ตรวจแนวรบไทย พร้อมแค่ไหนดึง 'ลงทุน'

ตรวจแนวรบไทย พร้อมแค่ไหนดึง 'ลงทุน'

ประเทศไทยมีระบบการค้าและเศรษฐกิจแบบเสรี มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถเห็นความชัดเจนได้มากยิ่งขึ้นเมื่อมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ภายใต้กรอบต่างๆ ซึ่งไทยได้ดำเนินการมากว่า 20 ปีแล้ว จึงเกิดคำถามว่าข้อตกลงเมื่อครั้งนั้นสามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีทั้งกรอบทวิภาคีและกรอบภูมิภาคอาเซียนกับประเทศต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงที่ไทยมีอยู่สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าในด้านต่างๆโดยพบว่า  มีการใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีถึง 76.5% ของมูลค่าที่ได้รับสิทธิ ประโยชน์ที่ใช้ส่วนใหญ่ 52.5%เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตต่อ ขณะที่ด้านการส่งออกจะเป็นกลุ่มสินค้ารถยนต์ ผลไม้สด เครื่องปรับอากาศ

จากแนวโน้มการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอชี้ให้เห็นว่าการขยายข้อตกลงทางการค้าเสรีเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากพิจารณาจำนวนเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ จะพบว่ามีเพียง 62.8%  ต่อการค้าไทยกับโลก ขณะที่ประเทศในอาเซียนมีสัดส่วนที่สูงกว่า เช่น อินโดนีเซีย สัดส่วน 76%มาเลเซีย 71.5% และเวียดนาม สัดส่วน 69.9%

ทั้งนี้ ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีที่ยังน้อยอยู่ ขณะที่ทุนใหม่ จะมีแนวทางพิจารณาตัดสินใจลงทุนจากปัจจัยว่าประเทศที่เข้าไปลงทุนมีเอฟทีเออะไรบ้าง เพื่อเป็นแต้มต่อทางการค้า นอกจากนี้ จะพิจารณาความสามารถการส่งต่อและนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต หรือ ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) ซึ่งต้องอาศัยกฎแหล่งกำเนิดสินค้า อย่างไรก็ตาม หลังการเกิดโควิด-19 ทุนใหม่ย่อมมีปัจจัยพิจารณาเพิ่มขึ้นว่าด้วย การกระจายความเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นจะไม่ทำให้ซับพลายสินค้าหยุดชะงักเหมือนกรณีโควิดที่หลังการชัดดาวน์เมืองหนึ่งแต่สินค้าในประเทศอื่นๆไม่สามารถผลิตได้ตามแผน 

“เอฟทีเอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งเสริมการลงทุน แต่การที่ไทยจะเลือกว่าจะเจรจาเอฟทีเอกับประเทศใด และเจรจาอย่างไรเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด”

159685922472

สำหรับประเด็นสำคัญที่ปรากฎในการเจรจาเอฟทีเอสมัยใหม่ ประกอบด้วย  ด้านพันธกรณีด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับยา ได้แก่ การเชื่อมโยงระบบสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำรับยา(Patent Linkage) การให้สิทธิแก่สมาชิกใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา(CL) การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร(Patent Term Extension) การผูกขาดข้อมูลทดสอบยา(Data Exclusivity) โดยประเทศหรือกลุ่มประเทศที่มักให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ เช่นCPTPP ,EU-เวียดนาม ,

ด้านการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญา UPOV 1991  ด้านการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ด้านการให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการบนหลักการเชิงพาณิชย์ ด้านการให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการบนหลักการเชิงพาณิชย์ และ ด้านการปฎิบัติตามมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศ เช่น เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง  โดยประเทศหรือกลุ่มประเทศที่มักให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ เช่น CPTPP ,USMCA(US-Mexico-Canada Agreement) 

“หัวข้อแม้จะดูยากแต่เราสามารถเจรจาเพื่อกำหนดเป็นข้อยกเว้นต่างๆได้ เช่น พรบ.จัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เราต้องดูว่ามีอะไรที่คิดว่าไทยต้องการมาเป็นข้อยกเว้น หรือเพื่อสร้างแต้มต่อการแข่งขันภายในก่อน  อย่างเรื่องบัญชีนวัตกรรม เป็นต้น”

159685926841

อรมน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ไทยมีเอฟทีเอหลายฉบับกำลังเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ เช่น ตุรกี ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางเพื่อเข้าสู่ตลาดยุโรปตะวันออก กำหนดเจรจารอบที่ 7 เดือนธ.ค.นี้ คาดว่าจะสรุปได้ภายในปี 2564 และมีผลบังคับใช้ตามขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศต่อไป 

ส่วนอฟทีเอไทย-อียู ขณะนี้กำลังให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ศึกษาผลกระทบซึ่งได้รวมเอาประเด็นปัจจัยโลกหลังโควิดเข้าไว้ด้วย เพื่อให้ผลศึกษามีความเป็นปัจจุบันสูงสุด คาดว่าจะแล้วเสร็จ ก.ย.พร้อมเผยแพร่และรับฟังความเห็นได้ 

นอกจากนี้ ยังมีเอฟทีเอกับปากีสถาน และศรีลังกาที่ใกล้ได้ข้อสรุป ด้านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป กำลังขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ส่วนประเด็นข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้ายังหารืออยู่คาดว่าจะได้ข้อสรุปส.ค.นี้ หลังจากนั้นจะได้แปลเนื้อหาเพื่อสร้างองค์ความรู้โดยรวม ผ่านการจัดสัมนาฟังความเห็นช่วงก.ย.นี้และาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต.ค.นี้ ก่อนร่วมลงนามปลายปี 2563 นี้ที่เวียดนาม 

การเจรจาการค้าย่อมมีทั้งส่วนที่ได้และส่วนที่เป็นผลกระทบเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกร รวมถึงภาคบริการ จึงมีแผนเร่งปรับกองทุนเอฟทีเอใหม่ เป็นการพัฒนาจากกองทุนเอฟทีเอเดิมที่รับงบประมาณเป็นรายปีทำให้แผนการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการค้าเสรีไม่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน ขณะกำลังเร่งดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้