กูรูจี้ ‘ซีอีโอ’ ชิงยึดพื้นที่โลกออนไลน์ ย้ำขยับตัวช้าเสียเปรียบ

กูรูจี้ ‘ซีอีโอ’ ชิงยึดพื้นที่โลกออนไลน์ ย้ำขยับตัวช้าเสียเปรียบ

“กูรู” ฟินเทค แนะ “ซีอีโอ” ต้องขยับตัวเร็วขึ้น ก่อนถูกดิจิทัลดิสรัปชั่นอีก 5-10 ปีข้างหน้า เพื่ออยู่รอดจากโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ ด้าน “บิทคับ” เปิดโมเดลนำบล็อกเชน เปลี่ยนวงการการเงิน ปั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ 2.0 แลกเปลี่ยนมูลค่าแบบไร้คนกลาง

จากเวทีงาน Digital Transformation for CEO#2 โดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งเว็บซื้อขายเงินดิจิทัล Bitkub.com หรือ บิทคับ กล่าวว่า โลกของเราทุกวันนี้กำลังไปสู่ “โลกใหม่(โลกออนไลน์)” ที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดด้วยการเข้ามาของ “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” แต่กลับพบว่า ในโลกเก่าที่กำลังเดินทางเข้าสู่โลกใหม่ วิธีคิดและวิธีการทำงานของ “ซีอีโอ” ยังเป็นแบบ “โลกเก่า (โลกออฟไลน์)” คือยังเป็นการพัฒนาแบบเดิม หรือ เติบโต 1:1

ในขณะที่ปัจจุบันดิจิทัลดิสรัปชั่นเริ่มเกิดผลกระทบแรงและเร็ว ดังนั้นจึงเกิดช่องว่างระหว่างที่จะมา “ดิสรัปชั่น” ระหว่างคนโลกเก่าที่คิดแบบเดิมๆ และยึดติดกับความสำเร็จในอดีต หรือจะเป็นโอกาสสำหรับคนที่มีวิธีคิดที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงสู่ “โลกใหม่”

จากการศึกษาของเราพบว่า หาก 30 ก้าว เป็นพัฒนาของโลกไปสู่โลกใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา 50-100 ปี โลกได้เดินทางแล้ว 25 ก้าว โดยในจำนวนนี้ มีการพัฒนาไปเพียง 3% กว่าของการพัฒนาทั้งหมดของโลกเท่านั้น แต่โลกกำลังจะเข้าสู่โลกใหม่ ในอีก 5 ก้าวสุดท้าย ซึ่งจะส่งผลกระทบมากกว่า 50-10 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นผลกระทบถึง 96.6% ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้าของโลก

ขณะที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 93% ของซีอีโอทั่วโลกรู้ถึงการเข้ามาของดิจิทัลดิสรัปชั่นแล้ว แต่มีสัดส่วนเพียง 3% ของซีอีโอทั่วโลกเท่านั้นที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และมีสัดส่วน 54% ของบริษัททั่วโลก รู้ถึงผลกระทบดังกล่าวแต่ยังหาคำตอบหรือหาทางออกยังไม่เจอ ดังนั้นในการก้าวสู่โลกใหม่ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วน 40% ของบริษัททั่วโลกหายไป ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ “ซีอีโอ”ต้องให้ความสำคัญ

“มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก บอกว่า ในเมื่อโลกเปลี่ยน 100% แต่เราเปลี่ยนแค่ 10% ถือว่าล้มเหลวแน่นอน รวมถึงยุคนี้ธุรกิจจะอยู่รอดได้ ต้องมีการบริการและบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าจริงๆ และทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้าเข้าถึงได้แค่ขยับนิ้วโป้ง นอกจากนี้ใครขยับเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ช้า จะเสียเปรียบ”

ดังนั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า “ดิจิทัลดิสรัปชั่นจะยิ่งเร็วขึ้นแน่นอน” และจะยิ่งมา “ดิสรัปชั่นซีอีโอ” เร็วขึ้น ทำให้“ซีอีโอ” ต้องขยับตัวเร็วขึ้นเพื่อให้ทันกับดิจิทัลดิสรัปชั่นเพื่ออยู่รอดจากโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ โดยสิ่งที่แพงที่สุดในยุคปัจจุบัน คือ “เวลา” เนื่องจาก ถ้าเป็นซีอีโอในยุคก่อน ใช้เวลาคิดค้น 5 ปี และมีเวลาถึง 70 ปีที่จะทำหรือถูกดิสรัปชั่น แต่ทุกวันนี้ใช้เวลาคิดค้นเหมือนเดิม 5 ปี แต่เหลือเวลาแค่ 2 ปีทำให้เกิดขึ้นจริง ตอนนี้ในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นจึงเกิด “ธุรกิจสตาร์ทอัพ” ขึ้นมาและสตาร์อัพภายใต้โมเดลธุรกิจ “ repeatable และ scalable business model” จะสามารถกลายเป็นยูนิคอร์นได้ในเวลาอันรวดเร็วและมีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น อเมซอน เฟซบุ๊ค อูเบอร์ ปัจจุบันการพัฒนายูนิคอร์นใช้เวลาน้อยที่สุดเพียง 18 เดือน ด้วยคนยุคเดิมได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตไว้หมดแล้ว และคนยุคใหม่ ต้องขยับนิ้วโป้งก็สามารถเข้าถึงคนทั่วโลกได้แล้ว

สำหรับตัวอย่างของการสร้างธุรกิจที่เติบโตก้าวกระโดด ด้วยระยะเวลาไม่นานและสามารถเข้ามาดิสรัปชั่นธุรกิจเดิมๆ ที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน เช่น การเข้ามาของบริษัทรถยนต์เทสร่า ที่กลายเป็นบริษัทรถยนต์ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ, บริษัทอาลีเพย์ ที่กลายเป็นบริษัทไฟแนนซ์ใหญ่ที่สุดในจีน รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีอย่างไมโครซอฟท์ กูเกิล อเมซอน ถ้านำมารวมกันมีมูลค่าใหญ่กว่าประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงมา 250 เท่า สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกที่ก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยี หรือคนที่เกี่ยวข้องกับด้านไฟฟ้าในสหรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่คิดบวก ซึ่งเทสร่า สามารถนำไปแนวคิดไปพัฒนาธุรกิจให้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว หรืออย่างไอโฟนมีคอมพิวเตอร์พาวเวอร์มากกว่าเครื่องยนต์ที่ส่งคนไปดาวจันทร์ ยิ่งต้นทุนการผลิตถูกลงมหาศาล ขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ทำให้สร้างเทคโนโลยีบนเทคโนโลยีได้

นายจิรายุส กล่าวต่อว่า ในส่วนของการพัฒนา “บิทคับ” นำเทคโนโลยี “บล็อกเชน” เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการการเงิน ที่สามารถแลกเปลี่ยนมูลค่าโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางด้วยการสร้าง “ตลาดหลักทรัพย์2.0” โดย “บิทคับ” ทำตัวเองเป็น “ฟินเทคคอมพานี” เป็นสะพานที่แข็งแรงเพื่อเชื่อมโยงคนโลกเก่าไปสู่โลกใหม่

ปัจจุบัน “บิทคับ” มีส่วนแบ่งการตลาด 90% ของสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย มียอดเทรด 700-1,000 ล้านบาทต่อวัน มีมูลค่าเงินไหลเข้าออก 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนบิทคอยน์สัดส่วนเกิน 50%

นายจิรายุส กล่าวด้วยว่า ล่าสุดบริษัทเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีพื้นฐานดีมีราคาอ้างอิง นักลงทุนคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 4,000 ล้านบาท รวมถึงการซื้อขายทองคำและอัญมณี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 4 

ด้านการดำเนินธุรกิจ “บิทคับ”ในปีนี้ มั่นใจว่า ทั้งรายได้และจำนวนลูกค้ายังเติบโตตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 600% จากปีก่อนเติบโต 400% โดยในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ เติบโตแล้ว 600% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีฐานลูกค้าทั้งสิ้นราว 300,000 ราย

นอกจากนี้ มองว่า อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเติบโตก้าวกระโดดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า  ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนคนเปิดกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลทั่วโลกถึง 50 ล้านกระเป๋าสตางค์ อีกในอีก 10 ปีคาดว่าจะโตอีก 50 ล้านกระเป๋าสตางค์ทั่วโลก และปัจจุบันในตลาดมี 32 เหรียญคาดว่าจะเพิ่มเป็น 70-100 เหรียญในอนาคต

อีกทั้งถึงแม้ราคาบิทคอยน์จะมีการปรับตัวลงมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับราคาที่สูงกว่าจุดต่ำสุดเดิมทุกครั้ง อย่างในช่วงโควิด-19 มีการปรับตัวลงมาต่ำสุดอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์ แต่ก็ไม่ได้ลงไปไปจุดต่ำสุดเหมือนในอดีต

ดังนั้น สินทรัพย์ดิจิทัล จึงเป็นอีกทางเลือกการลงทุนสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมให้ผู้ลงทุนทั่วไปเพื่อปลดล็อกการลงทุนแบบเดิมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด