สดร.แจงเสียงดังสนั่น อาจเกิดจากดาวตกขนาดใหญ่

สดร.แจงเสียงดังสนั่น อาจเกิดจากดาวตกขนาดใหญ่

นักดาราศาสตร์ชี้แจงเสียงดังสนั่น ช่วงเย็นวันที่ 6 สิงหาคม อาจเกิดจากดาวตกขนาดใหญ่พุ่งผ่านท้องฟ้าด้วยความเร็วสูง เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งในไทยและทั่วโลก ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)   กล่าวว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ในช่วงเย็นวันที่ 6 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. มีประชาชนจำนวนหนึ่งได้ยินเสียงดังสนั่นบริเวณพื้นที่ เขตสายไหม แจ้งวัฒนะ พระราม 2 ในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงบริเวณ อ.ปากเกร็ด จ. นนทบุรี และหลายพื้นที่ใน จ.ปทุมธานี รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน มีผู้บันทึกภาพกลุ่มควันพาดผ่านบนท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ได้ และไม่มีรายงานผลกระทบใด ๆ ต่อชีวิตและทรัพย์สิน 

159678245699

จากหลักฐานที่รวบรวมได้ เบื้องต้นคาดว่า อาจเกิดจากดาวตกขนาดใหญ่ พุ่งผ่านท้องฟ้าด้วยความเร็วสูง (เร็วกว่าเสียง) ทำให้เกิดเสียงดังสนั่นสามารถได้ยินได้ในหลายพื้นที่ และเกิดแรงสั่นสะเทือนที่สามารถรับรู้ได้ บางแห่งได้รับแรงกระแทกจนหน้าต่างสั่นไหว อย่างไรก็ตามหากมีข้อมูล ภาพ หรือคลิปเหตุการณ์ก็จะมีข้อมูลมากเพียงพอที่จะหาข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนกว่านี้

กรณีนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี นนทบุรี ฯลฯ และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ สำหรับการระเบิดเหนือท้องฟ้าในลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง แต่มีเพียงเหตุการณ์เดียวเมื่อปี 2556 ที่เมืองเชลยาบินสค์ ประเทศรัสเซีย ที่มีรายงานผลกระทบรุนแรงจากอุกกาบาตยักษ์พุ่งเข้าสู่โลกและระเบิดเหนือฟ้า สร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด

159678247938

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามปกติแล้วจะมีอุกกาบาตขนาดเล็กหลุดเข้ามาในบรรยากาศของโลกเป็นประจำ โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แต่หากวัตถุมีขนาดใหญ่และมีมวลรวมหลายตัน เมื่อเข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูง จึงเกิดการระเบิดเหนือพื้นโลก มีแสงสว่างวาบและมีเสียงระเบิดตามมาเป็นระลอกในภายหลัง และถึงแม้ว่าจะมีโครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกของ NASA และหลายหน่วยงานที่คอยติดตามวัตถุในลักษณะเช่นนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจจับวัตถุที่มีขนาดเล็กๆ ที่อาจมีวงโคจรที่ผ่านเข้าใกล้โลกได้ทั้งหมด เนื่องจากมีความสว่างน้อย และมีจำนวนมากนับล้านวัตถุ

วัตถุที่สามารถทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มีหลายชนิด เช่น ดาวเคราะห์น้อยที่มักโคจรมาใกล้โลก เศษซากดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานและถูกปล่อยทิ้งไว้ในวงโคจร อาจถูกแรงดึงดูดของโลกดึงกลับมาในชั้นบรรยากาศก็เป็นได้ เหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องปกติ สามารถอธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องกังวลและตื่นตระหนกไป เนื่องจากโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก

159678250567

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีโครงการเฝ้าระวังวัตถุจากนอกโลก ดำเนินการโดย สดร. ร่วมกับกองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร เฝ้าสังเกตการณ์วัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 100 เมตร ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ปกติแล้วนักดาราศาสตร์จะตรวจสอบล่วงหน้าและสามารถติดตามวัตถุที่มีขนาดใหญ่ได้เกือบทั้งหมด ส่วนวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่า 100 เมตรนั้น ตรวจสอบได้ยากมาก และหากวัตถุขนาดเล็กพุ่งชนโลก ก็จะเกิดการเสียดสีในชั้นบรรยากาศ อาจเกิดการระเบิด เผาไหม้หมดไปบนท้องฟ้า หรืออาจเหลือเพียงเศษอุกกาบาตขนาดเล็กตกลงมา ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ///