การบินไทยลุย 'ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา' แจง ทร.เชื่อมั่นแผนฟื้นฟู

การบินไทยลุย 'ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา'  แจง ทร.เชื่อมั่นแผนฟื้นฟู

“การบินไทย” เดินหน้าศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา หนุนยุทธศาสตร์เพิ่มความแข็งแกร่งธุรกิจ แจงกองทัพเรือเชื่อมมั่นแผนฟื้นฟูกิจการ

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารการบินไทย นำโดยนายเชิดพันธ์ โชติคุณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง คณะทำงานจากสำนักงานโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และฝ่ายช่างการบินไทย เข้าพบ พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ รองผู้บัญชาการทหารเรือ (ทร.) ประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กองทัพเรือ

โดยมีประเด็นของการหารือในแนวทางการดำเนินการโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) จากการหารือ โดยในเบื้องต้นทางกองทัพเรือยินดีให้ความร่วมมือในการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการจอดอากาศยานรอการขายของการบินไทย ณ สนามบินอู่ตะเภา ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารของการบินไทย ได้ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี

อีกทั้ง แม้สถานะของการบินไทยจะเปลี่ยนไป แต่การบินไทยยืนยันเจตจำนงในการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาต่อไป ซึ่งกองทัพเรือไม่มีข้อขัดข้องในการก่อสร้างโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาให้แล้วเสร็จตามแผนงาน โดยขณะนี้งบประมาณปี 2563 ในส่วนของงานออกแบบและถมดิน ได้รับอนุมัติงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และงานการออกแบบอยู่ในขั้นตอนการตรวจรับแบบ

ส่วนงบประมาณปี 2564 เพื่อการก่อสร้างยังอยู่ในชั้นของคณะกรรมาธิการงบประมาณกระทรวงกลาโหม ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกองทัพเรือจะร่วมกับคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณกระทรวงกลาโหมในวันที่ 17 ส.ค.นี้

สำหรับกรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่ามีแผนต้องการเข้าร่วมทุนกับการบินไทย ในหน่วยธุรกิจนอกเหนือการบิน ซึ่งรวมถึงธุรกิจซ่อมอากาศยานนั้น ยอมรับว่ามีการหารือเกี่ยวกับการร่วมทุนดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด และยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากต้องรอให้แผนฟื้นฟูองค์กรผ่านการเห็นชอบจากศาลล้มละลาย และเจ้าหนี้ก่อน โดยศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนการขอฟื้นฟูกิจการเป็นครั้งแรกในวันที่ 17 ส.ค.นี้

นายเชิดพันธ์ กล่าวว่า การบินไทยยังคงเดินหน้าโครงการลงทุน MRO อู่ตะเภา แม้ว่าที่ผ่านมาการเจรจาร่วมกับบริษัท แอร์บัส เอกชนผู้ร่วมทุนจะไม่ได้ข้อสรุป แต่การบินไทยก็ยังมองว่าโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และมีความจำเป็นต้องพัฒนา ส่วนจะดำเนินการอย่างไรหลังจากนี้ คงต้องรอให้ผ่านการชี้แจงแผนต่อศาลล้มละลายกลาง 17 ส.ค.นี้ก่อน