'ซีไอเอ็มบี' ชี้พิษโควิดหนุนดีลเทคโอเวอร์พุ่ง คาดปีหน้ายอดปล่อยกู้รายใหญ่โต 7-9%

'ซีไอเอ็มบี' ชี้พิษโควิดหนุนดีลเทคโอเวอร์พุ่ง คาดปีหน้ายอดปล่อยกู้รายใหญ่โต 7-9%

‘ซีไอเอ็มบีไทย’ เผยโควิด-19 กระทบธุรกิจเร่งปิดกิจการ ควบรวมกิจการ และขายกิจการเพิ่ม ชี้มูลค่าดีลหลักพันถึงสองหมื่นล้านบาท คาดปีหน้าเพิ่มขึ้นต่อหนุนยอดปล่อยกู้รายใหญ่โต 7-9%

นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวว่า จากวิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจให้มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจปิดกิจการ และควบรวมกิจการมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจโรงแรม สุขภาพ ธุรกิจโรงพยาบาล และภาคการผลิต ซึ่งแต่ละดีลมีมูลค่าตั้งแต่หลัก 1,000 ล้านบาท จนถึงสุงสูดระดับ 20,000 ล้านบาท

สำหรับการปิดดีลการเจรจาดังกล่าวน่าจะเห็นชัดเจนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า หรือปี 2564 เป็นต้นไป เมื่อเห็นทิศทางธุรกิจชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นคาดว่าปีหน้าจะเห็นการปิดดีลกิจการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการต่างๆ เพิ่มขึ้น จากในอดีตที่ธนาคารเข้าไปปิดดีลต่างๆ รวมทั้งปล่อยสินเชื่อและเป็นที่ปรึกษาทางการเงินราว 2-5 ดีลต่อปี

“เราเห็นดีลการเจรจา มีการพูดคุยหารือกันเยอะขึ้นมาก ทั้งบริษัทขนาดกลาง ที่อยากหันมาควบรวมกันเพื่อความอยู่รอด หรือการขายกิจการต่างๆ หากมองว่าธุรกิจไม่ไหว ซึ่งดีลการคุยเหล่านี้เพิ่มขึ้น หากเทียบกับที่ผ่านมา แต่คงไม่จบง่ายๆ เพราะวันนี้ยังตกลงราคากันยาก เพราะผู้ซื้อก็ต้องการซื้อในราคาต่ำ แต่ธุรกิจก็รอทิศทางธุรกิจชัดเจน ดังนั้นเราจะเห็นภาพควบรวม ซื้อกิจการชัดขึ้นในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า”

ทั้งนี้ การเจรจาดีลในข้างต้น พบว่า เป็นดีลที่เกิดขึ้นในประเทศราว 60% ขณะที่อีก 40 % เป็นดีลที่เกิดขึ้นในประเทศอาเซียน รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในอาเซียน เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าการเติบโตสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ของซีไอเอ็มบีไทยจะเติบโตได้ราว 7-9 % ในปี 2564 โดยปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านบาท

ส่วนคุณภาพหนี้ของธุรกิจรายใหญ่ ยังไม่ได้น่ากังวล เพราะปัจจุบันธนาคารได้เร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า ติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าการช่วยเหลือลูกค้าน่าจะเห็นต่อเนื่อง หากมาตรการการช่วยเหลือธนาคารหมดลง ซึ่งจะช่วยชะลอการเกิดหนี้เสียใหม่ในระบบได้ ดังนั้นแม้จะเห็นหนี้เสียขยับขึ้นบ้าง แต่ธนาคารจะพยายามดูแลไม่ให้เกินระดับ 3% เทียบกับปัจจุบันที่อยู่ราว 2 %