ทุจริตงบฯ 'บัตรทอง' 2 ล็อตเกือบ100ล้านบาท

ทุจริตงบฯ 'บัตรทอง' 2 ล็อตเกือบ100ล้านบาท

ตรวจสอบทุจริตงบฯบัตรทองแล้ว2ล็อต มูลค่าเสียหายเกือบ 100 ล้านบาท เผยคลินิกสมรู้ร่วมคิดห้องแล็ปทำความผิด ออกใบแล็ปผี-ผลแล็ปปลอม ไม่พบประชาชนใช้บริการ-แก้ไขข้อมูล-สวมสิทธิ์ประชาชน ส่งเรื่องดีเอสไอ เดินหน้าเรียกเงินคืน-แจ้งความดำเนินคดีทั้งหมด

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในการแถลงข่าว “ความคืบหน้าการเร่งดำเนินการเอาผิดกับหน่วยบริการทุจริตเงินบัตรทอง” นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ สปสช. กล่าวว่า จากที่คณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ได้เห็นเอกสารและหลักฐานการเบิกจ่ายค่าบริการเท็จ ทั้งในส่วนของคลินิก 18 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 2 แห่ง รวม 20 แห่งเป็นล็อตแรกที่ สปสช. ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว

และที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมล็อตที่ 2 อีกรวม 66 แห่งในพื้นที่กทม. เป็นคลินิกเอกชน 63 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 3 แห่ง มั่นใจว่าจะเอาผิดได้แน่นอน เพราะในรายละเอียดพบการปลอมแปลงแก้ไขข้อมูลจำนวนมาก เพื่อให้เข้าเกณฑ์การตรวจคัดกรองและเบิกจ่ายค่าบริการ โดยตรวจสอบพบจากความสูงของผู้ป่วยที่ลงระบบ โดยปีนี้กลับมีส่วนสูงลดลงจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และมีการตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ อีกก็พบการปลอมแปลง ถือเป็นข้อมูลเพียงพอที่จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอดำเนินการต่อจนถึงที่สุด

“คลินิกมีการสมรู้ร่วมคิดกับห้องแล็ปในการทำความผิดด้วยกัน ซึ่งพบว่าเป็นใบแล็ปผี ผลแล็ปปลอม ไม่พบประชาชนเข้าใช้บริการ หรือเข้าใช้บริการแต่มีการแก้ไขข้อมูล ถือเป็นการทำลายระบบสุขภาพ ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสุขภาพ ทำลายวิชาชีพ และเป็นการทำลายอนาคตสุขภาพของคนเกือบๆ 2 แสนคนที่ถูกอ้างชื่อ ที่สำคัญคนเหล่านี้สูญเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการที่จำเป็น เพราะเมื่อถูกอ้างชื่อไปแล้ว แต่หากต่อมาคนเหล่านั้นป่วย เป็นเบาหวาน ความดันแล้วไปรักษา ระบบจะขึ้นว่ามีการรักษาไปแล้ว เสียโอกาสทันที จึงจะต้องเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้”นายนิมิตร์กล่าว

ด้านนพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายบริการคัดกรองโรคทั้งหมดของหน่วยบริการทั้งคลินิกเอกชนและคลินิกทันตกรรมล็อต 2 จำนวน 66 แห่งนั้น สปสช.ได้ระดมทีมผู้ตรวจสอบทั้งจากส่วนกลางและพื้นที่จากต่างจังหวัดเข้ามา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ สปสช. รวมประมาณ 300 คน โดย สปสช.ได้อายัดเอกสารจากคลินิกเอกชนทั้ง 63 แห่ง เมื่อวันที่ 20-24 ก.ค. 63 ได้เอกสารมากกว่า 5 แสนฉบับ กำหนดระยะเวลาตรวจไว้ถึงวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ขณะนี้ตรวจไปแล้วเกือบ 160,000 ฉบับ 

พบเอกสารไม่น่าเชื่อถือประมาณ 80,000 ฉบับ ซึ่งพบว่าเป็นการตกแต่งข้อมูลเป็นเท็จ มีการสวมสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งสปสช.ได้รวบรวมเพื่อส่งหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีกับทางกองบังคับการปราบปรามและดีเอสไอแล้ว ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ โดยมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 34 ล้านบาท ต้องเรียกเก็บเงินคืนทั้งหมด และดำเนินคดีทางกฎหมาย นอกจากนี้ กำลังเดินหน้าตรวจสอบในส่วนของ กทม. มีคลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 180 แห่ง และคลินิกทันตกรรมประมาณ 100 แห่งด้วย

“ผู้ถูกสวมสิทธิ์สามารถไปใช้สิทธิ์ได้เหมือนเดิม โดยสปสช.จะทำเว็บไซต์เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบ ได้จัดทำระบบพิสูจน์ตัวตนออนไลน์แล้ว เริ่มเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนต้องขอรหัสเบิกจ่ายเพื่อใช้กับหน่วยบริการก่อนเข้ารับบริการ และหน่วยบริการต้องมีรหัสนี้ในการส่งเบิก ในอนาคตจะมีการทำระบบเชื่อมโยงกับบัตรสมาร์ทการ์ด เพื่อเชื่อมโยงกับระบบพิสูจน์ตัวตนในการรับบริการที่หน่วยบริการ” นพ.การุณย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับงบประมาณที่ให้แก่คลินิกในการตรวจสุขภาพเมตาบอลิก มีมูลค่ารวม 250 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบคลินิกล็อกแรก 20 แห่ง มีมูลค่าความเสียหาย 60 ล้านบาท และล็อต 2 คลินิกจำนวน 66 แห่ง 34 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหาย 94 ล้านบาท