‘กนง.’จับตาบาทแข็ง ตรึงดอกเบี้ย0.50%

‘กนง.’จับตาบาทแข็ง ตรึงดอกเบี้ย0.50%

 “กนง.”มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 0.50 % หลังมองเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว หลังคลายล็อกดาวน์โควิด-19  พร้อมจับตาค่าเงินบาทให้ชิด หวั่นแข็งค่าเร็ว  หลังดอลลาร์อ่อนค่า หนุนเงินทุนไหลเข้า

นายทิตนันทิ์  มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ล่าสุดธปท. มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50 % เนื่องจากประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาทยอยฟื้นตัว

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงปี 2564 จากปีนี้ที่มีแนวโน้มติดลบ ขณะที่มาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านการคลัง ที่ออกมาก่อนหน้านี้ มีส่วนช่วยลดผลกระทบ และช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังโควิด-19 คลี่คลาย

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กนง.ให้มีการติดตามใกล้ชิด คือ ค่าเงินบาทที่ผันผวนขึ้น จากประชุมครั้งก่อน โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่กลับมาแข็งค่าเร็ว ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยได้ ดังนั้นคณะกรรมการจึงมีความเป็นห่วง และให้ติดตามค่าเงินบาทใกล้ชิด เพราะไม่อยากให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว จนกระทบต่อเศรษฐกิจ

“การแข็งค่าของค่าเงินบาท หลักๆมาจากดอลลาร์อ่อนค่าลง หากเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ และสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่มีอยู่สูง ทำให้สินทรัพย์หลายตัวราคาปรับตัวขึ้น เช่นทองคำ ดังนั้นสภาพคล่องในระบบที่อยู่ระดับสูง อาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้บางช่วงอาจมีเงินทุนกลับมากระทบค่าเงินบาทได้ แต่   ปีนี้เราคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังเกินดุล แม้จะอยู่ระดับต่ำ แต่แรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาทจะน้อยลง เพราะรายรับจากท่องเที่ยวยังไม่กลับมา”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กนง.ให้น้ำหนัก เช่น มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มโน้มฟื้นตัวมากขึ้น ตามการผ่อนคลายการควบคุมโควิด-19 และการทยอยการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่จะเห็นกิจกรรมหรือการเติบโตเศรษฐกิจกลับมาเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 เพราะจากวิกฤตดังกล่าว มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย การจ้างงาน และรายได้ครัวเรือนที่ถูกกระทบ

ทั้งนี้ มองว่า อัตราดอกเบี้ยคงไม่ใช่พระเอก เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดในประวัติการณ์เมื่อเทียบกับอดีต และเทียบกับประเทศในภูมิภาคที่ดอกเบี้ยไทยต่ำมาก ดังนั้นปัจจัยที่ควรเน้น คือการ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการดูแลเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ที่ต้องอาศัยการประสานนโยบายต่างๆ เพื่อให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทของโลกหลังโควิด-19