ส่องเทรนด์ 'แบงก์ไทย' ในตลาด 'ATM Contactless' จ่ายไว ไร้สัมผัส เจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่

ส่องเทรนด์ 'แบงก์ไทย' ในตลาด 'ATM Contactless' จ่ายไว ไร้สัมผัส เจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่

ส่องกลยุทธ์ "แบงก์ไทย" ในตลาด "ATM Contactless" นวัตกรรมการใช้จ่าย ที่รวดเร็ว ปลอดภัย ไร้สัมผัส ตัวช่วยเจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ในเส้นทาง "สังคมไร้เงินสด" ที่ไร้ความภักดี

นวัตกรรมทางการเงินถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงผู้ใช้รายย่อย เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จากกลุ่มธุรกิจถูกปรับปรุง พัฒนาไปไม่สิ้นสุด สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา คือ Fintech (Finiance + technology) ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงบริการต่างๆ ถึงมือผู้ใช้รายย่อย บนค่าใช้จ่ายที่ถูกลง สะดวกรวดเร็วขึ้น ดิสรัปกลุ่มธนาคาร ที่เคยเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับประโยชน์จากค่าธรรมเนียมมายาวนาน 

ภาพการแข่งขันในการผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จึงเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นการแข่งขันในตลาดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีทั้งรายเล็กรายใหญ่ และลดความภักดีในการใช้บริการจากธนาคารใหญ่ๆ  ที่คุ้นเคย กลายเป็นการให้ความสำคัญ ด้านบริการ ที่ถูกจริต ตรงไลฟ์สไตล์ และคุ้มค่ามากกว่า เป็นจุดเริ่มต้นความเติบโตของ Start up ด้าน Fintech รายย่อย ที่งัดไอเดียการบริการใหม่ๆ ที่สามารถอุดเพนพ้อยต์ของผู้ใช้บริการ ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว 

ทว่า ปลาใหญ่อย่างธนาคาร ที่ถูกมองว่ามีจุดด้อยเรื่องขนาดองค์กรที่ใหญ่เกินจะเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ก็ใช้จุดแข็งของธนาคารที่ได้รับความไว้วางใจในระยะยาว สภาพคล่องที่มากกว่า ร่วมมือกับผู้พัฒนาเทคโนโลยีรายย่อยที่มีผลงานเข้าตา มาพัฒนานวัตกรรมทางการเงินให้เข้มแข็งขึ้น ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้นอย่างชัดเจน 

สอดคล้องกับสถานการณ์ "โควิด-19" ที่การติดต่อและสัมผัสกลายเป็นเรื่องอันตราย ทำให้การใช้จ่ายแบบลดการสัมผัสในชีวิตประจำวันไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นแนวโน้มของธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินที่ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการครอบคลุมในมิติของสุขอนามัยที่ดีในเวลาเดียวกัน

 ทำไมต้อง "Contactless" ? 

หนึ่งภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ณ เวลานี้ ธนาคารเริ่มเปิดตัวการใช้บัตร ATM แบบ "Contactless" สามารถใช้จ่ายได้เพียงแค่บัตรและเครื่องรับ ที่ใช้ระยะห่างไม่เกิน 5 เซนติเมตร หรือ 2 นิ้ว เพียงแค่แตะค้างไว้ประมาณ 1-2 วินาที สัญญาณเตือนดัง ก็เท่ากับว่าเราได้ทำธุรกรรมทางการเงินเรียบร้อยแล้ว

บัตร Contactless มีข้อดีโดยเฉพาะด้านความปลอดภัย ที่เราไม่ต้องยื่นบัตรให้พนักงานนำไปรูดหรือสอดเข้าไปในเครื่อง ทำให้ไม่ต้องกลัวหาย หรือถูกนำไปปลอมแปลงหรือใช้ข้อมูลหน้าบัตรหลังบัตร เพราะบัตรจะอยู่กับเราตลอด 

159703817560

เทรนด์การใช้บัตรไร้สัมผัสได้รับความนิยมตามเทรนด์สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และมีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในไทย และต่างประเทศมาหลายปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะเห็นนวัจตกรรมนี้ในกลุ่มบัตรประเภท "เครดิต" แต่ปัจจุบันเริ่มปรับให้ผู้ใช้บัตร ATM และบัตรเดบิตใช้งานได้แล้ว ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มบุคคลที่มากขึ้น และทำให้ภาพสังคมไร้เงินสดของไทยเริ่มชัดเจนขึ้นตามไปด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 แบงก์ไทย รุก ATM/Debit Contactless 

แม้ในอนาคตแนวโน้มการใช้บัตรเอทีเอ็มจะลดลง สอดคล้องกับเทคโนโลยี "กดเงินไม่ใช้บัตร" ผ่าน Mobile Banking ที่ทุกธนาคารทยอยกันให้บริการไปในช่วงปลายปี 2562 โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี และใช้สมาร์ทโฟนในการทำธุรกรรม ดังนั้น การหากลยุทธ์ที่สามารถจูงใจให้คนกลุ่มนี้มี ATM ซักใบในกระเป๋าสตางค์ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับธนาคารในศักราชนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายๆ ธนาคาร รุกตลาด ATM/Debit Contactless เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในอนาคต 

159704117522

"ธนาคารกรุงไทย" ออกตัวแรง ประกาศติดตั้งนวัตกรรม Contactless ที่เครื่อง ATM เป็นธนาคารแรก โดยมีเป้าหมายหลักที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ช่วยลดการสัมผัสปลอดภัยในการทำธุรกรรม และยังช่วยลดปัญหาการลืมหยิบบัตรออกจากตู้

กลุ่มเป้าหมายของกรุงไทย คือประชาชนทั่วไป และครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ใช้บัตรสวัสดิการเห่งรัฐ และบัตรเดบิตที่รองรับฟังก์ชั่น Contactless ซึ่งสามารถทำรายการถอนเงินและสอบถามยอด ได้โดยวิธีการแตะบัตรได้ที่ตู้ ATM และ ATM รุ่นใหม่ (จุดสังเกต ตู้สีเทา) ของธนาคารกรุงไทยที่รองรับฟังก์ชั่น Contactless ได้อย่างสะดวกสบาย ที่คาดว่าในอนาคตคนไทยจะคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมด้วยนวัตกรรมแบบใหม่ ที่เชื่อว่าจะขยายวงกว้างมากขึ้นในอนาคต

159704123281

อีกหนึ่งแบงก์ที่เดินเกมในตลาดนี้คือ "ธนาคารกสิกรไทย" เปิดตัวบัตรเดบิตใหม่ล่าสุด KBank x BLACKPINK (Black Edition) เจาะกลุ่มนิวเจนที่มีไลฟ์สไตล์แอคทีฟ มุ่งลุยหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ที่มาพร้อมสิทธิประโยชน์สำหรับใช้จ่ายบนโลกออนไลน์ และ K PLUS ที่มีฟีเจอร์ใช้งานด้วยระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) จูงใจด้วยโปรโมชั่น ฟรีค่าธรรมเนียมรายปีในปีแรก และมีเพียงค่าธรรมเนียมแรกเข้า

นอกจากความสะดวกสบาย แล้วยังใช้กลยุทธ์เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยการสะท้อนไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ โดยดึง BLACKPINK ศิลปินโปรดของใครหลายๆ คน มาอยู่บนหน้าบัตรที่มีให้เลือกถึง 5 แบบ พร้อมด้วยกรอบรูป 3D และสิทธิประโยชน์สำหรับใช้จ่ายบนโลกออนไลน์ เช่น ส่วนลด Shopee, Lazada, Grab, GrabFood, foodpanda และอื่นๆ อีกทั้งยังได้รับธีม BLACKPINK ลายใหม่บน K PLUS  ที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนฟังก์ชั่นต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นของสะสมที่เจาะกลุ่มแฟนคลับ และวัยรุ่นได้ไม่น้อย 

159704127849

นอกจากนี้ ยังมีบัตรเงินสด (Debit Card) ของ "ธนาคารยูโอบี" ที่สามารถเชื่อมจากบัญชีเงินฝาก และการเบิกถอนเงินสดได้เหมือนบัตร ATM จากเครื่อง ATM ของธนาคารยูโอบี และทุกธนาคารในเครือข่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ณ เครื่อง ATM ที่มีเครื่องหมาย PLUS

รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการแทนเงินสด ณ ร้านค้าที่รับบัตร VISA เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ ณ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ Contactless โดยไม่ต้องกด PIN สำหรับรายการไม่เกิน 1,500 บาท รวมไปถึงรับสิทธิพิเศษ และส่วนลด ในการซื้อสินค้าหรือบริการชั้นนำต่างๆ ที่ธนาคารฯ 

 สังคมไร้เงินสดของไทย ไปทางไหนต่อ? 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างมูฟเมนต์ของธนาคารไทย ที่สะท้อนให้เห็นว่า ในโลกยุคใหม่ นอกจากนวัตกรรมที่นำมาซึ่งความสะดวกสบาย ปลอดภัย แล้ว การให้บริการบัตร ATM/เดบิต จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เช่น ต้องสนุก มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ จนทำให้ลูกค้ายอมให้พื้นที่ในกระเป๋า 1 ช่อง แม้จะสามารถใช้แอพพลิเคชั่นทดแทนได้ก็ตาม

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า "นิวเจน" (New Generation) หรือคนรุ่นใหม่ เป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ให้บริการทางการเงิน ที่ยิ่งสร้างความสนใจ ความเชื่อมั่น ความสนุก หรือตอบโจทย์ความต้องการทางการเงิน ของคนรุ่นใหม่ได้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในอนาคตได้มากขึ้นเท่านั้น ในทางเดียวกันใก็ย่อมมีโอกาสสร้างการเติบโตในอนาคตได้มากขึ้นเช่นกัน

เป็นที่น่าติดตามว่าในอนาคตบัตร Contactless จากผู้ให้บริการต่างๆ จะถูกพัฒนาไปแค่ไหน และจะมีลูกเล่นอะไรมาเอาใจผู้ใช้รุ่นใหม่อีกบ้าง 

ที่มา: ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารยูโอบี