ห่วง 4 กลุ่มเสี่ยง ลุยคัดกรองสุขภาพจิตทั่วประเทศ ลดฆ่าตัวตาย

ห่วง 4 กลุ่มเสี่ยง ลุยคัดกรองสุขภาพจิตทั่วประเทศ ลดฆ่าตัวตาย

สธ.ดีเดย์ 17 ส.ค.นี้ ส่งทีมเอ็มแคท คัดกรองสุขภาพจิตคนไทยทั่วประเทศ เน้น 4 กลุ่มเสี่ยงหลัก คนตกงาน-มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ-โรคประจำตัวเดิม-ผู้ให้บริการทางการแพทย์ หลังเผชิญสถานการณ์โรคโควิด-19 หวังช่วยเหลือดูแลทัน ลดจำนวนคนฆ่าตัวตายจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ


เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 19 ประจำปี 2563 "สุขภาพจิต โควิด-19" ว่า ในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 จะมีการจัดงานคิกออฟให้ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) หรือเอ็มแคทที่กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการประเมิน คัดกรองสุขภาพจิตประชาชน ว่ามีความเครียดมากน้อยแค่ไหน ซึมเศร้าหรือไม่ ไปถึงขั้นหมดไฟ และมีแนวโน้มตะฆ่าตัวตายหรือไม่ ถ้ามีอาการเข้าข่าย ก็จะนำเข้าสู่การรักษาต่อไป สำหรับการจัดกลุ่มเสี่ยงขึ้นกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งรู้ข้อมูลในพื้นที่ว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่หลักๆ จะเป็น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากๆ ร้านอาหาร คนตกงาน เป็นต้น


“การคิกออฟครั้งนี้จะเป็นการคัดกรองทั้งประเทศภายหลัง 3 เดือนที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดขึ้นและเป็นช่วงที่เงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจครบกำหนดการช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่างๆมีความเครียเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายก็เพื่อจะได้ลดจำนวนคนที่ฆ่าตัวตาย”นายสาธิตกล่าว


นายสาธิต กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจฯก็ได้มีการลงพื้นที่คัดกรองสุขภาพจิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง ช่วงแรกของการระบาดโรคโควิด-19จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเครียดสูง แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง กลายเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น อย่างเช่น กรณีทหารอียิปต์ จ.ระยอง ที่ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก กรมสุขภาพจิตก็ส่งทีมและรถประเมิน โดยตรวจประมาณ 700 คน พบเครียดมาก 50 กว่าคน กรมสุขภาพจิตมีการเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว


ด้านนพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการประเมินสุขภาพจิต ช่วงที่มีการระบาดมากจะสรุปข้อมูลทุกสัปดาห์ แต่ช่วงที่สถานการณ์ลดลงไปจะสรุปทุก 2 สัปดาห์ แต่หากมีเหตุการณ์ที่ตระหนกมากเป็นพิเศษ เช่น กรณีระยอง จะมีหน่วยบริการเข้าพื้นที่โดยตรงไปประเมินในพื้นที่แถบนั้น อย่างการลงไปตั้งจุดประเมินสุขภาพจิตที่ห้างแหลมทอง โดยกลุ่มคนเสี่ยง คือ คนตกงาน มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ โรคประจำตัวเดิม ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งจากการให้บริการพบว่า ประมาณ 10% ที่ประชาชนทั่วไปจะมีความเครียดมากขึ้น มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตมารับบริการโดยตรงเกือบ 50% พบเข้าข่ายแนวโน้มฆ่าตัวตาย 4 คน ถือว่าสูงมาก