พรรครัฐบาลผนึกเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ปชป.อาสา-ตั้ง 'บัญญัติ' หัวหน้าทีม

พรรครัฐบาลผนึกเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ปชป.อาสา-ตั้ง 'บัญญัติ' หัวหน้าทีม

"ประชาธิปัตย์" เสนอตัวเป็นเจ้าภาพรวมประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ พรรคร่วมรัฐบาล หลังนายกฯไฟเขียว ตั้ง "บัญญัติ" หัวหน้าทีม เพื่อไทยรอถกพรรคร่วมฝ่ายค้าน-รัฐบาล-ส.ว. “สุทิน” เผยขีดเส้นยื่นญัตติไม่เกิน 15 ส.ค. เก้าอี้โฆษกรัฐบาลไม่นิ่ง ส่องโผมีทั้ง คนใน-คนนอก

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินหน้ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ หลังจากนายกรัฐมนตรีไฟเขียว โดยความคืบหน้าล่าสุด (5ส.ค.)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป.แถลงผลประชุม ส.ส.ของพรรคที่รัฐสภาว่า ปชป.มีข้อสรุป 2 ประเด็น คือ 1.ที่ประชุมเห็นตรงกันให้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเสียง ส.ส.ของพรรคจำกัด จะเสนอพรรคเดียวไม่ได้ เพราะเรามีเพียง 52 เสียง หากจะเสนอเองต้องใช้เสียงถึง 100 เสียง ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุด คือ เสนอร่างร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้วิปของพรรคไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล

2.สำหรับการกำหนดประเด็นเพิ่มเติม นอกจากการแก้ไข ม.256 ที่ประชุมให้มีคณะทำงานชุดหนึ่งเพื่อกำหนดประเด็น ข้อเสนอและรายละเอียด ก่อนนำไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรค นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และประธานวิปพรรค และมีคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรค ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะทำงานนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการใด นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขอให้วิปรัฐบาลไปหารือกันก่อน ในส่วนของ ปชป. นายชินวรณ์จะเป็นผู้ประสานงานกับวิปรัฐบาล ทั้งนี้ประเด็นที่จะกำหนด มีอยู่เบื้องต้นแล้ว นอกจาก ม.256 ที่เป็นจุดยืนของ ปชป.เพียงแต่ให้คณะทำงานหารือ เพื่อให้ได้ข้อสรุปเท่านั้นเอง

ด้าน นายชินวรณ์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้วิปรัฐบาลได้คุยเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอด ซึ่งจากนี้ตนจะได้นำผลการประชุมพรรคไปหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาล เพราะวิปต้องฟังทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รวมถึงเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ด้วย

พท.เลื่อนยื่นญัติไม่เกิน 15 ส.ค.

ความคืบหน้าการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาฯ ของพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า เดิมจะยื่นญัตติวันที่ 5 ก.ค. แต่เมื่อเราประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านมีการปรับปรุงในสาระสำคัญ เช่น มาตรา 256 และปรับปรุงคุณสมบัติของ ส.ส.ร. ให้อายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งอาจจะกำหนดให้เป็นผู้ที่มีอายุ 18 หรือ 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่

อีกทั้ง วันนี้(5ส.ค.)เราได้รับการประสานจาก นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลที่ระบุว่าได้ปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว. เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ และพร้อมให้ความร่วมมือ โดยขอให้ชะลอการยื่นออกไปก่อน ขอให้ยื่นแก้ไขในเวลาไล่เลี่ยกัน เพราะเขารอผลการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาและหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งเราบอกไปว่าถ้าร่วมมือกันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะหากไม่ร่วมมือกันก็ไม่จบ ดังนั้นเราจะรอแต่ว่าไม่เกินวันที่ 15 ส.ค. หากเขาตอบตกลงอย่างไร ก็จะประชุมพรรคร่วมกันอีกครั้ง

นายกฯเปิดเวทีพบนศ.เดือนนี้

ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็นของนักศึกษาว่า จะให้เปิดเวทีย่อยทุกพื้นที่ภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.)เป็นผู้จัด และนำข้อสรุปมาพิจารณาว่า จะพูดคุยกันอย่างไร เพราะปัญหาที่สำคัญที่สุดของบ้านเมืองตอนนี้ คือ การเดินหน้าประเทศ และเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ

เมื่อถามว่ามีข้อเสนอของนักศึกษาให้นายกฯ ไปรับฟังด้วยตนเองนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คงจะมี ต้องหาเวลา และขอให้ทุกคนช่วยกันเสนอความคิดที่เป็นประโยชน์

เมื่อถามถึงข้อเสนอ 3 ข้อของกลุ่มนักศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องไปดูว่าสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงจะต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อนยุบสภาหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ทุกอย่างต้องทำคู่ขนานกันไป ซึ่งต้องมีการรับฟังความเห็นจากคณะกรรมาธิการฯ ก่อน เพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการของรัฐบาล เพื่อพิจารณาตามข้อเสนอว่าจะต้องแก้ตรงไหน ก่อนนำเข้าพิจารณาร่วมกันในสภาทั้ง 2 สภา ส่วนเนื้อหารายละเอียด ตนยังไม่ทราบว่า ต้องแก้ตรงไหน อย่างไร

“บิ๊กแดง”เหน็บโรคชังชาติไม่หาย

ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)ได้ให้สัมภาษณ์ในงานเดียวกัน โดยตอบข้อถามถึงความรู้สึกของรุ่นน้องว่า หวาดกลัวโรคโควิด-19 หรือไม่ โดยกล่าวว่า โรคนี้เป็นแล้วหาย แต่ที่เป็นแล้วไม่หาย คือ โรคชังชาติ เกลียดชาติบ้านเมืองตัวเอง นี่เป็นไม่หาย เพราะว่ามีการเหน็บแนมประเทศตัวเอง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะรักษาอย่างไรให้หายได้อย่างไร ผบ.ทบ.กล่าวว่า คงไม่มีวัคซีน แต่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เป็นเยาวชนให้รู้จักการรักชาติความสามัคคี อยู่ๆ จะมาเกลียดชาติตัวเองได้อย่างไร

จับตา“โฆษกรัฐบาล”คนนอก

ขณะที่ความคืบหน้าในการพิจารณาแต่งตั้งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ลาออกจากตำแหน่งนั้น แม้นายกฯ จะระบุว่า กำลังคิดอยู่ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร เพราะมีหลายคนให้เลือก ยังอยู่ในใจนั้น โดยคุณสมบัติต้องเป็นที่ยอมรับของทุกคน และพูดให้เข้าใจได้ ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหว ในการเสนอชื่อนายอนุชา​ บูรพชัยศรี​ เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ​ และอดีต​ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์​(ลาออกจากพรรค) โดยนายอนุชาถือว่ามีประสบการณ์ ทั้งในทางการเมือง​ และเคยมีบทบาทในภาคธุรกิจ รวมถึงเคยมีตำแหน่งในกรรมาธิการของสภาฯ​ โดยเฉพาะคณะที่เกี่ยวข้อง​กับเศรษฐกิจ​ และคมนาคม เคยเป็นรองโฆษก ปชป.ด้านเศรษฐกิจ​ และมีบุคลิกประนีประนอม​ ไม่แข็งกร้าว​ ไม่เป็นคู่ขัดแย้ง

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในแต่ละกลุ่มก็มีความพยายามผลักดันบุคคลต่างๆ​ให้นายกฯพิจารณา​ อาทิ​ นายทศพล​ เพ็งส้ม​ อดีตผู้สมัคร​ ส.ส.นนทบุรี​ โดยมีกลุ่มนายวิรัช รัตนเศรษฐ สนับสนุน ขณะที่กลุ่มสามมิตร ได้พยายามผลักดันนายธนกร​ วังบุญคงชนะ อดีตเลขานุการรมว.คลัง ของนายอุตตม สาวนายน

ขณะเดียวกัน​ มีรายงานว่า​ ผู้ใหญ่ในรัฐบาล​ เคยมองไปถึงคนนอก ที่มีภาพลักษณ์ดี​ มีความรู้ความสามารถ เป็นที่รู้จักและยอมรับจากสังคม​ เช่น​ นางการดี เลียวไพโรจน์​ นักวิชาการ ​ที่เคยมีชื่อเป็นแคนดิเดตโฆษกประจำสำนักนายกฯ ตั้งแต่​ ครม.รอบแรก​ ซึ่งเจ้าตัวเคยออกมาปฏิเสธแล้ว​ รวมไปชื่อของนางสู่ขวัญ​ บูลกุล​ พิธีกรชื่อดังและดารานักแสดง​ ที่มีการพูดถึง