กอนช.จับตาเข้ม 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาปริมาณน้ำเพิ่ม

กอนช.จับตาเข้ม 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาปริมาณน้ำเพิ่ม

กอนช.คุมเข้มแผนบริหารจัดการน้ำ หลังพายุ “ซินลากู” ส่งผลให้น้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาเพิ่ม ชี้ยังน้อยกว่าปี 62 เล็งหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง 13 ส.ค.นี้ เตรียมแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “ซินลากู” ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ในพื้นที่จังหวัดน่าน ฝนตกหนักทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก นอกจากนี้ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายเขื่อน มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำน่านเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 31 ก.ค.- 4 ส.ค. 63 ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา มีน้ำไหลเข้าแล้วรวม 250 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ซึ่ง กอนช.คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอีก 3 วันข้างหน้า ช่วงวันที่ 5 - 7 ส.ค. 63 จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 337ล้าน ลบ.ม. 

159662279389

ล่าสุด ปริมาณน้ำใช้การได้ 4 เขื่อน ณ วันที่ 4 ส.ค. 63 มีปริมาณน้ำรวมสิ้น 838 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล 137ล้านลบ.ม., เขื่อนสิริกิติ์ 531 ล้านลบ.ม., เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 86 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 84 ล้านลบ.ม. ขณะที่ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี62 พบว่า มีปริมาณน้ำใกล้เคียงกัน ขณะที่การประเมินปริมาณน้ำต้นฤดูแล้งปี 2563/64 ณ 1 พ.ย.63 ปริมาณน้ำใช้การได้ 5,969 ล้าน ลบ.ม. หรือ 33% เมื่อเทียบกับปี 62 ปริมาณน้ำใช้การ 5,376 ล้าน ลบ.ม. หรือ 30% ซึ่งถือว่ายังเป็นปริมาณน้ำน้อย

159662280890

กอนช. จึงกำชับหน่วยงานดำเนินการปรับแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด แม้หลายพื้นที่มีฝนตกมาแล้วสามารถปลูกข้าวนาปีได้ แต่ยังต้องขอความร่วมมือเกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกได้เมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอและปริมาณน้ำในพื้นที่เพียงพอแล้ว ซึ่งการบริหารจัดการน้ำจะเป็นการจัดสรรจากอ่างฯ เสริมน้ำท่าและน้ำฝนท้ายอ่างฯให้กับพื้นที่เพาะปลูก

“กอนช.จะหารือหน่วยเกี่ยวข้องในวันที่ 13 ส.ค.นี้ เพื่อจัดทำแผนเตรียมการป้องกันบรรเทาผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่คาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนส.ค.- ก.ย.”