ไทยกำลัง 'เงินฝืด' จริงหรือไม่ ทำไมต้องกังวลเรื่องนี้

ไทยกำลัง 'เงินฝืด' จริงหรือไม่ ทำไมต้องกังวลเรื่องนี้

เช็คลิสต์ 4 ข้อ ไขข้อข้องใจ ประเทศไทยเข้าสู่ "ภาวะเงินฝืด" จริงหรือไม่ และหากภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นแล้ว เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ช่วงวิกฤติ "โควิด-19" อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว กลับยิ่งลดต่ำกว่าเดิมหรือบ้างติดลบ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนที่ลดลงมาก โดยเฉพาะจากมาตรการปิดเมืองในแต่ละประเทศ ผนวกกับราคาพลังงานที่ปรับลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่เส้นทางของ "ภาวะเงินฝืด" เข้าแล้ว

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปทำความรู้จักกับภาวะ "เงินฝืด" ที่กำลังเป็นข้อกังวลในตอนนี้ พร้อมไขข้อสงสัยว่า ณ เวลานี้ ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือยัง และหากภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นแล้ว เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

 เงินฝืดคืออะไร ทำไมต้องระวัง? 

"เงินฝืด" (Deflation) คือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการต่างๆ ที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการซื้อ (Demand) สินค้าของคนในประเทศ ตรงข้ามกับ "เงินเฟ้อ" ซึ่งเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยสาเหตุของเงินฝืด โดยทั่วไปเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ซื้อลดลง ไม่กล้าใช้จ่ายเงิน เนื่องจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง รวมไปถึงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไม่เพียงพอ เช่น เงินตราไหลออกนอกประเทศมากเกินไป เป็นต้น

โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้อธิบายถึง สภาวะทางเศรษฐกิจของไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า "ยังไม่ใช่สัญญาณของภาวะเงินฝืด" โดยประเมินจากการเช็คลิสต์ เงื่อนไขของปัจจัยที่ทำให้ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. ราคาสินค้าและบริการโดยรวมปรับลดลงต่อเนื่อง
2. ราคาสินค้าและบริการปรับลดลงกระจายไปเกือบทุกประเภทสินค้า
3. เงินเฟ้อคาดการณ์ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน
4. เศรษฐกิจและการจ้างงานชะลอลงยาวนาน

จาก 4 ปัจจัยข้างต้นพบว่า "สภาวะเศรษฐกิจไทย" ในปัจจุบัน สรุปได้ว่า "ไทยยังไม่เข้าสู่สภาวะเงินฝืด" เพราะปัจจัยที่บ่งชี้ถึงภาวะเงินฝืดไม่เข้าข่ายถึง 3 ใน 4 ข้อ ดังนี้

159671875187

1. ไม่เข้าข่ายราคาสินค้าและบริการโดยรวมปรับลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดชี้ว่า ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปีที่ 63 ที่ -1.7% มาอยู่ที่ 0.9% ในปี 64 

159671749352

2. ไม่เข้าข่ายราคาสินค้าและบริการปรับลดลงกระจายไปเกือบทุกประเภทสินค้า เนื่องจากข้อมูลล่าสุดชี้ว่า 70% ของสินค้าและบริการ มีราคาคงที่หรือเพิ่มขึ้น มีบางประเภทเท่านั้นที่ราคาลดลง

3. ไม่เข้าข่ายเงินเฟ้อคาดการณ์ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน เนื่องจากคาดการณ์เงินเฟ้อ (5 ปีข้างหน้า) อยู่ที่ 1.8% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% 

ส่วนปัจจัย 4. ยังต้องติดตาม คือ เศรษฐกิจและการจ้างงานชะลอลงยาวนาน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยหดตัวและผู้ว่างงาน เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากโควิด-19 แต่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งต้องติดตามความเสี่ยงในระยะต่อไป 

 ถ้าเงินฝืด จะเกิดอะไรขึ้น 

  • ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต 

ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าเพื่อที่จะทำให้ขายได้ และลดการผลิตลง เพราะหากผลิตออกมาเท่าเดิมก็ขายได้ไม่หมด ผลที่ตามมาคือ การจ้างงานและการซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว

  • ประชาชน 

อัตราการว่างงานสูงขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนขายสินค้าและบริการได้น้อย จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตทำให้ไม่เกิดการจ้างงานเพิ่ม แต่บางกิจการอาจมีผลกระทบมากจนต้องลดกำลังการผลิตเพื่อรักษากิจการให้สามารถอยู่รอดได้ในภาวะเงินฝืด จึงจะต้องลดพนักงานทำให้ประชาชนตกงานเพิ่มขึ้น

  • ระบบเศรษฐกิจโดยรวม

หากราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าและบริการของประชาชนลดลง คนก็จะลดการจับจ่ายใช้สอย เมื่อคนไม่ซื้อสินค้ากันมากๆ ผู้ผลิตก็ขายสินค้าไม่ได้ เป็นวงจรวนไปไม่รู้จบ ท้ายที่สุดก็จะกระทบกับภาคการผลิตและการจ้างงาน ทําให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในที่สุด ดังนั้น ภาวะเงินฝืดจึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์สําหรับระบบเศรษฐกิจ

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธปท. ธนาคารแห่งประเทศไทย