่วยงาน องค์กร หรือชุมชนต่างๆ และริเริ่มกิจกรรมที่สนใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ในหลากหลายด้าน อีกทั้งมีการทำงานเป็นเครือข่าย ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหลัก และไม่มีกรอบเวลาการปฏิบัติงานที่จำกัด

บทบาทที่สำคัญของวุฒิอาสาฯ มิใช่ผู้ที่ลงไปปฏิบัติงานแทนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ หรือปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานปกติ แต่เป็นการนำปัญญา ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากการทำงานมาช่วยเสริมหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยการเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง วิทยากรให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ ทั้งด้านวิชาการและการบริหารจัดการงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ จัดการสาธิต ฝึกอบรม ติดตามดูงาน ตลอดจนเป็นแกนกลางในการประสานและเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ร่วมกับชุมชน ประชาสังคม องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งร่วมวิเคราะห์ปัญหาและเรียนรู้กับชุมชนด้วยกันในลักษณะองค์รวม นอกจากนี้ ยังเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายสู่สาธารณชน 

วุฒิอาสาธนาคารสมอง  

วุฒิอาสาฯ จำแนกตามความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ตามสาขาการพัฒนา จำนวน 21 ด้าน ขณะนี้ (ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563) มีวุฒิอาสาฯ ทั่วประเทศ จำนวน 5,289 คน ส่วนใหญ่เป็นชาย คิดเป็นร้อยละ 66.29 ของวุฒิอาสาฯ ทั้งหมด อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 37.23 รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 17.36 และภาคกลาง ร้อยละ 15.37 

ทั้งนี้ วุฒิอาสาฯ ที่รู้จักทั่วไปในสังคมไทย เช่น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล  ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์มนตรี ตู้จินดา  ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา  นายปราโมทย์ ไม้กลัด  นายวิจิตร สุพินิจ  ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล และ นายอรุณ งามดี เป็นต้น

159704073796

159704090557

ผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการธนาคารสมองจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 20 ปี วุฒิอาสาฯ ได้สร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม มีผลการดำเนินงานที่สำคัญและเป็นรูปธรรม ดังนี้

  1. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  วุฒิอาสาฯ ได้รวมกลุ่มกันทำงานเชิงรุก และเป็นกลไกขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์ในหลากหลายมิติตามความต้องการของหน่วยงานและชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาจังหวัด/ชุมชนท้องถิ่น และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และความเสมอภาคและเท่าเทียมทางสังคม โดยร่วมดำเนินงานกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาใน 6 ด้าน ดังนี้

                1.1    ด้านการส่งเสริมอาชีพ รายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต  โดยร่วมเป็นวิทยากร ที่ปรึกษา
เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน และประสานหน่วยงานและสถาบันการศึกษาให้ความรู้แก่ชุมชน อาทิ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จ.ราชบุรี นครศรีธรรมราช พัทลุง
และอุตรดิตถ์ การส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งโพรง จ.พัทลุง การพัฒนาสมุนไพรเพื่อชีวิตสู่โรงเรียนและชุมชน จ.สงขลา การสอน/สาธิตการนำรูปภาพใส่ในขวดรูปทรงต่าง ๆ จ.สมุทรสงคราม การพัฒนาผลิตผลส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามให้ได้มาตรฐาน จ.นครศรีธรรมราช การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกระบวนการแผนชุมชน
ใน 40 หมู่บ้าน 18 จังหวัด การเสนอโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในจังหวัดนนทบุรี เป็นต้น

1.2    ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวุฒิอาสาฯ ภาคีเครือข่ายการพัฒนา และชุมชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ
การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม-ราชกุมารี จ.เชียงราย โครงการอุทยานบึงบัว จ.อุบลราชธานี โครงการฝายมีชีวิต
จ. นครศรีธรรมราช การป้องกันภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำ (ธนาคารน้ำใต้ดิน) จ. อุบลราชธานี และ
จ.นครราชสีมา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเวียดนาม เรื่อง การจัดตั้งศูนย์พัฒนาเกษตรป่าไม้ควันตัน เป็นต้น

                1.3    ด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์  โดยการให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา แนะนำ/สาธิตการดูแลสุขภาพกายและใจ การออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ และสังคมสงเคราะห์ราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วยและยากไร้ อาทิ โครงการอุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ขาดการพึ่งพิง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น จ. อุตรดิตถ์ การแก้ไขปัญหาโรคพยาธิและสารอาหารของนักเรียนโรงเรียนหนองน้ำใส จ.นครราชสีมา โครงการดนตรีไทย
จิตอาสา จ.บุรีรัมย์การออกกำลังกายแบบจินกังกง จ.นนทบุรี โครงการสร้างเด็กไทยให้เต็มศักยภาพด้วยอาหารและโภชนาการ กรุงเทพฯ และโครงการด้านสาธารณสุขที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศลาว

                1.4    ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม  โดยการถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้สู่เด็กและเยาวชน การฟื้นฟูและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมในชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนในชุมชน ท้องถิ่นได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง อาทิ การสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าเยียรบับลาวอุบล จ.อุบลราชธานี การอนุรักษ์สืบทอดและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไท-ยวน บ้านคูบัว จ.ราชบุรี
การเสนอพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นมรดกโลก การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการแสดงท้องถิ่น จ.ยะลา โครงการเยาวชน (ถ้ำรงค์) สืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.เพชรบุรี

                1.5    ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุพัฒนาเด็กเยาวชน และคนในชุมชน/ท้องถิ่นให้มีความรู้และการศึกษา ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน ส่งเสริมศีลธรรม จรรยา การดำเนินชีวิตร่วมกันของคนหลายวัย สร้างครอบครัวอบอุ่น ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมกลุ่ม เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ
จ.สงขลา และ จ.เลย ชุมชนจัดการตนเองบ้านทุ่งโต๊ะหย๊ะ จ.พัทลุง โครงการพัฒนาสมองเด็กและเยาวชนด้วยลูกคิดจินตนาการ จ.นครราชสีมา โครงการอบรมภาษาและวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งทักษะในการประกอบอาชีพและอาชีพเสริมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จ.สุรินทร์ และ จ.เชียงราย โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนบ้านสามขาด้วยทฤษฎีการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา จ.ลำปาง โครงการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้อาวุโสในรูปแบบตายายสอนหลาน กรุงเทพฯ การพัฒนาบุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะขวาง
จ.จันทบุรี เป็นต้น

                1.6    ด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคง  ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้การป้องกันปัญหา
ยาเสพติดแก่ชุมชน ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นการพัฒนาที่สำคัญในระดับพื้นที่ ประสานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานหลากหลายสาขาในพื้นที่ชายแดน/พื้นที่ห่างไกลความเจริญ/พื้นที่โดยรอบ ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การสร้างเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จ.เชียงราย โครงการ
ลด ละ เลิก อบายมุข ตำบลเขาแร้ง จ.ราชบุรี การปรับเปลี่ยนทัศนคติของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนหลายชุมชนใน จ.เชียงใหม่ อาทิ บ้านแม่หอย ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม แกนนำชนเผ่าปกาเกอะญอ
อ.กัลยาณิวัฒนา และกิจกรรมอื่นๆ ใน จ.เชียงใหม่ เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการนำไปใช้ในวิถีชีวิต สถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของชาติ การทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ควบคู่กับ
การดูแลป่าต้นน้ำ การพัฒนาพื้นที่ให้ชาวไทยภูเขาเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาดูแล ป้องกัน อนุรักษ์ รักษา และการบุกรุกทำลายป่า ไฟป่า ยาเสพติด และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

  1. การสร้างและขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกันของวุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่ายการพัฒนา โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้วุฒิอาสาฯ รวมกลุ่มกันในระดับจังหวัดและเชิงประเด็น ในการทำงานเชิงรุก ด้วยการริเริ่มกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนและท้องถิ่น การแนะนำวุฒิอาสาฯ ให้แก่จังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ และการประสานเข้าร่วมกิจกรรม และขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการจัดประชุมวุฒิอาสาฯ ระดับภาคและระดับประเทศ ส่งผลให้วุฒิอาสาฯ มีการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายการทำงานและเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่
  2. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ดำเนินการรวบรวมองค์ความรู้ ประสบการณ์ และผลการปฏิบัติงานของวุฒิอาสาฯ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานธนาคารสมองผ่านทางสื่อต่างๆ ของ สศช. อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งวุฒิอาสาฯ ได้จัดรายการทางสถานีวิทยุ/โทรทัศน์ หรือร่วมออกบูธนิทรรศการ ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดรายการวิทยุของ จ.สุรินทร์ นครศรีธรรมราช พัทลุง และราชบุรี เป็นต้น

159704037878

ก้าวต่อไปงานธนาคารสมอง  

การขับเคลื่อนงานธนาคารสมองในระยะต่อไป สศช. ยังคงให้ความสำคัญกับ

  •  การสร้าง ขยาย และเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายในพื้นที่ และกลุ่มพลังจิตอาสาอย่างเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการเป็นตัวกลางในการประสานและเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มจิตอาสาผู้สูงอายุ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
  •  การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน บนฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการเตรียมความพร้อมของคนและ
    องค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการพัฒนาประเทศและความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป้าหมาย
    การพัฒนาที่ยั่งยืน ให้แก่วุฒิอาสาฯ ทุกภาค
  •  การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ธนาคารสมองผ่านกิจกรรม และสื่อที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าร่วมและจัดกิจกรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนามากขึ้น การใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย    

สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทรงเปิดโอกาสให้ผู้เกษียณอายุที่ยังมีความรู้ความสามารถ และมีจิตอาสามาร่วมเป็นพลังของแผ่นดิน เพื่อพัฒนาประเทศชาติ และสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชน ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา “วุฒิอาสาธนาคารสมอง” ได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า พระราชดำรัสในครั้งนั้น มีคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ด้วยพลังของวุฒิอาสาฯ กว่า 5,000 ท่าน ได้อุทิศแรงกายแรงใจ นำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม ประเทศชาติ และประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะยังคงสานต่อพระราชปณิธานสืบไป นับเป็นพระเกียรติคุณที่ยิ่งใหญ่ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย และประเทศชาติ อย่างหาที่สุดมิได้

ทั้งนี้ ผู้เกษียณอายุราชการ ภาคเอกชน ผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้ที่สนใจ มาร่วมเป็นวุฒิอาสาฯ หรือองค์กรใดที่ต้องการความช่วยเหลือจากวุฒิอาสาฯ สามารถติดได้ที่ กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โทร. 0 2280 4085 ต่อ 3507, 3512 – 13 หรือ email : [email protected]