โปรดเกล้าฯ รมต.ใหม่ - นายกฯมั่นใจจีดีพีไทยปีนี้ติดลบไม่ถึง 10%

โปรดเกล้าฯ รมต.ใหม่ - นายกฯมั่นใจจีดีพีไทยปีนี้ติดลบไม่ถึง 10%

พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี 7 ราย ”สุพัฒนพงษ์“ รองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน "ปรีดี" รมว.คลัง ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อทุกอย่างจะเรียบร้อย ยันจีดีพีติดลบไม่ถึง 10% ขณะที่เอกชนแนะเพิ่มการกระตุ้นศก.-แก้ว่างงาน

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ 6 สิงหาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 นั้น

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า ได้มีรัฐมนตรีลาออกบางตำแหน่ง สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างและเพิ่มเติมบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรองนายกรัฐมนตรี อีกตำแหน่งหนึ่ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนายปรีดี ดาวฉาย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปประกาศ ณ วันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2563 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบันผู้รับสนองพระบรมราชโองการพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยทั้งหมดและไม่เกิดปัญหาอะไร

มั่นใจจีดีพีไทยปีนี้ติดลบไม่ถึง 10%

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ไปปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลิกฟื้นประเทศไทย : ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง” จัดโดยหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า ปี 2563เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19ทำให้รัฐบาลต้องสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจในประเทศเร็วที่สุด เชื่อว่าจีดีพีไทยจะติดลบไม่ถึง 10% ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเศรษฐกิจบางประเทศจะติดลบถึง 20-30%

หากการท่องเที่ยวไทยฟื้นมากขึ้นจะทำให้จีดีพีติดลบลดลง และการที่เศรษฐกิจไทยติดลบน้อยกว่าประเทศอื่นเพราะรับมือการระบาดได้ดี และมีพื้นฐานเศรษฐกิจเข้มแข็ง มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งมีเงินดอลลาร์เข้ามาใช้จ่ายในประเทศมาก แต่อาจทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างระมัดระวัง และอาจต้องมีมาตรการทางการเงินเพิ่ม

ในขณะที่การส่งออกต้องหาตลาดทดแทนตลาดเดิม และใช้จุดเด่นสินค้าที่เรามีความได้เปรียบอย่างสาธารณสุข เครื่องมือแพทย์ สินค้าเกษตรเพื่อสร้างโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจในประเทศ เพิ่มการจ้างงาน การช่วยเหลือเอสเอ็มอี

ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนต้องจับตาหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้เพื่อการบริโภคสูงถึง 40% ส่วนอีก 60%เป็นหนี้จากการซื้อรถ ที่อยู่อาศัยและหนี้เพื่อการสร้างอาชีพ ส่วนนี้ต้องดูว่าจะช่วยเหลือลดภาระประชาชนได้อย่างไร รวมถึงการจัดการหนี้เดิมเช่นการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย การขยายเวลาชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน

ส่วนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม4 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะเป็นแรงส่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภายหลังการระบาดเริ่มคลี่คลาย รวมถึงรองรับการดำเนินวิถีชีวิตเข้าสู่วิถีปกติใหม่ (New Normal)

แนะเพิ่มกระตุ้น ศก.-แก้ว่างงาน

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รายชื่อรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจคนใหม่ทั้งนายสุพัฒนพงษ์ และนายปรีดี เป็นผู้ที่คุ้นเคยในการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมจึงรับรู้ปัญหาด้านเศรษฐกิจมาเป็นอย่างดี ทั้งนี้ กกร.รวมถึงสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ตั้งคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรวบรวมข้อเสนอไปหารือรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจคนใหม่เพื่อฟื้นฟูผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยวและซัพพลายเชน

“รัฐบาลควรมีมาตรการใหม่เพิ่มเติมรวมทั้งยืดเวลามาตรการเดิม เช่น การเพิ่มกระแสเงินสด การยืดการพักชำระหนี้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการ”

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าว รัฐมนตรีเศรษฐกิจคนใหม่เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชน รวมทั้งหอการค้าไทยเคยร่วมงานกับนายสุพัฒนพงษ์ และนายปรีดี ส่วนนายดอน ก็เป็นผู้ที่รู้จักในภาคเอกชนเป็นอย่างดีเช่นกันและมีความสามารถ โดยภาคเอกชนพร้อมร่วมทำงานเพื่อแก้ปัญหาฟื้นเศรษฐกิจ

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่าต้องให้เร่งช่วยเอสเอ็มอีที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งการเข้าถึงซอฟต์โลนมีปัญหาจึงเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบต่อลมหายใจให้เอสเอ็มอีก่อนเดือน ต.ค.นี้ ที่มาตรการผ่อนผันการชำระหนี้หมดลง

ในขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจมีข้อเสนอ ดังนี้เร่งการสร้างงานผ่านโครงการรัฐเพื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดกว่างงานลงได้ รวมทั้งต้องการให้ต่อมาตรการพักชำระหนี้และมาตรการช่วยเหลือคนว่างงาน

หอต่างชาติชง3ข้อเสนอฟื้น

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า นักธุรกิจต่างชาติรอดูนโยบายรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจไทยมีความท้าทายมาก เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและโควิด-19 โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจก็อาศัยเอสเอ็มอี แต่ขณะนี้ทั้ง 3 ส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้นจึงมีข้อเสนอ 3 ประเด็น ดังนี้

1.ด้านการส่งออกโดยเฉพาะปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่กระทบการส่งออกซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ต้องหารือกัน

2.ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งไทยอาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ดังนั้นการพึ่งนักท่องเที่ยวไทยเพียงอย่างเดียวไม่พอ แต่หากจะเปิดประเทศยังกังวลการติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาอีกครั้ง เพราะขณะนี้ต่างประเทศก็มีการแพร่ระบาดอยู่ ดังนั้นารเปิดประเทศเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาจะต้องรอบคอบและมีมาตรการควบคุมป้องกันเป็นอย่างดี

3.เอสเอ็มอี ทีมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จะมีมาตรการช่วยเหลือย่างไรรวมทั้งการแก้ปัญหาการว่างานด้วย

ตลท.ชี้ทีมศก.ใหม่ช่วยฟื้นเชื่อมั่น

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงการแต่งตั้ง รัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีใหม่ ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ทำให้ความไม่ชัดเจนว่าใครจะมาดำรงตำแหน่ง มีความชัดเจนขึ้น และผู้ที่มาดำรงตำแหน่ง ก็มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะช่วยสร้างความชัดเจนมั่นใจ ว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารต่อไปได้

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากดูหน้าตาทีมเศรษฐกิจในปัจจุบัน เชื่อว่าโดยภาพรวมรับได้ เพราะคนที่เข้ามาร่วมทีมเศรษฐกิจใหม่ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งในแวดวงเอกชนชั้นนำ ที่มีความรู้ความสามารถหลากหลาย แต่ก็ต้องติดตาม ว่าเมื่อเปลี่ยนบทบาท ไปทำงานด้านงานราชการ การเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ทีมเศรษฐกิจใหม่เข้ามาในจังหวะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว จากที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่โจทย์ใหญ่หลังจากนี้ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว เพราะหากปล่อยไว้เฉยๆ จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า จากผลกระทบส่งออก และท่องเที่ยว ที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนด้านต่างประเทศหายไป ประกอบกับภาคการเกษตร เอสเอ็มอีอ่อนแอมานาน ดังนั้นปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เป็นโจทย์ใหญ่ของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่ต้องเข้ามาแก้

มั่นใจทีมศก.ใหม่ฟื้นเชื่อมั่นได้

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หากมองที่ตัวบุคคลทีมเศรษฐกิจ เชื่อว่าสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากเอกชนเพราะบุคคลเหล่านี้ อยู่ในแวดวงธุรกิจมานาน ดังนั้นน่าจะเข้าใจโจทย์ ปัญหาอุปสรรคของภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี ดังนั้นตลาดรอดูว่าหลังจากนี้ ทีมเศรษฐกิจจะมีมาตรการ การแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างไร ซึ่งหากนโยบายต่างๆชัดเจน เชื่อว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ชัดเจนมากขึ้น

“โจทย์เร่งด่วน ที่เป็นปัญหาระยะสั้น ที่ทีมนี้ต้องเจอ และต้องแก้ คือ การระบาดรอบสองในหลายประเทศ ทำให้การการเปิดการท่องเที่ยว อาจต้องพิจารณา และดำเนินอย่างระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้นมองว่าเศรษฐกิจไทยยังถูกผลกระทบ”

ด้านนายมนตรีโสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสาหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า มีการควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหลายตำแหน่งซึ่งถือว่าค่อนข้างแปลกและไม่ค่อยตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขาดคนที่มีบารมีและประสานหน่วยงานเศรษฐกิจและพรรคร่วม

“นายกรัฐมนตรีควรประเมินการทำงานของ ครม.ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หากยังไม่เห็นการฟื้นเศรษฐกิจหรือสร้างความเชื่อมั่นได้ก็ต้องปรับ ครม.อีกครั้ง” นายมนตรีกล่าว