ทำความรู้จัก ‘U-POPs’ มลพิษตกค้างแบบไม่จงใจ ความน่ากลัวจาก ‘การหลอมโลหะ’

ทำความรู้จัก ‘U-POPs’ มลพิษตกค้างแบบไม่จงใจ ความน่ากลัวจาก ‘การหลอมโลหะ’

ทำความรู้จัก "U-POPs" สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ คืออะไร จะเกิดอะไรขึ้นหากเราได้รับสารชนิดนี้เข้าไป และมีแนวทางในการป้องกันหรือไม่.. อ่านที่นี่

ในชีวิตประจำวันคงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการเจอะมลภาวะและมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะสั้น หรือตกค้างในร่างกาย สะสมจนก่อให้เกิดผลกระทบในอนาคตระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนึกถึงมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมหนัก รถยนต์ที่วิ่งตามท้องถนน ฯลฯ

แต่หนึ่งในมลพิษที่น่าสนใจไม่น้อย และหลายคนอาจยังไม่รู้จัก คือ U-POPs สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (Unintentionally produced Persistent Organic Pollutants)

  

  • U-Pops คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ซึ่ง U-POPs คือ สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ โดยมีต้นต่อหรือแหล่งกำเนิดมาจากการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูง ซึ่งมีสารอินทรีย์คาร์บอนและสารกลุ่มแฮโลเจน ได้แก่ คลอรีนหรือโบรมีน เป็นองค์ประกอบ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากเตาเผาขยะ เตาเผาศพ และเตาเผาในกระบวนการหลอมโลหะ เป็นต้น 

โดยที่ผ่านมามีการศึกษาพบว่า U-POPs มาจากอุตสาหกรรมหลอมเศษโลหะในปริมาณมาก มีสัดส่วนสูงถึง 21% ของบรรดาแหล่งกำเนิดทั้งหมด ขณะเดียวกันมักจะพบสะสมตัวในปริมาณสูงขึ้นตามลำดับของห่วงโซ่อาหาร จนในที่สุดถูกถ่ายทอดมายังคน ส่วนใหญ่กว่า 90% ผ่านการบริโภค รวมถึงช่องทางอื่นๆ ได้แก่ การหายใจ และการสัมผัสทางผิวหนัง

เนื่องจาก U-POPs ประกอบด้วย 2 กลุ่มสารมลพิษที่สำคัญ คือ กลุ่มไดออกซิน (Dioxins) และฟิวแรน (Furans) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีความคงตัวสูง ตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้นาน และละลายได้ดีในน้ำมัน ทำให้จึงสะสมในเนื้อเยื่อไขมันของสัตว์ ซึ่งคนก็กินเข้าไปจนสะสมเรื่อยๆ

  

  • หากได้รับเข้าไป ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร?

คำถามที่ตามมา คือ หากได้รับสารเข้ามาในร่างกายเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวนั้น ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรบ้าง?  ทั้งนี้หากได้รับสารมลพิษในปริมาณมากในระยะสั้นๆ อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางผิวหนัง หรือเรียกว่า chloraone ลักษณะอาการคือ เยื่อบุตาอักเสบ ผิวหนังไหม้ หรือเกิดตุ่มสิวหัวดำ

ขณะเดียวกันหากได้รับสารมลพิษนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลต่อความผิดปกติต่อระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และก่อให้เกิดมะเร็ง

159704102069

ที่มาภาพ : โครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน Green Scrap Metal Thailand Project

  • สำรวจแนวทางลด U-POPs จากโรงหลอมโลหะ

U-POPs นับเป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำงบที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) จัดทำ โครงการส่งเสริมการนำแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด และแนวทางการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด มาใช้ลดการปลกปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจจากโรงงานหลอมโลหะ ผ่านการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานของเศษโลหะให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นนำเทคนิคและแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ไปใช้ปรับปรุงกระบวนการจัดการเศษโลหะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อทำให้กระบวนการต่างๆ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะป้องกันการเกิด U-POPs และลดการปล่อยให้น้อยที่สุด โดยตั้งเป้าลดการปลดปล่อย U-POPs ให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งมีกระบวนการตามโครงสร้างอุตสาหกรรมหลอมโลหะ ดังนี้

1.ผู้รวบรวม คัดแยก และผู้ค้าเศษโลหะ กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ เช่น คนเก็บขยะ รถรับซื้อของเก่า ร้านรับซื้อของเก่าที่รวบรวมเศษโลหะจากโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือน ก่อนวัตถุดิบไปสู่โรงงานหลอมเศษโลหะ

ในกระบวนการนี้สามารถทำได้โดยการประยุกต์นแนวทาง BAT/BEP หรือการปรับปรุงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดสารปนเปื้อนที่ติดมากับเศษโลหะ เช่น การคัดแยกสารปนเปื้อนประเภทพลาสติก สี และน้ำมัน ออกมาก่อน เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของ POPs-U รวมถึงสามารถปรับปรุงคุณภาพของเศษโลหะ เช่น การล้างทำความสะอาด เป็นต้น

2.โรงงานหลอมโลหะ กลุ่มที่อาจก่อให้เกิด U-POPs มากที่สุด โดยแนวทางป้องกันจะต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเตาหลอมโลหะ ทั้งการลดระยะเวลาการเปิดเตาในขณะจุดไฟให้สั้นที่สุด เพื่อลดการหลุดรอดของ U-POPs จากเตาออกสู่บรรยากกาศ อีกทั้งสามารถทำได้ด้วยการติดตั้งระบบปรับปรุงประสิทธิภาพการเผาไหม้ และติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดพารามิเตอร์ที่จำเป็น

นอกจากนี้กรณีที่ยังมี U-POPs เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต อาจติดตั้งระบบบำบัดเพิ่มเติม เช่น การติดตั้งระบบเผาก๊าซที่ระบายออกจากเตาหลอมซ้ำ การติดตั้งระบบถุงกรอง และการใช้สารดูดซับจำพวกผงถ่านกัมมันต์

3.โรงงานปลายน้ำ เป็นกระบวนการที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำโลหะที่ผ่านการหลอมแล้วไปใช้ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น สามารถลสารมลพิษ U-POPs ได้ด้วยการเลิอกวัตถุดิบจากโรงงานหลอมโลหะที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีจำพวกกลุ่มแฮโลเจน ได้แก่ คลอรีนหรือโบรมีนในการเคลือบผิวโหละ เนื่องจากอาจก่อให้เกิด POPs-U ในการกำจัดซากในอนาคต นอกจากนี้หากมีเศษโลหะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ควรทำการรวบรวมและส่งเศษโลหะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่เหมาะสมต่อไป

4.ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ สามารถช่วยกันลดสารมลพิษ U-POPs ได้ง่ายๆ ด้วยการคัดแยกขยะจำพวกโลหะที่สามารถรีไซเคิลได้ออกจากวัสดุอื่นและควรระมักระวังการปนเปื้อรที่อาจเกิดขึ้นด้วย หลังจากนั้นส่งต่อให้กลุ่มผู้เก็บรวบรวมเพื่อนำเศษโลหะกลับเข้าสู่กระบวรการรีไซเคิลที่ต้นทาง อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยได้ คือ การหลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะการเผาเศษโลหะที่มีพลาสติก PVC เป็นส่วนประกอบ

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเรื่องที่มีการพูดถึงและพยายามทำกันมาอย่างต่อเนื่อง คือความร่วมมือของทุกคน ทุกภาคส่วนที่จะช่วยฟื้นสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับการป้องกันการเกิดและลดการปลดปล่อยสารมลพิษ U-POPs สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจนี้