ทอท.ต้องหยุด เอื้อประโยชน์เอกชน

ทอท.ต้องหยุด เอื้อประโยชน์เอกชน

กรณีคณะกรรมการ ทอท.มีมติปรับวิธีเก็บเงินการันตีขั้นต่ำจาก “คิงเพาเวอร์” เพื่อหวังเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงขยายช่วงเวลาปรับปรุงและตกแต่งออกไปสิ้นสุด 31 มี.ค.2575 ซึ่งคาดว่า ทอท.จะสูญรายได้มหาศาล และเกิดการตั้งคำถามถึงการเอื้อผลประโยชน์ครั้งนี้

กรณีคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีมติเยียวยาบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด โดยอ้างเหตุผลได้รับผลกระทบโควิด-19 จึงอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บเงินการันตีขั้นต่ำจากคิงเพาเวอร์ โดยอิงจากจำนวนผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงที่จำนวนผู้โดยสารยังต่ำกว่าประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่ประเมินไว้เมื่อครั้งชนะประมูล และให้ขยายช่วงเวลาการปรับปรุงและตกแต่ง 1 ปีไปวันที่ 31 มี.ค. 2565 และเลื่อนวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดไปเป็นวันที่ 1 เม.ย.2565 จนถึง 31 มี.ค.2575 กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ล่าสุดบริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ วาณิชธนกิจสัญชาติอเมริกัน เปิดเผยรายงานวิจัยชี้ว่า ทอท.อาจจะสูญรายได้มหาศาล เพราะไม่ใช่กระทบต่อรายได้ระยะสั้น ระยะยาวยังมีปัญหาแม้หลังหมดการระบาดของโควิด หรืออย่างน้อยถึงปี 2575 ผลมาจากการไปเยียวยาครั้งนี้ไม่มีระยะสิ้นสุดที่ชัดเจน

โดยคาดการณ์ว่ารายได้ของ ทอท.ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 12 ปี จะลดลง 8,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.48 แสนล้านบาท) ความเห็นของมอร์แกน สแตนลีย์ ยังสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์หลายสำนักในประเทศไทย อย่างค่ายกสิกรไทยซึ่งแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับมาตรการเยียวยาด้วยการเปลี่ยนวิธีการคำนวณรายได้ขั้นต่ำที่พิจารณาจากการเติบโตของผู้โดยสาร

เราเห็นด้วยกับความเห็นของโบรกเกอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราเห็นว่ามาตรการเยียวยาโดยการเปลี่ยนวิธีคำนวณรายได้ใหม่ไปจนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายหรือเข้าสู่ภาวะปกติ เปรียบเสมือนการให้ส่วนลดแก่เอกชนแบบปลายเปิด แทบจะไม่รู้วันสิ้นสุด ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อฐานะทางการเงินของ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติของชาติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเห็นด้วยที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 70% เตรียมเรียกผู้บริหาร ทอท.ไปชี้แจง แต่เราสงสัยว่าเหตุใดนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการ ทอท. ซึ่งนั่งหัวโต๊ะที่ประชุม ปล่อยให้อนุมัติเรื่องนี้ได้อย่างไร

ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเข้ามาจัดการเรื่องนี้ให้โปร่งใส ทำให้สังคมหายข้องใจในพฤติกรรมคณะกรรมการและผู้บริหาร ทอท.ว่าด้วยการเอื้อผลประโยชน์ต่อเอกชน เพราะหากย้อนกลับไปก่อนหน้า เชื่อว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกสังคมตั้งคำถามการจัดสรรความมั่งคั่งออกไปจาก ทอท. การเยียวยาเอกชนโดยการลงมติของคณะกรรมการทั้ง 14 คน โดยไม่ผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้น ถือว่ากระทำการตามลำพัง คณะกรรมการคงลืมนึกไปว่า ทอท.ไม่ได้เป็นสมบัติของใครหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่เป็นของส่วนรวม ทั้งภาครัฐและประชาชน วันนี้คนไทยทั้งประเทศถูกมัดมือชก โดยทำได้เพียงมองตาปริบๆ มันยุติธรรมแล้วหรือ