สังเกต ‘เมฆ’ ให้เป็น รู้ทันสภาพอากาศ

สังเกต ‘เมฆ’ ให้เป็น รู้ทันสภาพอากาศ

มองขึ้นไปบนท้องฟ้า กลุ่มก้อน "เมฆ" ที่มีรูปร่างลักษณะต่างๆ นอกจากจะสวยงาม กระตุ้นจินตนาการแล้ว รู้หรือไม่ว่า "ลักษณะของเมฆ" ยังสามารถบ่งบอกลักษณะอากาศที่จะเกิดขึ้นได้ ว่าจะสดใส ปลอดโปร่ง หรือเตรียมรับความชุ่มฉ่ำจากฝนที่จะตกลงมาได้ด้วย

เพราะเรื่องของฝน ฟ้า อากาศ นับเป็นเรื่องใกล้ตัว ยิ่งรู้ล่วงหน้า เราก็จะสามารถวางแผนและเตรียมตัวได้ทัน ซึ่งวันนี้ เราสามารถเช็คพยากรณ์อากาศง่ายๆ จากหน้าจอสมาร์ทโฟน แต่ทราบหรือไม่ว่า แทนที่เราจะก้มหน้ามองสมาร์ทโฟนในมือ เรายังสามารถแหงนหน้าขึ้นฟ้า มองก้อนเมฆ แล้วทายสภาพอากาศด้วยตัวเองได้ด้วย

แต่ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจความหมายของเมฆกันให้ได้ก่อน ซึ่ง "ก้อนเมฆ" ก็คือกลุ่มของละอองน้ำขนาดเล็ก เกิดจากการควบแน่นของหยดน้ำในอากาศ และที่เราเห็นว่าก้อนเมฆเป็นสีขาวนั้น เนื่องจากหยดน้ำและผลึกน้ำแข็งที่อยู่ในเมฆชั้นสูงๆ และมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง มีพื้นผิวที่สามารถสะท้อนแสงได้ ต่างจากไอน้ำหรือน้ำบริสุทธิ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ จึงทำให้เราเห็นเป็นก้อนสีขาว หรือในบางครั้งก็มองเห็นก้อนเมฆเป็นสีเทา ซึ่งขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของหยดน้ำในก้อนเมฆนั้น

ลักษณะก้อนเมฆ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ "เมฆแบบก้อน" จะเรียกว่า เมฆคิวมูลัส (Cumulus) และ "เมฆแบบแผ่น" จะเรียกว่า เมฆสตราตัส (Stratus) ซึ่งหากเมฆทั้ง 2 แบบลอยมาติดกัน จะเรียกว่า เมฆสตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus)

และเมื่อใดก็ตามที่มี "ฝน" เข้ามาเกี่ยวข้อง ชื่อเรียกจะเพิ่มคำว่า "นิมโบ" หรือ "นิมบัส" เข้ามาด้วย โดยเป็นได้ทั้งข้างหน้าหรือข้างหลังของลักษณะก้อนเมฆ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้า "ฝนตกปรอยๆ" เมฆจะเป็นลักษณะเมฆแผ่น เรียกว่า เมฆนิมโบสตราตัส แต่เมื่อเกิด "ฝนฟ้าคะนอง" เรียกว่า เมฆคิวมูโลนิมบัส

ทั้งนี้เมฆสามารถแบ่งประเภทได้ตามระดับความสูง ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 
1. กลุ่มเมฆชั้นต่ำ ระดับความสูงของฐานเมฆต่ำกว่า 2,000 เมตร หรือ 6,500 ฟุต
2. 
เมฆชั้นกลาง
ระดับความสูงของฐานเมฆอยู่ที่ 2,000-6,000 เมตร หรือ 6,500-25,000 ฟุต
3. 
เมฆชั้นสูง
ระดับความสูงของฐานเมฆตั้งแต่ 6,000 เมตรขึ้นไป หรือ 20,000 ฟุตขึ้นไป

เมฆทั้งสามกลุ่ม แยกย่อยดังนี้

  • เมฆชั้นสูง

1.เมฆเซอรัส หรือซีร์รัส (Cirrus) หากเห็นเมฆประเภทนี้บ่งบอกได้เลยว่าวันนั้นลักษณะอากาศดี  โดยลักษณะเป็นเส้นใยละเอียดสีขาว คล้ายปุยขนสัตว์หรือเหลือมเป็นมันเงา เกิดขึ้นเป็นหย่อมหรือแถบก็ได้ แต่จะไม่มีเงาเมฆ เมฆชนิดนี้อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์วงแสงรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ แต่ยังไม่เต็มวง

159679107957

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

2.เมฆเซอโรคิวมูลัส หรือซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) เมฆลักษณะนี้ก็บ่งบอกลักษณะอากาศดีเช่นกัน ลักษณะเป็นหย่อม แผ่น หรือชั้นบางๆ สีขาว คล้ายเมฆก้อนเล็กๆ มีทั้งที่อยู่คิดกันและแยกกันเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ เมฆชนิดนี้อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์วงแสงรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ทรงกลด และปรากฏการณ์แถบสี หรือรุ้ง

159679118219

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

3.เมฆเซอโรสเตรตัส หรือซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) เมฆลักษณะนี้ไม่ทำให้เกิดน้ำฟ้า มีลักษณะโปร่งแสงคล้ายม่านบางๆ สีขาว หรือปุยขนสัตว์ สามารถมองเห็นขอบดวงอาทิตย์ผ่านเมฆนี้ได้อย่างชัดเจน ไม่มีเงาเมฆ และทำให้เกิดปรากฏการณ์วงแสงรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ทรงกลด

159679126928

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

  • เมฆชั้นกลาง

1.อัลโตคิวมูลัส (Altocumulus) เมฆนี้ไม่ทำให้เกิดน้ำฟ้า บ่งบอกว่าลักษณะอากาศดี โดยเฉพาะหลังพายุฝน มีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ เป็นหย่อม แผ่น หรือชั้น คล้ายเกล็ด ก้อนกลมหรือม้วน มีทั้งสีเทาหรือทั้งสองสี บางครั้งอาจเห็นคล้ายปุยหรือฝ้า ซึ่งประกอบด้วยละอองน้ำจำนวนมาก มักทำให้เกิดปรากฏการณ์วงแสงรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ทรงกลด

159679133223

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

2.อัลโตสเตรตัส (Altostratus) เมื่อเห็นเมฆชนิดนี้อาจทำให้เกิดฝน หิมะ หรือลูกปรายน้ำแข็ง โดยจะมีลักษณะเป็นปุย แผ่น หรือเนื้อเดียวกัน พบได้ทั้งสีเทาหรือสีฟ้าอ่อน อาจทำให้เมื่อมองดวงอาทิตย์จะเห็นได้แบบสลัวๆ เหมือนมองผ่านกระจกฝ้า

159679138213

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

3.นิมโบสเตรตัส (Nimbostratus) เมฆแผ่นสีเทา เมื่อสังเกตเห็นเมฆชนิดนี้ มักจะเกิดฝนพรำ ระยะเวลาราว 2-3 ชั่วโมง ฝนตกแต่แดดออก หรือทำให้เห็นสายฝนที่ตกลงมาจากฐานเมฆ แต่ยังไม่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลักษณะจะเป็นเมฆสีเทา ซึ่งจะทำให้ท้องฟ้าดูสลัว เนื่องจากมีความหนาที่ทำให้บังดวงอาทิตย์ได้

159679178625

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

  • เมฆชั้นต่ำ

1.เมฆสเตรตัส หรือสตราตัส (Stratus) เมฆชนิดนี้มักเกิดขึ้นช่วงเช้า หรือหลังฝนตก และอาจทำให้เกิดฝนละอองขึ้นได้ ลักษณะเป็นแผ่นบาง สีเทา ลอยเหนือพื้นไม่มากนัก เช่น เมฆปกคลุมยอดเขา เป็นต้น

159679143569

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

2.เมฆสเตรโตคิวมูลัส หรือสตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus) ทำให้เกิดฝนตกเล็กน้อย มักเกิดขึ้นในเวลาที่อากาศไม่ดี ลักษณะเป็นก้อนลอยติดกันเป็นแพ ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจน มีช่องว่างระหว่างก้อนเล็กน้อย สีเทาหรือค่อนข้างขาว แต่ก็มีส่วนที่มืดครึ้มอยู่ด้วย และอาจทำให้เห็นปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ทรงกลดได้เช่นกัน และปรากฏการณ์แถบสี หรือรุ้ง

159679148354

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

3.เมฆคิวมูลัส (Cumulus) เมฆชนิดนี้มี 2 ลักษณะ หากอยู่เป็นก้อนเดี่ยวๆ ลักษณะปุกปุย ก่อต่อในแนวตั้ง สีขาว  ส่วนฐานเมฆจะมีสีเทา มีความหนาที่สามารถบดบังแวงจากดวงอาทิตย์ได้ หากเห็นลักษณะนี้แสดงว่าอากาศดี ประกอบกับท้องฟ้ามีสีฟ้าเข้ม แต่เมื่อเริ่มจับตัวเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้นมา จะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ทรงกลดและรุ้งได้

159679154998

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

4.เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) หรือเมฆฝนฟ้าคะนอง ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง หรือมีลูกเห็บ เป็นเมฆที่มีขนาดใหญ่มาก ก้อนใหญ่ หนาทึบ ก่อตัวเป็นแนวตั้งขึ้นไปสูงมาก ฐานเมฆจะมืดครั้มมาก ปกคลุมพื้นที่ครอบคลุมได้ทั้งจังหวัด

159679161584

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

ที่มา : lesa.bizipst, cmmet.tmd