ทำไม 'กรมขนส่ง' ถึงมีแนวคิดให้ผู้ใช้ 'ใบขับขี่ตลอดชีพ' ทดสอบสมรรถนะการขับรถใหม่?

ทำไม 'กรมขนส่ง' ถึงมีแนวคิดให้ผู้ใช้ 'ใบขับขี่ตลอดชีพ' ทดสอบสมรรถนะการขับรถใหม่?

"กรมการขนส่งทางบก" จ่อใช้แนวคิด เรียกผู้ขับขี่ที่มี "ใบขับขี่ตลอดชีพ" กลับมาทดสอบสมรรถนะการขับรถใหม่ ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีผลสืบเนื่องจากความไม่พร้อมทางร่างกาย

จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงแนวคิดในการเรียกผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ตลอดชีพ กลับมาทดสอบสมรรถนะการขับรถใหม่ เนื่องจากกรณีอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นหลายครั้งว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ขับขี่สมรรถภาพทางร่างกายไม่พร้อม เช่น ผู้ขับขี่ที่มีอายุมาก ซึ่งจากสถิติอุบัติเหตุหลายครั้งเกิดจากการที่ผู้สูงอายุมักมีใบขับขี่ชนิดตลอดชีพแต่สภาพร่างกายไม่พร้อม

กรมขนส่งจึงมีแนวคิดที่จะเรียกให้ผู้ขับขี่รถยนต์แบบตลอดชีพ กลับมาทดสอบสมรรถนะในการขับรถใหม่อีกครั้ง เพราะเมื่ออายุมากขึ้น  สภาพร่างกาย เช่น การมองเห็น และการได้ยิน อาจไม่สมบูรณ์เหมือนเก่า ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

สัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับรองอธิบดีฝ่ายปฏิบัติการ กรมการขนส่งทางบก ให้จัดทำ "โครงการเรียกผู้ขับขี่รถและมีใบอนุญาตแบบตลอดชีพ กลับมาทดสอบสมรรถนะการขับรถใหม่อีกครั้งกับขนส่งทางบก" เพื่อให้ผู้ถือใบอนุญาตขับขี่แบบตลอดชีพกลับมาแสดงตัวที่ขนส่งทางบกทั่วประเทศ และทำการทดสอบสมรรถภาพความพร้อมในการขับขี่ เพื่อใช้ใบอนุญาตขับขี่ฉบับนั้นต่อไป 

แต่หากผู้ถือใบอนุญาตรายใด สภาพร่างกายไม่สามารถขับรถได้แล้ว และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการขับขี่บนท้องถนน ก่อให้เกิดอันตรายทั้งกับตัวเองและผู้ใช้รถคนอื่น ก็จะพิจารณาว่าจะต้องยกเลิกใบอนุญาตของบุคคลนั้นหรือไม่ต่อไป

ทั้งนี้ จิรุตม์ ย้ำว่า แนวปฏิบัติจะต้องมีการจัดชั้นอายุของผู้ที่จะเข้ารับการตรวจสมรรถภาพ ดยจะเริ่มจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงก่อน เช่น 70 ปีขึ้นไป เพื่อทยอยดำเนินการ ไม่ได้มีการเรียกมาตรวจครั้งเดียวจำนวนมาก รวมทั้งการตรวจจะต้องมีการนำแพทย์เข้ามาร่วมทดสอบลักษณะ "fit to drive" ด้วย เพื่อให้ผลการตรวจเป็นที่ยอมรับ

"ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวอาจกระทบสิทธิ์ของผู้ใช้รถที่ถือใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพบ้าง แต่ก็เป็นไปเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถส่วนรวม ปัจจุบันคาดว่ามีผู้ถือใบขับขี่ประเภทดังกล่าวประมาณล้านใบ หลังจากยกเลิกไปเมื่อปี 2546" จิรุตม์ กล่าว

หากมองปัจจัยที่มีผลต่อการขับขี่รถยนต์แล้ว วัยที่มากขึ้นอาจมีส่วนต่อการขับขี่รถยนต์สำหรับผู้ขับขี่บางคน เนื่องสมรรถภาพอวัยวะที่จำเป็นต้องการขับขี่บางอย่างลดลง การตอบสนองช้าลง ฯลฯ ซึ่งสะท้อนจากเกณฑ์การตรวจสมรรถภาพทางร่างกายก่อนทำใบขับขี่ เช่น

สมรรถภาพดวงตาที่ลดลง การทดสอบการมองเห็นสีที่จำเป็นในการขับรถ เป็นสมรรถภาพที่จำเป็นในการขับขี่ ซึ่งผู้สูงอายุบางคนอาจมองเห็นสีเหล่านี้ผิดเพี้ยนไป เนื่องจากสุขภาพของตา การมองเห็น การมองสี และการกะระยะใกล้ไกลที่มีโอกาสคลาดเคลื่อนไปจากเดิมสูงกว่าผู้ที่อายุน้อย

การตอบสนองที่ช้าลง สำหรับบางคน อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ลดลง คิด หรือตัดสินใจช้าลง ซึ่งมีผลต่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการขับขี่อย่างทันท่วงที

โรคต่างๆ ผู้สูงอายุบางคนมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลต่อการขับขี่ ซึ่งตามกฎหมายมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ขับขี่รถยนต์อยู่แล้ว โดยผู้ที่มีโรคที่เป็นอันตรายจะสามารถดำเนินการขอรับใบอนุญาตขับรถได้ตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบก เช่น ผู้ป่วยลมชัก (เว้นแต่แพทย์ผู้ให้การรักษารับรองว่าผู้ป่วยไม่มีอาการชักเกินกว่า 2 ปี) โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการ อาการของการติดยาเสพติดให้โทษ ร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถขับรถได้ ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน วัณโรคในระยะอันตราย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ย้ำว่าการทดสอบสมรรถภาพผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพ ยังไม่มีการกำหนดมาตรการ หรือแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามที่มาของแนวคิดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการขับขี่ของประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมีความพร้อมเพียงพอ

ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อให้มีความรอบเหมาะสมในการดำเนินการต่อไป