‘อีทราน-แคร์เนชั่น’ ปฏิวัติสังคมผ่านการให้

‘อีทราน-แคร์เนชั่น’ ปฏิวัติสังคมผ่านการให้

“สตาร์ทอัพสายยั่งยืน” ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจจักรยานยนต์ไฟฟ้า “อีทราน” และ พวงหรีดกระดาษ “แคร์เนชั่น” เผยมุมมองการทำธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภครุ่นใหม่ตลอดจนการคมนาคมของประเทศ

สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของธุรกิจจักรยานยนต์ไฟฟ้า “อีทราน” (ETRAN) และ พวงหรีดแบรนด์ “แคร์เนชั่น (Carenation)” สะท้อนมุมมองผู้บริหารรุ่นใหม่ในการเอาชนะความท้าทายและเรียนรู้โจทย์ยาก ผ่านช่องทางออนไลน์ในรายการ New Normal Talk EP.2 หัวข้อ “สตาร์ทอัพสายยั่งยืนก็เกิดได้” เมื่อนิวนอร์มอลไม่ได้มีแค่ธุรกิจ แต่ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม

‘อีวีมอไซค์’ ทางออกสู่ความยั่งยืน

สรณัญช์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เกิดจากไอเดียเมื่อ 5 ปีก่อน จากประสบการณ์การใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ต้องเผชิญฝุ่นควันและมลพิษแถมยังเสี่ยงอุบัติเหตุได้ง่าย จึงมีความคิดที่จะแก้ไขปัญหาผ่านโมเดล “รถสาธารณะ” เพื่อตอบโจทย์การคมนาคมของประเทศ

159672350596

คอนเซ็ปต์อีทรานรุ่นแรกจะเป็นจักรยานยนต์ 2 ที่นั่ง ซึ่งเบาะนั่งแยกจากกันระหว่างคนขับกับคนซ้อน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ซ้อน อีกทั้งเป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีเครื่องยนต์และถังน้ำมัน จึงเอื้อต่อการดีไซน์และผลิตตัวต้นแบบด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ จากนั้นใส่แบตเตอรี่แล้วทดลองใช้งานเพียง 15 นาที แล้วนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงเพิ่มเติม พร้อมด้วยเดินหน้าหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอย่างจริงจัง”

นอกจากการพัฒนาตัวสินค้าแล้ว แผนธุรกิจของอีทรานยังครอบคลุมถึงการจัดทำสถานีชาร์จแบตฯ ให้ครอบคลุมสถานที่ต่างๆ รองรับรถอีทรานทุกรุ่นตลอดจนรถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อีกทั้งสามารถชาร์จกับระบบไฟบ้านได้อีกด้วย

พร้อมกันนี้ บริษัทร่วมสร้างมาตรฐานการชาร์จ กับ ปตท.และพาร์ทเนอร์อย่างโรเบิร์ต บ๊อช (BOSCH) ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทอย่างมากในการผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่อ และมีศูนย์บริการทั่วประเทศ จึงตอบโจทย์ด้านการชาร์จเป็นอย่างดี สำหรับการบริการหลังการขายจะเป็นรูปแบบ Onsite Service ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอด 24 ชั่วโมง

สองล้อไฟฟ้าพันธุ์ไทย

ส่วนของความยั่งยืน (Sustainability) ถือว่าเป็นหัวใจของธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต อีทรานร่วมกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล รีไซเคิลขยะพลาสติกจากทะเลให้เป็นเม็ดพลาสติกแล้วนำกลับมาใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบ อีกทั้งเลือกใช้ไบโอพลาสติกด้วย เนื่องจากชิ้นส่วนของรถที่แตกนั้น ไม่สามารถซ่อมได้เหมือนตัวถังรถยนต์ ทำให้เกิดขยะจำนวนมาก และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5-10 ปี

“ตอกย้ำการเป็นองค์กรที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ พลังงานสะอาด การใช้วัสดุ พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”

ทางด้านหัวใจของยานยนต์ไฟฟ้าคือ แบตเตอรี่ซึ่งคิดเป็น 50% ของต้นทุนการผลิต สรณัญช์ ได้พลิกมุมคิดโดยใส่แบตเตอรี่ให้น้อยที่สุดเพียง 15% แล้วหันไปให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน จึงทำให้สามารถสู้กับราคารถที่ใช้น้ำมันได้ โดยระดับราคาของอีทรานประมาณ 7 หมื่นบาท มีกลุ่มลูกค้ากว่า 4 พันราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโลจิสติกส์และบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

159672370089


ขณะที่กลุ่มเป้าหมายแรกที่วางไว้คือ “วินมอเตอร์ไซค์” ที่ต้องรับภาระต้นทุนค่าน้ำมันสูงมาก จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 400 ราย พบว่า แต่ละเดือนต้องจ่ายค่าน้ำมันประมาณ10% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งถือว่ามากสำหรับผู้ที่มีอาชีพรับจ้าง

จากข้อมูลดังกล่าวจึงวางบิซิเนสโมเดลในอนาคตจะเป็น “แชริ่งอีโคโนมี” เพื่อให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างสามารถเช่าไปใช้ทำมาหากินได้ จะส่งผลให้มีรายได้มากขึ้น และที่สำคัญคือ ก๊าซโลกร้อนอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลงด้วย จึงถือได้ว่าอีทรานเป็นแบรนด์จักรยานยนต์ไฟฟ้ารายแรกที่มีโมเดลในลักษณะการให้เช่า

ขณะนี้ถือเป็นระยะสุดท้ายของการวิจัยและพัฒนา เพื่อที่จะให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ 100% อาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 6 เดือน และคาดว่าในปี 2564 จะเห็น “อีทราน” วิ่งอยู่บนถนนอย่างแน่นอน ทั้งนี้เมื่อโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยานยนต์ไฟฟ้าแทบทุกแบรนด์ปรับเป้าลง แต่กระนั้นในปีหน้าคาดว่ายอดการสั่งซื้อจะกลับมาทะยานดังเดิม และจะเห็นการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าของไทยเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”

พวงหรีดสะพานบุญ

นอกจากจักรยานยนต์รักษ์โลกแล้ว สรณัญช์ยังมีธุรกิจที่เป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนและสร้างสุขแก่สังคม หลังจากมองเห็นขยะที่เกิดจาก “พวงหรีด” มีทั้งดอกไม้สด โฟมและโอเอซิสซึ่งเป็นไมโครพลาสติก ตลอดจนการกำจัดด้วยการเผาซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน

จากปัญหาเหล่านี้นำมาซึ่งกิจการเพื่อสังคม “แคร์เนชั่น (Carenation)” ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนผลิตพวงหรีดจากกระดาษรีไซเคิล โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะถูกส่งต่อให้สังคม

159672372449

“ผมใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการออกแบบพวงหรีดให้สามารถประกอบได้ง่าย เพื่อให้เด็ก คนชราและผู้ด้อยโอกาส สามารถประกอบได้ เพื่อช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ส่วนกระดาษที่ใช้มีทั้งกระดาษรีไซเคิลและกระดาษจากป่าปลูก ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รีไซเคิลได้ 100% ทั้งยังส่งต่อเรื่องราวดีๆ ออกไปสู่สังคมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ”

สิ่งที่น่าสนใจคือ 20-30% ของรายได้จะบริจาคให้กับองค์กรการกุศล 13 แห่ง ลูกค้าสามารถเลือกได้จากหน้าเว็บไซต์ ถือเป็นกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกพวงหรีดที่โดนใจและบริจาคได้ตรงตามความต้องการ อาทิ มูลนิธิกระจกเงา องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ กลุ่มลูกเหรียง เป็นต้น ทุกยอดบริจาคจะบริจาคในชื่อลูกค้าและจัดส่งใบอนุโมทนาบัตรที่ออกโดยองค์กรการกุศลนั้นๆ ให้ลูกค้านำไปลดหย่อนภาษีได้

สมดุล “ธุรกิจ-สังคม”

ทั้งนี้ ในยุคนิวนอร์มอล “กิจการเพื่อสังคม” นับเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตเร็วและเป็นที่น่าจับตา เพราะการที่รวมใจคนได้ คนไทยมักให้ความสนใจเสมอ ฉะนั้นโ อกาสที่เห็นจะไม่เหมือนสมัยก่อน

159672375011

การทำธุรกิจกับคนไม่ใช่แค่ “ตัวสินค้าและตัวบุคคล” อีกต่อไป แต่จะต้องมีมูลค่าทางจิตใจบางอย่างที่ต้องตอบโจทย์ คำนึงถึงหลายปัจจัยซึ่งไม่ใช่เพียงแค่รายได้เท่านั้น แต่จะต้องทำให้ธุรกิจกลายเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ “ชุมชน” ด้วยเช่นกัน และสิ่งที่สำคัญคือ “คุณค่าทางสังคม” ที่กิจการนั้นๆ สร้างขึ้น ซึ่งไม่ใช่ป้ายราคา หรือโฆษณา หากแต่มองลึกลงไปถึงจริยธรรม ความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง

“ในประเทศไทยกิจการเพื่อสังคมยังมีน้อย หากเทียบกับสิงคโปร์ที่มีเป็นหลายร้อยบริษัท ดังนั้น เริ่มแรกสตาร์ทอัพสายยั่งยืนจะต้องรู้สึกอินกับสิ่งที่ทำ พร้อมทั้งศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลกว่า เทรนด์โลกให้ความสำคัญในด้านใด เพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างตรงจุด” สรณัญช์ กล่าวทิ้งท้าย