กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ EU เกาถูกที่คัน?

กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ EU เกาถูกที่คัน?

จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ EU บรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ แต่ลำพังการใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพียงอย่างเดียว จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนได้โดยง่ายจริงหรือ?

ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ผู้นำ 27 ชาติอียู ในการบรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (recovery funds) วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร เมื่อเร็วๆ นี้ นับเป็นอีกหนึ่งความหวังสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจโลกให้พ้นผ่านจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้

กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ EU เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงมีผลในเชิงจิตวิทยาต่อการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐว่าน่าจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร นักลงทุนจึงเทขายดอลลาร์แล้วหันไปลงทุนถือทองคำและเงินตราสกุลอื่นกันมากขึ้นแทน ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงจากการถือเงินดอลลาร์ ซึ่งก็มีผลทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวผันผวนในทิศทางที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ราคาทองคำก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเป็นระยะๆ อยู่แล้ว โดยมีสาเหตุหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินโลกเมื่อปี 2008 ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็ส่งผลให้ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศต้องหันมาใช้นโยบายคิวอีเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกันอีกครั้ง

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ได้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% ตามเดิม และจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่เพื่อเพิ่มการจ้างงานและรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยให้สัญญาณว่าจะขยายเวลาสำหรับข้อตกลงการทำสว็อปดอลลาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารกลางทั่วโลก

รวมทั้งใช้มาตรการซื้อคืนพันธบัตรไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2564 ซึ่งสัญญาณการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเช่นนี้ ย่อมจะส่งผลให้นักลงทุนสนใจลงทุนในตลาดหุ้นและถือทองคำเพื่อหวังจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

มีนักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่าความสำเร็จของข้อตกลงเรื่องกองทุนฟื้นฟู EU นี้จะส่งผลทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทยได้ประโยชน์ด้วย เพราะผู้ผลิตเหล่าจะสามารถส่งออกได้มากขึ้นเนื่องจากประชากรของสหภาพยุโรปจะมีกำลังซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของ EU ก่อนหน้านี้ที่ต้องการจะมุ่งลดมลพิษทางอากาศด้วย

ดังนั้น ความสำเร็จของข้อตกลงการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (recovery funds) ของอียูก็จะส่งผลดีมาถึงเศรษฐกิจไทยด้วย เราจึงควรเอาใจช่วยให้แผนดังกล่าวสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติยุโรปจากผลกระทบของโควิด-19 ได้

หากพิจารณาในรายละเอียดของกองทุนนี้เพิ่มเติม ก็จะพบว่าเม็ดเงินกองทุนฟื้นฟูจะประกอบด้วย เงินกู้และเงินให้เปล่า โดยเงินกู้นั้นคาดว่าจะชำระคืนได้จากรายได้ภาษีที่เก็บได้ในอนาคต โดยคณะกรรมาธิการยุโรปจะทำการกู้ยืมเงินจากตลาดทุน ด้วยการออกตราสารหนี้แล้วนำไปจัดสรรปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับบรรดาประเทศที่จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับในส่วนของเงินให้เปล่านั้นก็จะได้มาจากบรรดาประเทศหลักๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ก และเยอรมนี โดยคำนวณจากวงเงินที่ประเทศเหล่านี้จ่ายสนับสนุนให้กับสหภาพยุโรปในแต่ละปี และตามขนาดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยจะมีการเบิกจ่ายเงินให้กับประเทศต่างๆ ที่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเศรษฐกิจแบบดิจิทัล

คงจะไม่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป หากจะเกิดความสงสัยขึ้นมาบ้างว่า ลำพังการใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพียงอย่างเดียวนั้น จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนได้โดยง่ายจริงหรือ เพราะกลุ่มประเทศสมาชิกอียูที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มประเทศยุโรปทางตอนใต้ที่มีปัญหาเศรษฐกิจเดิมมาก่อนแล้ว เช่น สเปนและอิตาลี เป็นต้น

ซึ่งประเทศทางตอนใต้เหล่านี้เคยได้ประโยชน์จากการไหลเข้าของเงินทุนจำนวนมากในช่วงแรกของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มยูโรโซน ซึ่งทำให้มีการขยายตัวของภาคธุรกิจการผลิตที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันเพราะสินค้ามีราคาแพงกว่าคู่แข่ง

ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008 ประเทศเหล่านี้ก็เริ่มประสบกับปัญหาเงินทุนไหลออกและปัญหาหนี้เสียอันเป็นผลมาจากฟองสบู่ยูโรแตก ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 ประเทศเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้นลำพังแค่เงินช่วยเหลือและเงินกู้ที่ได้จากประเทศสมาชิกอียูที่อยู่ทางตอนเหนือของยุโรป จึงไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้จริง หากประเทศที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านั้น ยังไม่ยอมแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งก็คือการขาดประสิทธิภาพของภาคผลิตจริงให้ได้ผลกว่าที่ผ่านมา

ตัวอย่างกรณีศึกษาเหล่านี้จึงนับเป็นตัวอย่างของบทเรียนที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลไทยด้วย หากได้นำมาพิจารณาเพื่อประกอบการอนุมัติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้งบประมาณจำนวน แสนล้านบาทที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้เราสามารถตอบโจทย์คำถามที่สำคัญได้อย่างมั่นใจขึ้นว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณเหล่านี้ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ตรงจุดตรงประเด็นหรือไม่อย่างไร