'Cira Core' สู่แพลตฟอร์มประเทศไทย พัฒนา 'AI' ให้เท่าทันโลก

 'Cira Core'  สู่แพลตฟอร์มประเทศไทย พัฒนา 'AI' ให้เท่าทันโลก

"CiRA Core" แพลทฟอร์มอัจฉริยะสัญชาติไทย นวัตกรรม "AI" ที่ถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการรับมือในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เพียงเผยให้เห็นศักยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence)’ ที่เข้ามามีบทบาทแทบทุกด้าน ทั้งการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การพัฒนายา วัคซีน หรือแม้แต่มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม

‘Cira Core’ (ซีร่าคอร์) คือหนึ่งในนวัตกรรม AI ที่ไม่เพียงประสบความสำเร็จและถูกนำมาใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ยังมีส่วนช่วยในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลงานการพัฒนาโดย วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า CiRA Core คือแพลตฟอร์มกลางที่ออกแบบให้ทำหน้าที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีด้าน AI ส่วนที่ทันสมัยที่สุดซึ่งเรียกว่า Deep Learning’ หรือ การเรียนรู้เชิงลึก เป็นเทคโนโลยีที่เลียนแบบเครือข่ายเซลล์ประสาทในสมองมนุษย์ ทำให้เกิดการเรียนรู้จดจำข้อมูลหรือภาพต่างๆ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์แยกแยะ คาดการณ์และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรม

“CiRA Core คือแพลตฟอร์มที่เป็น Core Technology ซึ่งถ้าเทียบกับเทคโนโลยีที่คล้ายๆ กัน เช่น ระบบปฏิบัติการแอนดรอย์ที่สามารถเข้าไปอยู่ในสมาร์ทโฟน นาฬิกา กล้องดิจิทัล รวมถึงสมาร์ททีวี โดยเราสามารถสร้างอัลกอริทึมหรือแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Deep Learning ใส่เข้าไป เพื่อสร้างการเรียนรู้จดจำให้แก่ระบบ เช่น สร้างให้จดจำว่าซองจดหมายรูปร่างหน้าตาเป็นแบบนี้ หลังจากเรียนรู้จดจำแล้ว เมื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมีการสั่งงาน อาทิ การสั่งหุ่นยนต์ให้หยิบซองจดหมายออกจากสายพาน ดังนั้น CiRA Core คือแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงแอปพลิเคชันต่างๆ ไปสู่การใช้งานจริง หรือก็คือตัวกลางระหว่างการเรียนรู้จดจำความคิดไปสู่การสั่งงาน”

159697659568

  • CiRA Core นวัตกรรม AI สู้ภัยโควิด

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในช่วงการระบาดของโควิด-19 คือการขาดแคลนหน้ากากอนามัย จนบุคลากรทางการแพทย์ประสบปัญหาต้องนำหน้ากากอนามัยมาใช้ซ้ำ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้ป่วย CiRA Core คือเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการเร่งตรวจสอบคุณภาพของหน้ากากอนามัยให้ได้คุณภาพตรงตามมาตรฐาน ปลอดภัยและเหมาะสมกับการใช้งานให้แก่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้ในสถานพยาบาล

“ช่วงนั้นซีพีต้องเร่งผลิตหน้ากากอนามัยให้แก่บุคลากรทางแพทย์ภายในเวลาเพียง 5 สัปดาห์ เราได้นำ CiRA Core มาช่วยตรวจสอบการผลิตหน้ากากอนามัยใน 2 ส่วน คือมาตรฐานกระบวนการผลิต และคุณภาพทางกายภาพ

โดยพัฒนาแอปพลิเคชันให้เรียนรู้จดจำว่าหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานกับไม่ได้มาตรฐานต่างกันอย่างไร จากนั้นเชื่อมโยงสั่งการให้ระบบตรวจจับและคัดหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากไลน์การผลิต เป็นการใช้ AI ทดแทนแรงงานคน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 อีกทั้งยังเพิ่มความแม่นยำ และกำลังในการผลิตได้มากขึ้นด้วย”

นอกจากนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตหน้ากากอนามัยแล้ว CiRA Core ยังสามารถใช้ควบคุมมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวว่า หลังจากเริ่มมีมติคลายล็อกดาวน์ ทีมวิจัยได้นำ CiRA Core มาพัฒนาสู่นวัตกรรมระบบอัจฉริยะ ‘Social distancing alert system’ ใช้ในการวัดระยะห่างระหว่างบุคคล และความหนาแน่นของบุคคลที่อยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงพยาบาล หรืองานแฟร์ที่มีคนจำนวนมาก โดยหลักการทำงานจะนำระบบการตรวจจับบุคคลไปติดตั้งที่กล้อง CCTV เพื่อนับและวิเคราะห์จำนวนคนต่อพื้นที่ควรมีเท่าไหร่ หนาแน่นมากเกินไปหรือไม่ หรือแต่ละคนอยู่ใกล้กันเกินไปไหม ถ้าระบบพบจำนวนคนหนาแน่นมากเกินไป จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนอัตโนมัติ หรือส่งไลน์ไปยังผู้รับผิดชอบให้ทราบว่าพื้นที่นี้คนเยอะเกินไป

“หากเทียบกับร้านค้าที่ต้องมีพนักงาน 1 คน มาคอยนับจำนวนจัดลำดับคิวให้มีผู้เข้าร้านได้ไม่เกิน 25 คน นั่นเท่ากับเราต้องเสียบุคลากร 1 คน ในการทำงาน แต่หากติดตั้ง CiRA Core และพัฒนาระบบสั่งการให้แสดงสัญญาณไฟเขียวหรือไฟแดงไว้หน้าร้าน ก็จะง่ายกว่า ซึ่งนี่คือการใช้ AI เข้ามาทำงานแทนคน”

  • นำร่องพลิกโฉมอุตสาหกรรม

แน่นอนว่า CiRA Core ไม่เพียงประยุกต์ใช้สร้างความมั่นคงให้กับประเทศในยามเผชิญสถานการณ์วิกฤติ แต่ยังเป็นเทคโนโลยีซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อการยกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนา CiRA Core เชื่อมโยงโครงข่ายด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ รวมถึงในส่วนของ Deep learning ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย เช่น ได้ร่วมกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) พัฒนาระบบการจ่ายปูนซีเมนต์ด้วยเทคโนโลยีเรียนรู้เชิงลึก โดยเดิมที่ระบบการจ่ายปูนใส่รถขนปูนจะต้องอาศัยแรงงานคนคอยโบกรถ เพื่อให้รถจอดในตำแหน่งที่ช่องใส่ปูนด้านบนของรถอยู่ตรงกับไซโลที่มีงวงใส่ปูนพอดี ขณะที่ CiRA Core จะใช้ระบบตรวจจับตำแหน่งการจอดรถที่ถูกต้อง ผ่านการแสดงสัญญาณไฟให้คนขับทราบ ทำให้ไม่ต้องใช้แรงงานคน

“ทีมวิจัยยังใช้ CiRA Core ในการตรวจสอบคุณภาพ หรือแม้กระทั่งในการวิเคราะห์เครื่องยนต์แทนแรงงานคน จากเดิมที่ต้องใช้คนตรวจสอบว่าใช้ชิ้นส่วนและขั้นตอนการประกอบถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ ก็ใช้ CiRA Core ตรวจสอบแทน ที่ผ่านมาได้นำร่องใช้ตรวจสอบการประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท Denso (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น”

นอกจากการใช้งานในอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศแล้ว CiRA Core ยังพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงในอุตสาหกรรมการแพทย์และการเกษตร

“ตัวอย่างการใช้ CiRA Core ทางการแพทย์ เช่น ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค นำ CiRA Core มาใช้ในการจำแนกชนิดพันธุ์ยุง เพื่อดูว่าบริเวณนั้นมียุงชนิดไหน โดยปกติกรมควบคุมโรคจะสุ่มจับยุง และให้ผู้เชี่ยวชาญจำแนกชนิดพันธุ์ รวมถึงเพศของยุง หากพบว่าเป็นยุงลายและเป็นยุงเพศเมียเยอะ แสดงว่าพื้นที่นั้นเริ่มมีแนวโน้มการระบาดของโรคไข้เลือดออก เพราะยุงตัวเมียกินเลือด ส่วนยุงตัวผู้กินน้ำหวาน ซึ่งจะทำให้มีการแจ้งเตือนและวางแผนป้องกันได้ทันการณ์ โดยหากในอนาคตจำนวนผู้เชี่ยวชาญลดน้อยลง เทคโนโลยี AI ก็จะช่วยได้มาก”

แม้แต่ในภาคเกษตร CiRA Core สามารถใช้ตรวจสอบลักษณะเซลล์เม็ดเลือดของไก่เพื่อบ่งชี้การเป็นโรคมาลาเรียได้ด้วย ซึ่งหากระบบตรวจวิเคราะห์ได้เร็วจะช่วยป้องกัน ลดความเสียหายในการอัตราการสูญเสียไก่ให้แก่เกษตรกรได้

“สมัยก่อนต้องใช้แรงงานคน หรือผู้เชี่ยวชาญในการเรียนรู้จดจำ แต่ปัจจุบันเราทำให้ CiRA Core เรียนรู้จดจำแทนคนได้ ขอแค่มีชุดข้อมูล หรือ Big Data ที่เยอะมากพอ CiRA Core จึงประยุกต์ใช้ได้แทบทุกอุตสาหกรรม”

159697660215

  • ‘แพลตฟอร์มประเทศไทย’ เพื่อ AI ก้าวทันโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์อย่างมาก ขณะที่ประเทศมหาอำนาจต่างเร่งพัฒนาแข่งขันกันเพื่อขึ้นเป็นผู้นำหมายเลขหนึ่ง เมื่อถาม รศ.ดร.ศิริเดช ว่าปัจจุบันสถานการณ์การพัฒนาเทคโนโลยี AI ของประเทศไทยเป็นเช่นไรเมื่อเทียบกับนานาชาติ คำตอบที่ได้คือ ‘แทบไม่ติดฝุ่น’

 “ปัจจุบันเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะด้าน Deep Learning ไปไวมาก มาใหม่ทุกวันเลย ความยากคือการที่เราต้องเดินตามเขาให้ทัน และที่สำคัญคือตอนนี้เราแพ้แม้กระทั่งเวียดนาม เวียดนามมาแรงมากทางด้าน AI ล่าสุดมีการแข่งขันที่รวมนักวิจัย AI ทั่วโลก ปรากฏว่าอันดับ 1 อันดับ 2 คือเวียดนาม ยิ่งตอนนี้ VINN Group ของเวียดนามเตรียมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่งขายอเมริกาแล้ว ฉะนั้นชะล่าใจไม่ได้”

แม้วันนี้ประเทศไทยจะยังเป็นผู้เดินตาม แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสก้าวทันหรือเป็นผู้นำ AI ทัดเทียมระดับโลก รศ.ดร.ศิริเดช มองว่า แรงผลักดันที่จะพาไปสู่ความสำเร็จนั้น คือการผนึกกำลังสร้าง ‘แพลตฟอร์มประเทศไทย’ โดยมีกลไกสำคัญคือการปฏิรูปจัดสรรงบประมาณแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหางบวิจัยแบบ ‘เบี้ยหัวแตก’

“แม้งบประมาณ จำนวนนักวิจัย เราจะสู้อเมริกา หรือสิงคโปร์ไม่ได้ แต่หากนักวิจัยด้าน AI ทั่วประเทศมารวมพลังกัน ช่วยกันสร้างแพลตฟอร์มเดียวกัน หรือทำ CiRA Core ให้เป็นแพลตฟอร์มแห่งชาติไปเลย ซึ่งผมไม่หวงอะไร หรือจะเป็นแพลตฟอร์มอื่นก็ได้ คือแทนที่จะไปแยกกันทำเป็นเบี้ยหัวแตก ได้งบประมาณมา 20,000-30,000 ล้านบาท ต้องมากระจายกันไปหมด ไม่มีเป้าที่ชัดเจน

ดังนั้นการจัดสรรงบวิจัยผ่านกองทุน ววน. ภายใต้การทำงานของ สกสว. ซึ่งจะช่วยลดงานวิจัยที่ซ้ำซ้อน ถือว่าป็นประโยชน์มาก หากทุกคนสามารถมาทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายทิศทางที่ชัดเจนและมุ่งตอบโจทย์เดียวกัน ถึงแม้เงินจะมีจำกัด เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด”

นอกจากนี้ รศ.ดร.ศิริเดช ยังให้ความเห็นว่า การให้ทุนแบบเป็นก้อนระยะยาวที่เรียกว่า ‘Block Grant’ และ ‘Multi Years’ คือกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยจาก ‘หิ้งสู่ห้าง’ ได้

“การพัฒนางานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์นั้นจะมีวงรอบการพัฒนาอยู่ การให้ทุนแบบปีต่อปี เหมือนการไปตัดส่วนหนึ่งของวงจรการพัฒนา เช่น พัฒนาต้นแบบเสร็จยังไม่ทันทดลองใช้ เพื่อนำข้อบกพร่องมาแก้ไขปรับปรุง ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เขียนข้อเสนอโครงการขอทุนใหม่ กลายเป็นแทนที่จะพะวงเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี ต้องมาพะวงเรื่องขอทุน งานวิจัยไม่ต่อเนื่อง ไม่สามารถวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้”

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ศิริเดช ได้ทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของประเทศไทยว่า การลงทุนเทคโนโลยี AI ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ถือว่าลงทุนน้อยแต่สร้างผลกระทบสูง เพราะเป็นการลงทุนที่สมอง และถ้าเราไม่เริ่มต้นพัฒนา รอซื้ออย่างเดียว จะเสียทั้งโอกาสและทรัพยากร ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สมาร์ทโฟนราคา 30,000 บาท ต้นทุนอาจจะราคา 7,000-8,000 บาท แต่ค่าความคิดส่วนต่างหลายหมื่นบาท ถ้าเราไม่ทำก็ต้องเสียเงินตรงนี้ให้เขา ถึงเรายินดี แต่ต้องแลกเงินส่วนนี้จากตรงไหน ต้องแลกกับทรัพยากรของเราเท่าไหร่ ต้องปลูกข้าวเท่าไหร่ ถางป่าเท่าไหร่ เพื่อมาจ่ายส่วนนี้

“ที่สำคัญเทคโนโลยีหรืองานวิจัยเป็นต้นทุนของประเทศ คำว่าต้นทุนคือสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในจังหวะที่จำเป็น เช่น วัคซีน บางครั้งมีเงินก็ไม่สามารถซื้อได้ ถ้าไม่ใช่เทคโนโลยีของเรา ฉะนั้นการมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ไม่ใช่เพียงแค่การลดการนำเข้า แต่เป็นการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยในความเป็นอยู่ของชาติเราด้วย”