'ฟู้ดสตาร์' ห่วงกำลังซื้อรากหญ้า ทุบ! ตลาดน้ำผลไม้อีโคโนมี

'ฟู้ดสตาร์' ห่วงกำลังซื้อรากหญ้า ทุบ! ตลาดน้ำผลไม้อีโคโนมี

ตลาดน้ำผลไม้อีโคโนมี และซูเปอร์อีโคโนมี หรือตลาดล่าง อาจเผชิญโจทย์ยาก เมื่อกำลังซื้อผู้บริโภค "ฐานราก" กำลังลำบาก รายได้หด จะเป็นปัจจัยซ้ำเติมตลาดหรือไม่ต้องจับตา เพราะอีกมิติ "ฟู้ดสตาร์" ยังหวังเป็นโอกาส ให้คนซื้อสินค้าราคาเหมาะสมยิ่งขึ้น

หากจะโฟกัสกลุ่มผู้บริโภคที่เข้าข่ายมีปัญหาทางการเงิน ขาดสภาพคล่องมากสุดในปีนี้ หนีไม่พ้นกลุ่มประชากรฐานรากหรือคำคุ้น รากหญ้า เพราะพิษโควิดเล่นงานฐานะทางการเงินส่วนบุคคลอย่างหนัก จนรัฐต้องคลอดมาตรการช่วยเหลือ มีเงินเยียวยา 5,000 บาท อุ้มประชาชนเป็นเวลา 3 เดือน

ทว่า แม้เม็ดเงินช่วยเหลือจะครบกำหนดแล้ว ปัญหาการว่างงาน ตกงาน ก็ยังคงซ้ำเติมรายได้ของประชาชนต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของผู้บริโภคยังมีโอกาสปรับตัวขึ้น

จันทรา    พงศ์ศรี  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดสตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดค้าขายเครื่องดื่มน้ำผลไม้ 20% แบรนด์ดีโด้ น้ำผลไม้ 20% ผสมโยเกิร์ต แบรนด์ ดีโด้ มิกกุ และอีกหลากหลายรายการ ซึ่งล้วนอยู่ในเซ็กเมนต์อีโคโนมี และซูเปอร์อีโคโนมี มองสถานการณ์กำลังซื้อรากหญ้าหดหายว่า ถือเป็นเรื่องน่าห่วงแม้อำนาจซื้อดังกล่าว จะทำให้มองได้ 2 มิติ ต่อการค้าขายสินค้าของบริษัท ที่เป็นได้ทั้ง โอกาส” และ อุปสรรค” ก็ตาม

ในมุมโอกาส จันทรา มองว่า หากผู้บริโภคกำลังซื้อลดน้อยถอยลง ย่อมมองหาสินค้าราคาเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งฟู้ดสตาร์ มีสินค้าตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว แต่ใช่ว่าบริษัทจะประมาทกับสถานการณ์ เพราะยังต้องจับตาดูไตรมาส 3 และ 4 อย่างใกล้ชิด ถึงผลกระทบรายได้ที่หายไปจะทำให้ตลาดน้ำผลไม้ราคาประหยัดกระเทือนมากน้อยแค่ใด

ขณะที่อุปสรรคต้องยอมรับว่า เมื่อผู้บริโภคขาดรายได้ หรือเงินที่มีในกระเป๋าเริ่มร่อยหรอ นั่นหมายถึง ไม่มีเงินจะจับจ่ายใช้สอย หากเป็นเช่นนั้น สินค้าจะราคาประหยัดหรือราคาสูงต่ำเพียงใด ผู้บริโภคก็ไม่สามารถซื้อสินค้าและบริการได้

มีความเป็นไปได้ว่าปีนี้ตลาดน้ำผลไม้ระดับอีโคโนมีจะกลับมา เพราะสภาพคล่องในตลาดน้อยลง ผู้บริโภคจะใช้เงินอย่างระมัดระวัง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ยิ่งระดับรากหญ้าน่าจะเห็นการใช้จ่ายฝืดเคือง เวลาซื้อสินค้าจะเลือกมากขึ้น ตลาดอีโคโนมีเซ็กเมนต์น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ส่วนคนที่ยังมีกำลังซื้อดี จะซื้อสินค้าเซ็กเมนต์พรีเมียมไปเลย แยกกันชัดเจน ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นหลายปีแล้ว”  

นอกจากนี้ ปัจจัยที่กระทบกำลังซื้อประชาชน คือนักท่องเที่ยวหายเพราะโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวที่เสียหายอย่างหนัก ผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจ(ซัพพลายเชน)ขาดรายได้ การเลือกซื้อสินค้าจึงมองความคุ้มค่ายิ่งขึ้น

สำหรับแผนการทำตลาดในครึ่งปีหลัง บริษัทจะออกสินค้าใหม่ตอบกระแสผู้บริโภค “รักสุขภาพ” มากขึ้น ซึ่งจะเป็นวิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New normal รวมถึงสินค้าเจาะกลุ่มเป้าหมายเด็ก และสินค้านวัตกรรมที่เน้นคุณประโยชน์ ความคุ้มค่า

ส่วนการทำตลาดจะให้ความสำคัญกับดิจิทัล ควบคู่กับกิจกรรม พื้นที่ และการโฆษณา เพราะสินค้าบริษัทเจาะกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง(Mass)

เรามุ่งทำตลาดออนไลน์มากขึ้น แต่กิจกรรม Below the line ยังต้องมีอยู่ ซึ่งเวลานี้เป็นจังหวะดีในการสื่อสารการตลาดเข้าถึง ผลักดันให้แบรนด์อยู่ในใจผู้บริโภค เราไม่ถอยในการสร้างแบรนด์

แม้เศรษฐกิจ กำลังซื้อ และวิกฤติโควิดยังคงอยู่ แต่บริษัทยังเดินหน้าลงทุน 300 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพและเสริมไลน์การผลิตสินค้าน้ำผลไม้ดีโด้

 “การลงทุนขยายเครื่องจักร ถือเป็นการปรับต้นทุนให้มีประสิทธิภาพด้วย เพราะช่วยลดการสุญเสียจากกระบวยการผลิต เครื่องจักรที่ทันสมัยทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

สำหรับภาพรวมตลาดน้ำผลไม้มีมูลค่าหลัก หมื่นล้านบาท” โดยเซ็กเมนต์อีโคโนมี และซูเปอร์อีโคโนมี มูลค่าราว 4,000-5,000 ล้านบาท ครึ่งปีแรกตลาดรวมเชิงมูลค่าติดลบ 13% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเชิงปริมาณติดลบ 8.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดีโด้ยอดขายเชิงมูลค่าเติบโต 7.3% และเชิงปริมาณเติบโต 5.5% ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดเชิงมูลค่าเพิ่มเป็น 27% จาก 23% และเชิงปริมาณ 33.5% จาก 30% เป็น "ผู้นำตลาด"

ส่วนยอดขายทั้งปี บริษัทคาดหวังให้การเติบโตทรงตัวเท่าปีก่อนที่ 3,800 ล้านบาท จากเป้าเดิมต้องการแตะ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากช่วงโควิดได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ และการขนส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนราว 30%

โควิดเป็นวิกฤติกระทบทุกคน แต่ท่ามกลางวิกฤติมีโอกาส เพราะดีโด้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ช่วงล็อกดาวน์ เราให้ทีมขายล็อกดาวน์อยู่ในพื้นที่เพื่อบริการลูกค้า และเรายังโชคดีที่เป็นสินค้าบริโภค ทำให้ยังกระจายและขายสินค้าตอบสนองผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นห่วงคือกำลังซื้อรากหญ้า เพราะหากกลุ่มนี้มีปัญหา เราก็อาจมีปัญหาเช่นกัน