ลั่นคดีบอส 'ไม่โอเค' ชี้ท้าทายระบบยุติธรรม

ลั่นคดีบอส 'ไม่โอเค' ชี้ท้าทายระบบยุติธรรม

นายกฯ ชี้ “คดีบอส” ท้าทายระบบยุติธรรม-กฎหมาย ลั่น “ไม่โอเค-ทุกปมสงสัยต้องชัดเจน" พร้อมดำเนินการหลังเห็นข้อสรุป “คกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริง” ด้าน “อรรถพล” ประธานก.อ. ไล่บี้อัยการแจงปมตั้งทีมสอบดุลพินิจ “เนตร นาคสุข” จ่อถามกลางวงประชุม ก.อ. 18 ส.ค.นี้

ความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีไม่สั่งฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอสอยู่วิทยา วานนี้(6ส.ค.)พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมกล่าวระหว่าง

ปาฐกถาพิเศษของเนื่องในงานครบรอบ74ปีหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์หัวข้อ“พลิกฟื้นประเทศไทย:ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง”ว่า เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ กรณีนี้แสดงให้เราเห็นได้ชัดเจนถึงความสำคัญของสื่อที่มีต่อสังคมไทยและนั่นคือเหตุผลที่ตนเชื่อว่าในประเทศไทยสื่อต้องมีความเป็นอิสระและมีความแข็งแรงเรื่องนี้ท้าทายระบบยุติธรรมและระบบกฎหมายและกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนมีต่อระบบรัฐทั้งหมด

“ผมจึงขอแสดงจุดยืนของผมในเรื่องบอสกระทิงแดงว่าผมไม่โอเคกับหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนผมต้องการให้มีความโปร่งใสผมจะผลักดันและผมจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดผมพร้อมที่จะดำเนินการหลังจากเห็นข้อสรุปของคณะกรรมการที่ผมตั้งขึ้นซึ่งมีความเป็นอิสระและประกอบไปด้วยผู้ที่เป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งในเรื่องความรู้และความเป็นกลาง”นายกฯกล่าว

ส่วนนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) กล่าวถึงเรื่องขั้นตอนการดำเนินการสอบวินัยข้าราชการอัยการว่า ขั้นแรกคือขั้นตอนการสอบสวนชั้นต้นเพื่อ ดูว่ามีการกระทำความผิดวินัยหรือไม่ โดยในการสอบสวนวินัยอัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดสามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้เลย และเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวสอบสวนวินัยได้ประการใดแล้วขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งมาที่สำนักงานคณะกรรมการอัยกา ถ้าผลออกมาไม่ได้กระทำความผิดก็จะต้องสั่งยุติเรื่องไป แต่ถ้าผลสอบออกมาว่ามีการกระทำความผิดวินัยจริงแต่ไม่ร้ายแรงก็จะเสนอก.อ.เพื่อพิจารณา

หากอสส.เห็นว่า เป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงอสส.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรงเองไม่ได้จะต้องส่งให้คณะกรรมการอัยการเป็นคนตั้งกรรมการสอบสวนเอง ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่าขณะนี้อสส.ตั้งกรรมการสอบสวนชั้นต้นเเล้วหรือไม่

“อรรถพล” จ่อบี้ถามปมตั้งทีมสอบ“เนตร”

ทั้งนี้ตนจะถามในที่ประชุม ก.อ.วันที่ 18 ส.ค.นี้ว่าผลเป็นอย่างไรมีการตั้งกรรมการสอบสวนเบื้องต้นที่จะสอบสวนวินัยหรือไม่ เพราะคณะทำงานสอบสวนที่ได้ตั้งขึ้น 7คนเเละได้เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ไม่ได้รับมอบอำนาจในการสอบเรื่องนี้ จึงต้องเปลี่ยนคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวขึ้นเเต่คณะทำงานเป็นใครขึ้นกับ อสส.พิจารณา

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับดุลพินิจของ นายเนตร นาคสุข รองอสส. ซึ่งมีอาวุโสสูงรองจากอสส. คุณสมบัติกรรมการที่จะสอบสวนต้องมีคุณสมบัติต้องไม่ต่ำกว่ารองอสส.ผู้ถูกสอบ ซึ่งรอง อสส.คนอื่นอีก 7 คน สามารถเป็นประธานคณะทำงานได้ หรืออัยการสูงสุดสามารถมานั่งเป็นประธานเองก็ได้ ส่วนกรรมการสามารถมีอาวุโสต่ำกว่าได้

ขณะที่อำนาจหน้าที่ของ ก.อ.ในเรื่องนี้ว่า มีอำนาจหน้าที่ที่จะตั้งอนุกรรมการหรือคณะบุคคลให้มาดำเนินการอย่างไรก็ได้โดยเฉพาะเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา30(4) เเต่ก.อ.จะตั้งหรือไม่ ตนขอดูข้อเท็จจริงก่อน เพราะ อสส.อาจจะมีการตั้งกรรมการสอบเบื้องต้นอย่างที่กล่าวมาเเล้ว

ส่วนข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจของนายเนตรที่การอ้างว่าสั่งในฐานะทำการเเทนอสส.จะมีผลเหมือนอสส.สั่งเองเเละมีผลเป็นคำสั่งไม่ฟ้องคดีเก็นว่า การที่นายเนตร ได้รับการแบ่งงานจากอสส.ให้ดูแลงานเรื่องการรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมเเล้วได้สั่งการในฐานะรองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมาย หรือปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดไม่ถือว่ามีอำนาจคดีนี้จะเป็นการสั่งในสถานะใดตนไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่จากข่าวที่ปรากฎออกมานั้นไม่ได้บอกว่านายเนตร สั่งในฐานะรักษาราชการเเทน ตนจึงได้ทำหนังสือเรียนอัยการสูงสุดเพื่อขอทราบเรื่องดังกล่าว

เรื่องนี้แม้มีคำสั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมแต่คำสั่งคดียังอยู่ เรื่องนี้จะออกมาฟันธงไม่ได้วันนี้อัยการสูงสุดก็ได้มีการสั่งตั้งคณะทำงานเพื่อมาตรวจสอบในเรื่องนี้แล้ว ย้ำว่าประเด็นร้องขอความเป็นธรรมก็เรื่องหนึ่งเรื่องสั่งคดีก็เรื่องหนึ่ง

ชี้อำนาจ“เนตร”ยึดตามสมัย“คณิต”

ขณะที่นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรีคณะกรรมการตรวจสอบคดี กล่าวว่า ความเห็นของนายอรรถพลเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวจะไปบอกว่าฝันธงแล้วไม่ได้ ทั้งนี้การร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาเป็นการดำเนินการตามป.วิอาญา มาตรา 134 วรรคท้าย แม้เรื่องนี้เคยมีการสั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมแต่หากมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็สั่งดำเนินการเป็นรายกรณีได้

คณะทำงานได้ตรวจสอบรายละเอียดแล้วเกี่ยวกับขั้นตอนการร้องขอความเป็นธรรมประเด็นการมอบหมายให้รองอัยการสูงสุดปฎิบัติหน้าที่นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยนายคณิต ณ นคร เป็นอสส.ซึ่งสั่งไม่ฟ้องคดีสอบสปก.ภูเก็ต แต่ฝ่ายการเมืองไม่พอใจคำสั่ง ทำให้นายคณิตต้อง ออกระเบียบขึ้นมาใหม่เพราะเมื่ออสส.มีคำสั่งแล้วไม่สามารถตรวจสอบได้อีก เพราะถือเป็นคำสั่งที่เด็ดขาดจึงมีการกระจายอำนาจไปยังรองอสส.ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการแทนไม่ใช่รักษาราชการแทน

ยันคำสั่งไม่ฟ้องชอบด้วยกฎหมาย

ยืนยันว่าคำสั่งของนายเนตร นาคสุขรองอัยการสูงสุดเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่คำถามที่สังคมสงสัยในขณะนี้คือนายเนตรใช้ดุลยพินิจอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ประธานกอ.ก็ต้องไปดูจะมาชี้คนเดียวได้อย่างไร

“เรื่องนี้แม้มีคำสั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมแต่คำสั่งคดียังอยู่ เรื่องนี้จะออกมาฟันธงไม่ได้วันนี้อัยการสูงสุดก็ได้มีการสั่งตั้งคณะทำงานเพื่อมาตรวจสอบในเรื่องนี้แล้ว ย้ำว่าประเด็นร้องขอความเป็นธรรมก็เรื่องหนึ่งเรื่องสั่งคดีก็เรื่องหนึ่ง” นายปรเมศวร์กล่าว

ส่วนนายธานี วรภัทร์ คณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบอัยการ แถลงข่าวกรณีคณะทำงานตรวจสอบอัยการภายใต้กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานซึ่งได้เชิญนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอสส.เข้าให้ถ้อยคำในวันที่6ส.ค.ว่า ล่าสุดนายประยุทธได้แจ้งมาว่าไม่สามารถเข้าให้ข้อมูลได้เนื่องจากติดภารกิจและขอเลื่อนการให้ข้อมูลเป็นวันอาทิตย์ที่9ส.ค.นี้เวลา13.00น.ดังนั้นคณะทำงานจึงเลื่อนการประชุมในวันดังกล่าว

จี้สภาวิศวกรฟัน“สายประสิทธิ์”

วันเดียวกันนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า กรณีที่นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ดำเนินการตรวจสอบและให้ความเห็นประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของรถยนต์ของนายวรยุทธ ได้ความเร็วของรถยนต์76.175กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งให้อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนั้น

จากการตรวจสอบเว็บไซต์สภาวิศวกรพบว่านายสายประสิทธิ์ มีสถานภาพใบอนุญาต“ไม่มี” ซึ่งกรณีสมาชิกภาพขาดต่ออายุจะส่งผลให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลงทันทีตามมาตรา49แห่งพ.ร.บ.วิศวกร2542 ดังนั้นที่ให้ความเห็นทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมถือว่า การให้ความเห็นดังกล่าวเป็นโมฆะและถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.วิศวกร2542มาตรา45อันมีความผิดตามมาตรา71มีโทษจำคุกไม่เกิน3ปีปรับไม่เกิน6หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกทั้งยังอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อบังคับสภาวิศวกรว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรมและการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ2543และ2559อีกด้วย ดังนั้นสมาคมจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกสภาวิศวกรให้ใช้อำนาจตามมาตรา33ประกอบมาตรา34(1)ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายสายประสิทธิ์ต่อไป.