“พุทธิพงษ์” จี้ เฟซบุ๊ค ไม่ปิดเว็บผิดกม.ใน 15 วัน ผิดแพ่งและอาญา

“พุทธิพงษ์” จี้ เฟซบุ๊ค ไม่ปิดเว็บผิดกม.ใน 15 วัน ผิดแพ่งและอาญา

“พุทธิพงษ์” เดินหน้าส่งจดหมายถึง เฟซบุ๊ค จี้ ปิดเว็บผิดกฎหมายภายใน 15 วัน ชี้หากเพิกเฉยผิดกฎหมาย โดนทั้งคดีแพ่ง และ อาญา เผย เพจอาสา จับตา ออนไลน์” เปิดตัวสัปดาห์แรก ปชช.ร่วมแจ้งเบาะแส1,050ยูอาร์แอล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงฯได้ดำเนินการส่งหนังสือแจ้งไปยังเฟซบุ๊คทั้งในประเทศไทย และ ประเทศสิงคโปร์ ให้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายที่มีคำสั่งศาลแล้ว 1,129 ยูอาร์แอล ซึ่งเป็นยูอาร์แอลที่ผิดกฎหมายตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 แต่เฟซบุ๊คเพิกเฉย อ้างว่าไม่ได้รับหนังสือจากกระทรวงฯ ดังนั้น นับจากวันนี้ไปอีก 15 วัน หากเฟซบุ๊คยังเพิกเฉยอยู่ กระทรวงจะดำเนินการทางกฎหมาย

เนื่องจากกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 27 ซึ่งระบุไว้ว่า “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง” ซึ่งหมายความว่าแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์รายใด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้ลบหรือปิดเนื้อหาผิดกฎหมาย จะมีทั้งโทษปรับและปรับรายวันอีก จนกว่าจะยอมแก้ไข

สำหรับการดำเนินคดีนั้น กระทรวงฯอาจจะดำเนินคดีทั้งคดีทางอาญา และ แพ่ง ตามสมควรที่จะดำเนินการได้ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงฯได้ตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบค่าปรับเพื่อมาประเมินค่าปรับในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด,ตัวแทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และ ตัวแทนจากกระทรวงดีอีเอส เป็นต้น

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงฯไม่สนใจว่า สำนักงานเฟซบุ๊คในไทย มีหน้าที่แค่ทำการตลาด หรือ เฟซบุ๊คในประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะทั้ง 2 บริษัท คือ เฟซบุ๊ก เขาคือ บริษัทเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของเขาที่ต้องประสานงานและรับผิดชอบร่วมกัน กระทรวงยืนยันว่าได้ส่งหนังสือไปทั้ง 2 แห่ง และเฟซบุ๊ก ต้องปฎิบัติตามกฏหมายของประเทศไทย ทุกยูอาร์แอลที่กระทรวงฯส่งไปนั้นมีคำสั่งศาลทั้งสิ้นว่าผิดกฎหมาย

สำหรับความคืบหน้าในการ เปิดตัว “เพจอาสาจับตาออนไลน์” เพื่อเป็นช่องทางสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเบาะแส พบว่า ในช่วง1สัปดาห์แรกของการเปิดตัว มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์ หรือ เว็บผิดกฎหมายเข้ามาแล้ว จำนวน1,050ยูอาร์แอล โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการแจ้งเรื่องเดียวกัน จำนวน559 ยูอาร์แอล ซึ่งหลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ รวบรวมหลักฐาน ได้ดำเนินการยื่นศาลขอปิดกั้น จำนวน181ยูอาร์แอลและศาลมีคำสั่งแล้วทั้ง7ยูอาร์แอล

ขณะที่ มีเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 174 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.หลอกลวง ถูกฉ้อโกง จำนวน 35 ยูอาร์แอล ซึ่งได้ให้คำปรึกษาประชาชนในการแจ้งความแล้ว 2.พนันออนไลน์ จำนวน25ยูอาร์แอล โดยได้ประสานให้ตำรวจพิจารณาดำเนินการ 3.ข่าวปลอม จำนวน 1 ยูอาร์แอล ได้ประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบแล้ว 4.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อกฎหมาย จำนวน 101 ยูอาร์แอล และ 5. กลุ่มอื่นๆ

ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เร่งรัดระบบรับเรื่องร้องเรียนสื่อออนไลน์ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น กระบวนการรวบรวมและตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ต้องเสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง แล้วส่งให้ศาลอนุมัติคำสั่ง เพื่อทางตำรวจกอง บก.ปอท. และตำรวจที่เกี่ยวข้องไปตามจับผู้กระทำผิดได้โดยเร็ว ตลอดจนส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดเว็บหรือลบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยที่ผ่านมาเฉพาะครึ่งปีแรกของปี 2563 รับแจ้ง 8,715 เว็บ ส่งศาลเพื่อออกคำสั่งไปแล้วทั้งสิ้น 7,164 เว็บ

“ผมเชื่อเสมอว่าประชาชนเป็นหูเป็นตาที่ดีที่สุด เมื่อพบสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บผิดกฎหมาย แจ้งได้ทุกเรื่องที่เพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ทาง inboxm.me/DESMonitor จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่อง และตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง พิจารณาข้อมูลร้องเรียนตามข้อกฎหมายและตอบกลับโดยเร็ว” นายพุทธิพงษ์ กล่าว