'กมธ.ดีอีเอส' จัดแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถ หวังไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค

'กมธ.ดีอีเอส' จัดแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถ หวังไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค

"กมธ.ดีอีเอส" จัดแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัล วางกรอบการทำงาน กมธ. "กัลยา" เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ปชช.เข้าถึงได้ง่าย พร้อมเพิ่มขีดความสามารถหวังไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค "เศรษฐพงค์" ชี้ทุกหน่วยงานต้องพัฒนาให้ทันสมัยตามโลกให้ทัน

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกมธ.ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2563-2565 โดยเป็นแผนที่เสนอโดย คณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในกมธ.ดีอีเอส ที่มีพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นประธาน โดยเป็นแผนเพื่อให้การทำงานของ กมธ.เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ

1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประชากร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ได้มาตรฐานสากลและความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสาร ทั้งโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งระบบสายและไร้สาย ด้วยการบริหารจัดการคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนโครงข่าย 5G และกิจการอวกาศ (New Space) รองรับการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล บุคลากรดิจิทัล ครอบคลุมทุกพื้นที่และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการแข่งขันในกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

2.การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งเน้นการสร้างสภาวะแวดล้อมทางดิจิทัล (Digital Environment) หรือระบบนิเวศสำหรับธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Ecosystem) โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และการส่งเสริมธุรกิจที่มีอยู่เดิมให้ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น อุตสาหกรรมเกษตร การแพทย์ การผลิตและการบริการ และมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลใหม่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นผู้นำเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาค

3.การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชากรในประเทศมีความรู้ความสามารถทั้งในด้านการประดิษฐ์ คิดค้นนวัตกรรม และการเข้าถึงหรือการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดรับกับบริบททางสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

4.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การวางกลยุทธ์และยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้ครอบคลุมสภาพปัญหาของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งรวมไปถึงการก่อตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการเร่งรัดออกกฎหมาย มาตรการ แนวทางในการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

"เชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 นี้จะช่วยให้การทำงานของกมธ.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้เทียบเท่ากับต่างประเทศได้ ซึ่งแผนดังกล่าวนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเกษตร หรือธุรกิจต่างๆ อีกด้วย" น.ส.กัลยา กล่าว

159703308824

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย รองประธานคณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กรอบการดำเนินการในสองปีจะมีเรื่องที่ต้องทำ คือ

1. Tracking เรื่องที่มีการดำเนินการโดยหน่วยงานอยู่แล้ว แต่เป็นการติดตามว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ เช่น แผน 5 ปีการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. ว่าเดินไปตามแบบแผนหรือไม่ หรือการติดตามการดำนินการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ดำเนินการอะไรบ้าง

2. Monitoring งานที่มีหน่วยงานและแผนงาน แต่จะมีการติดตามว่าการมีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ทางกรรมาธิการจะมีคำแนะนำหรือการสนับสนุนอย่างไร เพื่อให้หน่วยงานสามารถมีการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ เช่น เรื่อง แนวทางยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศที่ควรจะมีทิศทางในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ หรือ การปรับปรุงบริการภาครัฐให้เป็นแบบดิจิทัลของสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล

3. Initialting งานที่ควรมีการริเริ่มเช่นแนวทางการสร้าง เศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) เพื่อให้เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจอีกอันหนึ่งของประเทศ

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้มีกรรมาธิการหลายท่านให้คำแนะนำ เช่น ควรดูเรื่องคลื่นความถี่ที่จะมาช่วยชุมชนทั้งในแง่ของวิทยุชุมชนหรือโทรทัศน์ชุมชน รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับ Cyber Security ว่าควรมีการติตตามอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบเตรียมการที่ดี ถ้าเกิดปัญหาในระยะนี้แล้วจะเกิดเรื่องใหญ่ และต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับ Digital Platform ว่าเราควรจะมีแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการ โดย น.ส.กัลยา เห็นชอบในภาพรวมพร้อมทั้งให้ไปปรับปรุงและให้รายงานในรายละเอียดต่อกรรมาธิการใหญ่ เป็นระยะๆ ต่อไป