'บอส' รอดคดี... ใคร(ควร)โดน?

'บอส' รอดคดี... ใคร(ควร)โดน?

กลายเป็นแรงเหวี่ยงกลับไปสู่องค์กรอัยการอย่าง “สำนักงานอัยการสูงสุด” เมื่อ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) ทำบันทึกข้อความถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เกี่ยวกับคดีที่ร้อนแรงที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

นั่นก็คือคดี “บอสรอดทุกข้อหา”

บันทึกข้อความฉบับนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า การรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากฝั่ง นายบอสวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจตาย จนนำไปสู่การสั่งสอบเพิ่ม และ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องทุกข้อหานั้น เป็นการกระทำที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากถอดรหัสเนื้อหา 6 ข้อที่ประธาน ก.อ. ทำบันทึกถึงอัยการสูงสุด สรุปง่ายๆ ได้ดังนี้

  1. คดีนายบอส เคยถูกสั่งฟ้องไปแล้ว โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และแม้จะมีการยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาอีก แต่อัยการสูงสุดในยุคนั้น คือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร สั่งยุติเรื่องไปหมดแล้ว ฉะนั้นคดีนี้ “คำสั่งฟ้อง” ที่เคยมีคำสั่งไปแล้วจึงเสร็จเด็ดขาดสมบูรณ์
  2. นายเนตร นาคสุข ซึ่งขณะพิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรมครั้งใหม่ ดำรงตำแหน่งเพียงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูง รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด จึงไม่มีอำนาจรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมใหม่ได้ เพราะถ้าจะรับพิจารณาใหม่ ต้องเป็นคำสั่งของอัยการสูงสุดเท่านั้น
  3. การสั่งพนักงานสอบสวนสอบพยานเพิ่มเติมของนายเนตร ตลอดจนคำสั่งไม่ฟ้องจนทำให้ “บอสรอดทุกข้อหา” จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด อีกทั้งไม่สามารถ “กลับคำสั่งฟ้องเดิมได้”

นี่คือสาระสำคัญที่สรุปถอดรหัสจากเนื้อหา 6 ข้อตามบันทึกของประธาน ก.อ. ซึ่งยังมีข้อสังเกตต่อเนื่องที่น่าพิจารณาต่อไปเพื่อความชัดเจนก็คือ

  1. คำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข เป็นโมฆะใช่หรือไม่
  2. นายเนตร นาคสุข ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนด้วยหรือไม่
  3. ฝ่ายตำรวจที่รับคำสั่งจากนายเนตร นาคสุข และสอบสวนเพิ่มเติม กระทั่งสรุปเป็นสำนวนการสอบสวนใหม่ส่งกลับไป ต้องรับผิดชอบอย่างไร
  4. พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ซึ่งไม่ได้ทำความเห็นแย้งในคดีนี้ จนทำให้ “บอสรอดทุกข้อหา” ต้องรับผิดชอบอะไรบ้างหรือไม่

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตำรวจก็คือ ตำรวจไม่รู้หรือว่า นายเนตร นาคสุข ไม่มีอำนาจสั่งสอบเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่าไม่รู้จริงๆ ก็คงจะไม่ผิดอะไร แต่การไม่ทำความเห็นแย้งในคดีของผู้ช่วย ผบ.ตร. มีปัญหาว่า ถูกต้องเหมาะสมตามหลักการหรือไม่ 

เนื่องจากสำนวนคดีนี้เป็นสำนวนที่ตำรวจมีความเห็น “สมควรสั่งฟ้อง” แม้ต่อมาจะมีการสั่งสอบเพิ่มจากฝ่ายอัยการก็ตาม แต่ฝ่ายตำรวจก็ควรท้วงติง และสุดท้ายก็ต้องทำความเห็นแย้งด้วยหรือไม่ เนื่องจากขัดกับสำนวนเดิมของตนอย่างชัดแจ้ง

ที่สำคัญ มีหลักฐานล่าสุดเป็นเอกสารเมื่อปี 2561 จากอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ตอบกลับไปยังคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชุดที่มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน) ที่รับเรื่องขอความเป็นธรรมจากฝั่งนายบอส ยืนยันว่า คดีนี้อัยการสูงสุดสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว เพราะพยานหลักฐานใหม่ที่อ้าง โดยเฉพาะการตรวจวิเคราะห์ความเร็วรถจาก ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม เป็นหลักฐานที่เคยใช้ยื่นขอความเป็นธรรมมาก่อนหน้านั้น ซึ่งได้พิจารณาไปหมดแล้ว และสั่งยุติเรื่องไปแล้วโดยอัยการสูงสุด

เรื่องนี้ เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมได้ไม่จบสิ้น ก็จะทำให้ผู้ต้องหาที่มีอำนาจเงินและบารมี สามารถใช้กลไกต่าง ๆ ในการร้องขอความเป็นธรรมได้ตลอดเวลา ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงอาจต้องการเตะถ่วงคดีให้ขาดอายุความก็เป็นได้ โดยไม่ได้ต้องการร้องขอความเป็นธรรมจริง ๆ อีกทั้งพยานหลักฐานต่างๆ ในฝ่ายผู้ต้องหา หากคิดว่ามีน้ำหนักมากพอ ก็สามารถนำไปใช้ต่อสู้ในศาลได้อีกถึง 3 ศาล

มีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ อัยการสูงสุดคนที่สั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรมของนายบอส คือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการการกฎหมายฯ สนช.ชุดที่รับพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากฝั่งนายบอสด้วย ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สมควรต้องรู้ว่าไม่สามารถรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากนายบอสได้อีก

ทั้งหมดนี้ จะทำให้สังคมคิดได้หรือไม่ว่า มีการดำเนินการให้บอสรอดทุกข้อหา “อย่างเป็นกระบวนการ” โดยมีตัวละครที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

- กรรมาธิการการกฎหมายฯ สนช. บางส่วน รับเรื่องขอความเป็นธรรม ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องรับ

- นายเนตร นาคสุข รับพิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่อัยการสูงสุดสั่งยุติเรื่องไปแล้ว

- นายเนตร นาคสุข สั่งตำรวจสอบสวนเพิ่ม ทั้งที่ไม่มีอำนาจ เพราะอัยการสูงสุดยังไม่ได้สั่ง

- ฝ่ายตำรวจสอบสวนเพิ่มจากคำสั่งที่ไม่มีอำนาจ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

- นายเนตร นาคสุข มีคำสั่งไม่ฟ้องบอสทุกข้อหา ทั้งที่ไม่มีผลลบล้างคำสั่งฟ้องเดิม

- พล.ต.ท.เพิ่มพูน ไม่ทำความเห็นแย้ง ทั้งที่ขัดกับสำนวนการสอบสวนเดิม ที่ตำรวจทำไว้เอง

เป็นคำถามที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสมควรออกมาชี้แจงให้เกิดความชัดเจน !

อดีตบิ๊กตุลาการ ฟันธงใครผิดปล่อย บอสรอดทุกข้อหา

ท่ามกลางกระแสความสับสนของสังคมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของอัยการในการสั่งคดี เพราะฝ่ายหนึ่งก็อ้างว่าการสั่งคดีใหม่เป็น ไม่ฟ้องทับคำสั่งเก่าที่ สั่งฟ้องไปแล้ว เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ขณะที่อีกฝ่าย นำโดย นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธาน ก.อ. กลับมองว่าเป็นการสั่งคดีโดยมิชอบ และไม่มีผลลบล้างคำสั่งเดิม

ในบรรยากาศฝุ่นตลบนี้ มีความเห็นของ นายสุรินทร์ นาควิเชียร อดีตรองประธานศาลฎีกา ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับเรื่องความซื่อตรง ได้แสดงทัศนะเอาไว้ในไลน์กลุ่มนักกฎหมายกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นนักกฎหมายชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

“กรุงเทพธุรกิจ” เห็นว่าเป็นความเห็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก จึงขออนุญาตนักกฎหมายชั้นผู้ใหญ่ในกลุ่มไลน์ นำเนื้อหามาเผยแพร่

"ขณะนี้สังคมวุ่นวายเกี่ยวกับคดี"บอส" ผมเห็นเป็นการส่วนตัวในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่งว่า สังคมต้องเรียกร้องความยุติธรรมคืนมา...

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีอาญาแผ่นดินเมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้องแล้ว คดีนั้นพนักงานอัยการจะต้องนำตัวผู้ต้องหาฟ้องศาลสถานเดียว พนักงานอัยการท่านอื่น แม้แต่อัยการสูงสุดจะกลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ขืนกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยความเป็นอิสระของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี เมื่อฟ้องศาลแล้ว พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์จะถอนฟ้องก็ค่อยว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

การมีคำสั่งไม่ฟ้องของรองอัยการสูงสุดทับคำสั่งฟ้องเดิมของพนักงานอัยการผู้สั่งฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ชอบที่พนักงานอัยการจะต้องนำตัวนายบอสส่งฟ้องศาลต่อไป มิฉะนั้น สังคมจะสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายทางสื่อต่างๆ อยู่ในขณะนี้"