ชีวิต Smart บนข้อมือ

ชีวิต Smart บนข้อมือ

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้า ทุกอย่างก็ดูเล็กลงแต่ทรงประสิทธิภาพ นาฬิกาข้อมือก็เช่นกันจากแค่ใช้ดูเวลาหรือวันที่ ปัจจุบันนี้ทุกอย่างของชีวิตแทบจะอยู่บนข้อมือ

คำว่า Smart Watch อาจเป็นชื่อเรียกประเภทนาฬิกาที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน เทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานใน สมาร์ทวอทช์ เช่น การวัดอัตราการเต้นหัวใจ (HRM – Heart Rate Monitor) หรือการวัดระยะทางซึ่งนิยมในการออกกำลังกายอย่างวิ่งหรือจักรยาน ฯลฯ เหล่านี้เคยอยู่ใน Device ที่ไม่ทะมัดทะแมงเท่าไรนัก ในยุคแรกๆ นั้น มีแบรนด์ Polar ที่ค่อนข้างโด่งดังกับเครื่องมือวัด HRM โดยยังต้องอาศัยสายคาดหน้าอกเพื่อส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับ ที่มีทั้งรูปแบบนาฬิกาข้อมือและที่ติดตั้งบนอุปกรณ์กีฬา

  • กีฬาสร้างนาฬิกาสมาร์ท

ถึง Polar จะมาในช่วงแรก แต่ใช่ว่าจะมีเพียงแบรนด์เดียวที่ครองตลาด เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่มีแนวโน้มจะใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ออกกำลังกายกันมากขึ้น ทำให้ราวๆ ปี 2007-2008 ที่ Apple เปิดตัว iPhone และมี iPod เป็นเครื่องมือให้ความบันเทิง ใครที่สนใจเทคโนโลยีในยุคนั้นจะได้ตื่นเต้นกับการปรากฏตัวของแบรนด์กีฬาชื่อดังที่กระโจนลงมาขอแบ่งชิ้นเค้กตลาดนี้ นั่นคือ Nike+ ที่พัฒนาร่วมกับ Apple เป็นการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ใส่ใต้พื้นรองเท้า เพื่อวัดก้าวและควบคุมการเล่นเพลงบน iPod

แน่นอนว่าในอีกฟากฝั่งอย่าง Adidas ก็มี micoach เอาไว้ฟาดฟันเช่นกัน โดยการทำงานคล้ายกันคือใส่ไว้ใต้พื้นรองเท้าเพื่อส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ แต่ไม่ว่าสงครามระหว่างสองแบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่จะจบอย่างไร ทั้ง Nike+ และ micoach กลับไม่ได้เติบโตในตลาดนี้เท่าใดนัก ถึงจะเป็นเทคโนโลยีสุดล้ำในยุคก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ม้ามืดอย่าง Garmin พุ่งทะยานขึ้นมาเป็นแถวหน้าด้วยการทลายกำแพงหลายอย่างที่ Smart Device ต่างๆ ยังไม่เคยทำได้

หากพูดถึง Garmin แบรนด์นี้เติบโตมาจากการพัฒนาอุปกรณ์ GPS ทำนองเดียวกันกับ Polar ทว่าจากเครื่องมือนำทางชิ้นใหญ่ยักษ์ซึ่งเป็นเพื่อนคู่หูของนักเดินทางสายแอดเวนเจอร์ กลับเดินเกมรุกในวงการ Smart Device อย่างเต็มตัว อันจะเห็นได้จาก Garmin Forerunner ถึงในรุ่นแรกๆ จะตัวอวบอ้วนและดูเหมือนจะไม่เหมาะกับการอยู่บนข้อมือเท่าใดนัก แต่ด้วยฟีเจอร์ที่ใส่มาทั้งวัดระยะทาง ความเร็ว วัดชีพจร (โดยใช้สายคาดอก แล้วเชื่อมต่อสัญญาณกับอุปกรณ์ Ant+) เรียกได้ว่าเจ้าตลาด GPS เข้ามาพลิกโฉมแวดวงสมาร์ทวอทช์เลยทีเดียว

แต่เทคโนโลยีการวัด HRM ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ใครที่มีสมาร์ทวอทช์อยู่บนข้อมือตอนนี้จะรู้ดีว่าเดี๋ยวนี้การวัด HRM ใช้เซนเซอร์ใต้ตัวเรือนกันหมดแล้ว ซึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้บริษัท Mio เจ้าแรกๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีใช้ LED ฉายลงบนผิวหนังเพื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจตามการไหลเวียนของเลือด ถึงจะมีคนมองว่าไม่แม่นยำเท่า Ant+ แต่ก็สะดวกสบายขึ้นมาก และปัจจุบันผู้ผลิตทุกรายก็พัฒนาให้เทคโนโลยีนี้แม่นยำมากขึ้นแล้ว

159703118675

  • Instinct Tactical ยอดรักของนักรบ

หลังจาก "สมาร์ทวอทช์" เกิดขึ้นและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มเป้าหมายของนาฬิกาประเภทนี้ขยายเป็นหลายกลุ่ม แน่นอนว่ากลุ่มหลักคือ นักกีฬาและคนออกกำลังกาย แต่ในตลาดของสมาร์ทวอทช์กลับหลากหลายและซับซ้อนกว่าหลายคนคิด เช่น นาฬิกาเพื่อการทหาร ที่โด่งดังและนิยมพอสมควรในบ้านเราอย่าง Garmin Instinct Tactical Edition นาฬิการุ่นนี้มีรากฐานจาก Instinct ปกติ ซึ่งก็ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความทนทานอยู่แล้ว จนหลายคนยกให้เป็นสมาร์ทวอทช์สายลุยขวัญใจนักวิ่งเทรล

แล้วอะไรที่ถูกใส่เข้าไปเพื่อตอบโจทย์การทหาร...?

สีสันคือสิ่งแรกที่พอจะเดาได้ว่าผลิตออกมาให้เหมาะสมกับทหารและคนที่รักลายพรางกับสีเอิร์ธโทน มีทั้งสีดำ, Coyote Tan, ลายพรางสีดำ และลายพรางสี Coyote Tan

แต่เรื่องสีสันยังไม่ใช่หัวใจหลักของความแตกต่าง ทว่าคือโหมดพิเศษต่างหาก ทั้งโหมดซ่อนตัว (Stealth), โหมดกระโดดร่ม (Jumpmaster) และ การวางแผนพิกัด&กลยุทธ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งโหมดเหล่านี้ถ้าว่ากันตามตรง หากไม่ได้ชื่นชอบสีสันแนว Military ก็ยังเดาไม่ออกว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ จะได้ใช้เมื่อไร

แต่เมื่อใส่มาแล้ว ลองดูกันว่าโหมดเหล่สนี้ทำงานอย่างไร เริ่มที่ Stealth Mode จะทำให้นาฬิกาหยุดเชื่อมต่อสัญญาณไร้สายทุกชนิด หยุดบันทึกตำแหน่งและแชร์ตำแหน่ง GPS ด้วย มีไว้สำหรับพรางตัวเพื่อเข้าถึงศัตรู

ต่อกันที่โหมด Night Vision จะปรับไฟหน้าจอในระดับที่เหมาะสมกับแว่นตามองกลางคืน อย่างแว่นอินฟาเรดนั่นเอง ส่วนโหมด Tactical มีไว้บันทึกและแสดงข้อมูลทางกลยุทธ์ เช่น จับเวลา, ระดับความสูง, อัตราการเต้นหัวใจ, พิกัด

สำหรับโหมด Jumpmaster ก็ตามชื่อคือสำหรับกิจกรรมกระโดดร่ม แบ่งย่อยเป็น 3 รูปแบบ คือ HALO กระโดดสูงเปิดร่มต่ำ เน้นความแม่นยำในการลง, HAHO กระโดดสูงเปิดร่มสูง สำหรับระยะทางไกล เพื่อเข้าแทรกซึม และ Static ฝึกกระโดดแบบพื้นฐาน ใช้การกระตุกสายร่ม ซึ่งทั้งโหมด Tactical และ Jumpmaster ก็มีในรุ่นใหญ่อย่าง Fenix 6 ด้วย

159703118627

  • นาฬิกาพลังแสง

จากจุดเริ่มต้นของ "สมาร์ทวอทช์" ที่มีรากฐานมาจากนาฬิกาดิจิทัล เทคโนโลยีบนข้อมือได้รับการต่อยอดจากหลายแบรนด์ ทั้งจากผู้พัฒนาโดยตรงและแบรนด์อุปกรณ์ไอทีอื่นๆ ด้วย เช่น ราวๆ ปี 2013 Samsung ได้เปิดตัว Samsung Galaxy Gear และปี 2015 Apple เปิดตัว Apple Watch โดยที่มี Target Group เป็นคนทั่วไป ไม่ใช่นักกีฬาตัวยง แต่ยังคงไว้ซึ่งฟีเจอร์สำคัญๆ อย่างครบถ้วน

แม้แต่แบรนด์จากแดนมังกร ทั้ง Xiaomi และ Huawei ก็กลายเป็นผู้เล่นรายสำคัญของตลาดสมาร์ทวอทช์เช่นกัน ยกตัวอย่าง Xiaomi ที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม mi ก็ออกสมาร์ทวอทช์มาแล้วหลากหลายรุ่น อาทิ amazfit, mi band เป็นต้น แต่ยิ่งพัฒนากันมากเท่าไร จุดอ่อนหนึ่งของทุกเจ้าคืออายุการใช้หลังจากชาร์จแบตเตอรี่เต็ม เนื่องจากสมาร์ทวอทช์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าจะใช้ให้เต็มประสิทธิภาพก็ต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนตลอดเวลา หรือในการใช้งานโหมดต่างๆ ล้วนกินไฟจากแบตเตอรี่ หลายรุ่นจึงแบตหมดไว แม้แต่แบรนด์ใหญ่อย่าง Garmin ก็มีปัญหานี้ในหลายรุ่น

ทั้งเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่พบ ทำให้ Garmin หันมาพัฒนาขุมพลังของนาฬิกาที่ไม่ต้องพึ่งพาการชาร์จด้วยไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใส่ฟังก์ชันนี้มาในหลายรุ่น เช่น Instinct Solar และ Fenix 6X Pro Solar

สำหรับรุ่นใหญ่สุดอย่าง Fenix 6X Pro Solar นั้นความลับอยู่ที่หน้าจอ Power Glass ที่ชาร์จไฟได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งยังมีความแข็งแรงเทียบเท่ากระจก Gorilla Glass 3 แต่ยังเป็นรองรุ่น Sapphire ที่แข็งแรงสุด แต่ต้องยอมรับว่าความคมชัดและความสวยงามของหน้าจอดูเหมือนจะไม่เคลียร์เท่าไรนัก

หากเทียบตามสเป็กจุดเด่นเรื่องพลังงาน แบตเตอรี่ในรุ่นนี้เท่ากันกับรุ่น Fenix 6X ปกติ แต่ข้อดีของการชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ทำให้ยืดอายุการใช้งานได้โดยเฉพาะคนที่ใส่เดินป่า วิ่งเทรล หรือทำกิจกรรมผจญภัย แน่นอนว่าในป่าเขาไม่มีไฟฟ้าให้ชาร์จอย่างแน่นอน

แต่ถึงอย่างไรการชาร์จด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นี้ยังไม่เหมาะสมที่จะเป็นพลังงานหลัก เพราะด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องอุณหภูมิที่สูงเกินไปเพราะต้องใช้เวลานานมากหากจะชาร์จจนเต็ม รวมทั้งวัสดุต่างๆ ที่อาจเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร

เรียกได้ว่าจากก้าวแรกของสมาร์ทวอทช์ ได้เดินทางมาพร้อมการพัฒนาและความนิยมทั้งผู้ใช้งานและผู้ผลิต จนถึงวันนี้นาฬิกาบนข้อมือกำลังทำหน้าที่แทบจะทุกอย่าง จากยุคหนึ่งที่หลายคนบอกว่าเลิกใส่นาฬิกาเพราะดูเวลาจากโทรศัพท์มือถือ ตอนนี้เชื่อได้ว่า หลายคนกลับมามีนาฬิกาบนข้อมือ แต่ไม่ได้ใช่แค่ดูเวลาเพียงอย่างเดียว