ปั้นแบรนด์ 'ทุเรียนใต้' หรอยแรง แพงจริง!

ปั้นแบรนด์ 'ทุเรียนใต้' หรอยแรง แพงจริง!

ปอกเปลือก ‘ทุเรียนใต้’ หาคำตอบที่ซ่อนอยู่ในหนามแหลมว่าอะไรคือเอกลักษณ์ความอร่อยแดนยะลา และจะพัฒนาสู่สินค้าสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นได้อย่างไร

ได้รับการผลักดันเป็น Durian City หรือ ‘เมืองแห่งทุเรียน’ ทั้งที จังหวัดยะลาจึงเดินหน้าส่งเสริมการปลูกราชาแห่งผลไม้ให้มีทั้งคุณภาพในสายพันธุ์เพื่อการค้า และรักษา ‘ทุเรียนพื้นบ้าน’ อันทรงคุณค่าเอาไว้

แต่ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นพันธุ์พื้นบ้านก็ไม่ได้แปลว่าจะธรรมดาไปเสียหมด เพราะบางสายพันธุ์รสชาติดีและมีสตอรี่จนกลายเป็นทุเรียนราคาแพงติดอันดับซูเปอร์สตาร์ทุเรียนไทย

  • เรียบร้อยทุเรียนยะลา

จากภาวะราคายางพาราตกต่ำรวมถึงปาล์มน้ำมันก็ไม่ค่อยสู้ดีเมื่อหลายปีก่อน ทำให้เกษตรกรในจังหวัดยะลาหันมาปลูกผลไม้ราคางามอย่างทุเรียนมากขึ้น จากเดิมทีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 200,000 ไร่ ถูกแบ่งสันปันส่วนมาเป็นสวนทุเรียนกว่า 30,000 ไร่ แน่นอนว่าทุเรียนในสวนเหล่านั้นยังเป็นสายพันธุ์ยอดนิยม อาทิ หมอนทอง, ก้านยาว, ชะนี จะมีทุเรียนพื้นบ้านปนอยู่บ้างเล็กน้อย

อย่างที่ทราบกันว่าระยะหลังทุเรียนพันธุ์การค้าราคาดีมาก ซึ่งทุเรียนพื้นบ้านก็มีทิศทางราคาดีขึ้นจากอดีตกิโลกรัมละ 5 บาท ก็มาแตะกิโลกรัมละ 40-50 บาทได้ตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุเรียนพื้นบ้านยะลาไม่ถูกละเลยอย่างในเก่า เพราะมีการนำกระบวนการวิจัยเข้ามาทั้งยกระดับและอนุรักษ์

รศ.ดร.จรัสศรี นวลศรี หัวหน้าโครงการ ‘การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียนพื้นบ้านจังหวัดยะลา’ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) อธิบายว่างานวิจัยนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรกคัดเลือกทุเรียนพื้นบ้านที่อัตลักษณ์ดี รสชาติดี เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ยกระดับเป็นพันธุ์การค้าในอนาคต ซึ่งพบว่าในยะลามีทุเรียนแบบนี้ซุกซ่อนอยู่มากมาย

“ตอนนี้เราได้มาจำนวนหนึ่ง แต่ก็ต้องคัดอีกทีหนึ่ง เพราะจากการคัดที่เราคัดด้วยรูปร่างหน้าตา ด้วยสี และรสชาติดี แต่หลังจากนั้นเราต้องส่งไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการในเชิงลึกเพื่อเป็นข้อมูลการสนับสนุนพันธุ์เหล่านั้น”

159667040598

ส่วนต่อมาคือการช่วยเหลือด้านส่งเสริมการขาย ที่หัวหน้าโครงการวิจัยบอกว่าการซื้อ-ขายออนไลน์เป็นเรื่องปกติของคนไปแล้ว แม้แต่ชาวบ้านก็คุ้นเคย เพียงแต่งานวิจัยจะช่วยให้เข้าถึงการขายได้มากกว่าเดิมผ่านการอบรม และส่วนสุดท้ายคือการนำความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกมาถ่ายทอดให้เกษตรกร เพื่อทลายข้อจำกัดด้านพื้นที่ ความมั่นคง เพราะเกษตรกรจะเป็นคนสื่อสารให้รู้ว่าในมือของเขามีสายพันธุ์ที่มีศักยภาพ

ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของทุเรียนพื้นบ้านไม่ว่าพื้นที่ไหนจะไปในทาง ‘ลูกเล็ก เนื้อขาว เมล็ดเยอะ รสชาติติดขม’ แต่หลังจากเริ่มงานวิจัย รศ.ดร.จรัสศรี พบว่ามีทุเรียนพื้นบ้านหลายสายพันธุ์ไม่เป็นดั่งคำครหา อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าจะเฉิดฉายบนเวทีทุเรียนโลกด้วย

“หลังจากเราทำวิจัย ชาวบ้านมีการตื่นตัวพอสมควร เนื่องจากว่าเวลาเขาขายทุเรียน เขาจะเก็บๆ มาแล้วกองไว้ มีราคาเดียวกันหมดเลย ทั้งที่ในกองนั้นมีทุเรียนสายพันธุ์ดีที่อร่อยมากอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาจึงเป็นการลดราคาผลผลิตของเขาโดยอัตโนมัติ

ถ้าเป็นทุเรียนที่เราคัดออกมา คุณยายเจ้าของสายพันธุ์ก็บอกว่าราคากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งถือว่าแพงกว่าทั่วไป นี่คือส่วนต่างที่เรากำลังทำ และในอนาคตจะต้องโปรโมทสายพันธุ์เหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้คนตื่นตัวเรื่องทุเรียนค่อนข้างเยอะ จะพบว่าในหลายพื้นที่ไม่เฉพาะทางใต้ เขาจะมีการค้นหาทุเรียนแบบนี้เพื่อหาสายพันธุ์ใหม่ เพราะถ้าหากจะทำตามวิชาการแบบเพียวๆ ต้องใช้เวลานานหลายปี”

การปล่อยให้ทุเรียนพื้นบ้านสุกงอมจนเป็น ‘ทุเรียนตก’ ทั้งจากความสูงของต้นและความไม่ใส่ใจเป็นอีกจุดอ่อนต่อการส่งขาย ซึ่งงานวิจัยกำลังไปสู่จุดเปลี่ยนของการปลูกทุเรียนพื้นบ้านให้ควบคุมลำต้นไม่ให้สูงมากเพื่อเอื้อต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และไปสู่แนวทางอนุรักษ์สายพันธุ์

“ทุเรียนพื้นบ้านคือรากฐานของทุเรียน ถ้ามันหายไปก็ไม่รู้จะเอามาจากที่ไหน ทุกวันนี้ที่ปลูกกันเยอะมากคือพันธุ์การค้า แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นเช่นโรคระบาด เราก็ไม่รู้จะเอาพันธุกรรมที่ไหนมาปรับปรุง โดยที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นถึงตรงนี้ เราก็เคยถวายรายงานเกี่ยวกับการเก็บรักษา

แต่ก่อนหน้านี้ทุเรียนพื้นบ้านหายไปเยอะ มันทานกระแสไม่ไหว ในยุคที่ทุเรียนราคาต่ำแล้วยางพาราราคาสูง ทุกคนก็โค่นทุเรียนเพื่อปลูกยาง แต่ถ้ามีต้นดีๆ อยู่เขาก็เสียดายก็เว้นไว้ เราก็ได้แต่หวังว่าวันนี้ที่กระแสทุเรียนค่อนข้างแรง ชาวบ้านก็เริ่มหันมาสนใจต้นของตัวเอง และหลายคนรับปากว่าจะไม่โค่น ซึ่งเราบอกว่าอีกทางที่จะทำให้ไม่สูญพันธุ์คือขยายพันธุ์”

159667040746

  • หรอยแรง...แพงระยับ

สำหรับคนรักทุเรียนคงไม่ต้องอธิบายถึงเสน่ห์ของรสชาติหวานมัน กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ที่ทำให้พวกเขาตั้งตารอถึงฤดูกาลที่ทุเรียนจะทยอยออกมาจำหน่าย ความน่าหลงใหลเหล่านี้มีระดับขั้นอยู่ด้วย บางคนขอแค่เป็นทุเรียนก็พอใจ ขณะที่บางคนยอมจ่ายแพงเพื่อได้กินทุเรียนระดับเทพ ซึ่งชื่อที่ดังๆ ติดหูก็เป็นพวก ทุเรียนนนท์, หลิน-หลง ลับแล, ทุเรียนป่าละอู ฯลฯ แต่ถ้าในกลุ่มทุเรียนใต้ เจอสายพันธุ์พื้นบ้านยะลาเข้าไปถึงกับละเมอเพ้อพบ

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา บอกว่าทุเรียนพื้นบ้านระดับท็อปของยะลามีหลายสายพันธุ์ อย่างที่หลายคนเคยได้ยินก็มี มูซังคิง หรือที่คนจีนเรียกว่า มาวซานหวาง นับเป็นคู่แข่งกับหมอนทองเกรดพรีเมียม

“มูซังคิงเป็นทุเรียนพื้นบ้านเราและมีที่มาเลเซียด้วย แต่มาเลเซียเขาส่งเสริมการปลูกเยอะมาก เพราะเป็นทุเรียนที่จะมาเป็นคู่แข่งหมอนทอง อีกพันธุ์คือ โอฉี หรือหนามดำ เนื้อจะมีสีเหลืองอมส้ม เนื้อจะมันมากและเนียนละเอียด ซึ่งโอฉีจะมีราคาแพงกว่ามูซังคิง คือ มูซังคิงกิโลละ 550 บาท โอฉีจะ 750 บาท ทุเรียนโอฉีมีต้นกำเนิดจากยะลาแล้วคนมาเลเซียนำไปปลูก แล้วไปได้แชมป์ที่มาเลเซีย 5 ปีซ้อน ต้นที่ได้แชมป์อยู่ที่ปีนัง ชื่อว่า บลูโอเชียน ตอนนี้ยะลาก็ยังมีการปลูก

มีทุเรียนอีกพันธุ์คือ ยาวลิ้นจี่ เฉพาะต้นกล้าพันธุ์ที่เจ้าของเพาะขาย ต้นละประมาณ 1,500 บาท ซึ่งเจ้าของแทบไม่ได้ขายลูกเลย ปีนี้เขาขายลูกละ 2,500 บาท มีอยู่ต้นเดียวในเบตงและในประเทศไทย ลักษณะคือเนื้อสีเข้ม เนื้อมัน เนียนละเอียด

อีกพันธุ์คือ โกลเดน ฮาร์ท เป็นทุเรียนที่ชนะการประกวดทุเรียนพื้นเมือง เพราะพลูเป็นรูปหัวใจ สีออกเหลืองแต่ไม่เข้มมาก เนื้อจะมีความพิเศษคือเนื้อเนียนและมันมาก ผมรู้สึกว่าเนื้อมันจริงๆ ตอนนี้ยังไม่ได้ขายกัน เขามอบให้กับคนที่สนิทจริงๆ”

159667040637

159671117036

ความ ‘หรอยแรง’ ที่มาพร้อมราคา ‘แพงระยับ’ ทุเรียนพื้นบ้านเหล่านี้ยังถูกผลักดันให้จดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วย โดยตอนนี้มี ‘ยาวลิ้นจี่’ กับ ‘โอฉีหรือหนามดำ’ นำร่องก่อน ซึ่งนายกเทศมนตรีนครยะลาเปิดเผยว่ากำลังทำเรื่องให้ ‘โกลเดน ฮาร์ท’ ตามไปติดๆ

นอกจากทุเรียนพื้นบ้านสายพันธุ์ดังกล่าวที่กลายเป็นดาวเด่น มีบางสายพันธุ์ที่นักวิจัยพบว่าดีมากแต่ยังด้อยโอกาส เช่น พันธุ์ขมิ้นเดือนแรม ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองทางใต้แถบสุราษฎร์ธานี ที่ รศ.ดร.จรัสศรี เปรยว่าน่าสงสารเพราะถูกหลงลืม ทั้งที่เนื้อดี รสชาติอร่อย จนกระทั่งนักวิจัยเข้าไปพบและเตรียมเก็บรักษาขยายพันธุ์ แต่ก็ไม่ทันเพราะเกิดโรคระบาดจนต้นโทรมตาย

“นี่เป็นบทเรียนว่าถ้าเจอต้นที่เจ๋งจริงๆ แล้วต้องรีบเอายอดมาเก็บรักษาเลย หรือถ้าต้นไหนเจ้าของเขาหวง ก็ไม่เอามาแต่ให้เขาขยายพันธุ์ไว้เองเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ตอนนี้ที่มีบันทึกอยู่ในบัญชีไว้ประมาณ 300 สายพันธุ์ แต่ยังเก็บมาปลูกได้ไม่หมดด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ แต่ในทั้งหมดนั้นต้องคัดออกมาอีกเฉพาะที่มีศักยภาพ ซึ่งเรามั่นใจมากว่าประมาณ 30 สายพันธุ์ได้อยู่แล้ว”

ความเสี่ยงตอนนี้คือการสูญหายของสายพันธุ์ เกษตรกรเลือกที่จะปลูกทุเรียนพันธุ์เพื่อการค้ากระทั่งไม่เหลือเยื่อใยให้พันธุ์พื้นเมือง แต่ถ้างานวิจัยเกิดผลสำเร็จและเกษตรกรเอาด้วย ‘ทุเรียนพื้นบ้าน’ อาจกลายเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งยะลาที่ค่าตัวแพงไม่แพ้ยาวลิ้นจี่และโอฉีก็เป็นได้