'ออสเตรเลีย' ใช้ไม้แข็งเล่นงาน 'ฝ่าฝืนกักตัว'

'ออสเตรเลีย' ใช้ไม้แข็งเล่นงาน 'ฝ่าฝืนกักตัว'

รัฐวิกตอเรียทางตอนใต้ของออสเตรเลีย กำลังเผชิญการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ระลอก 2 ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลกล่าวโทษว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนละเมิดกฎควบคุมการเดินทาง จึงต้องลงโทษปรับก้อนโตเพื่อควบคุมประชาชน 

นครเมลเบิร์น เมืองใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลีย เมืองเอกของรัฐวิกตอเรีย ตอนนี้ประชาชนอยู่ภายใต้คำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิว) ธุรกิจที่ไม่จำเป็นปิดบริการ จะออกไปไหนมาไหนต้องสวมหน้ากาก แต่ปรากฏว่า ผู้ติดเชื้อ 800 คน หรือกว่า 25% ที่เจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมบ้านทั่วรัฐวิกตอเรียกลับไม่อยู่บ้าน

นายกรัฐมนตรีรัฐวิกตอเรีย “แดเนียล แอนดรูวส์” ถึงกับเอ่ยปาก “ยอมรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง” และเพิ่มโทษคนที่ชอบแหกกฎกักตัว ผู้ติดเชื้อคนใดฝ่าฝืนไม่ยอมอยู่บ้าน หากเจ้าหน้าที่เจอเป็นครั้งที่ 2 ต้องถูกปรับทันทีเกือบ 5,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นจาก 1,652 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ยกเว้นคนที่ต้องพบแพทย์ด่วนเท่านั้น แตกต่างจากมาตรการครั้งก่อนที่อนุญาตให้ออกกำลังกายนอกบ้านได้

คนที่ละเมิดกฎอย่างร้ายแรงตำรวจสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้โทษปรับสูงถึง 20,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย

159656322792

นอกจากนี้ ทางการยังส่งทหารอีก 500 นายไปในเมลเบิร์น เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจเยี่ยมแบบเคาะประตูบ้าน ดูว่าผู้ติดเชื้ออยู่บ้านหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม: 'ออสเตรเลีย' ติดเชื้อ-เสียชีวิต 'โควิด' วันเดียวทุบสถิติใหม่

เชน แพตตัน ผู้บัญชาการตำรวจรัฐวิกตอเรีย เผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่อีกหลายร้อยนายประจำการบนท้องถนนคอยดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งเคอร์ฟิว สวมหน้ากาก และอยู่กับบ้าน ซึ่งตำรวจสังเกตว่า มีคนจำนวนไม่มากแต่กำลังกลายเป็นกระแส กระทำการที่เรียกว่า “พลเมืองผู้มีอธิปไตย” เชื่อว่ากฎหมายไม่ได้บังคับใช้กับตนจึงฝ่าฝืนกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง

“เราเห็นพวกเขาท้าทายตำรวจที่จุดตรวจ ไม่บอกชื่อและที่อยู่ สัปดาห์ก่อนเจอแบบนี้อย่างน้อย 4 ครั้ง เราต้องทุบหน้าต่างรถแล้วดึงพวกเขาลงมาให้รายละเอียด” ผู้บัญชาการตำรวจรัฐวิกตอเรียกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในรอบ 24 ชั่วโมง รัฐวิกตอเรียสั่งปรับผู้ฝ่าฝืนไปแล้ว 160 รายการเศษ รวมถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าโขกศีรษะตำรวจกระแทกคอนกรีต หลังถูกเรียกตรวจเพราะไม่สวมหน้ากาก

สถานการณ์ในวิกตอเรียถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากในบรรดาผู้ติดโควิด-19 จำนวนเกือบ 19,000 คนทั่วออสเตรเลีย อยู่ในรัฐวิกตอเรียกว่า 12,000 คน ผู้เสียชีวิต 147 คน จากยอดรวมทั้งประเทศ 232 คน

ที่อุทยานแห่งชาติอุลูรูอันโด่งดัง เกล็นน์ เออร์วิน ผู้จัดการบรรษัทชุมชนท้องถิ่นมูติตจูลู ซึ่งดูแลปัญหาชุมชน เผยว่ากลุ่มชนพื้นเมืองราว 30 คนขวางไม่ให้นักท่องเที่ยว 43 คน ผู้มาจากภาคตะวันออกของออสเตรเลียที่โควิดระบาดหนักเข้าอุทยานแห่งนี้ได้

159656321177

ชาวบ้านให้เหตุผลว่า การที่นักท่องเที่ยว 43 คน นั่งเครื่องบินมาจากบริสเบน ควีนส์แลนด์มาที่นี่เท่ากับว่าชาวบ้านถูกมองข้าม จึงต้องลงมือจัดการ

เดิมทีเออร์วินและชาวบ้านเข้าใจว่า เที่ยวบินดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว พวกเขาขอให้ปิดอุทยานแต่ไม่เป็นไปตามคำขอ ชาวบ้านจึงต้องมารวมตัวกันที่ประตูทางเข้าอุทยาน

หลังเจรจากันอย่างตึงเครียด เออร์วินเผยว่า ชาวบ้านกับนักท่องเที่ยวที่ยังเข้าอุทยานไม่ได้ ตกลงกันว่าจะตรวจหาโควิดก่อน และจะไม่รับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่โควิด-19 ระบาดหนัก

ที่อังกฤษ คณะนักวิจัยจากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน และวิทยาลัยเวชศาสตร์เขตร้อนและสุขอนามัย เผยแพร่รายงานในวารสารการแพทย์แลนเซ็ตเพื่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่นศึกษาผลกระทบจากการเปิดเรียนอีกครั้ง ทั้งเต็มเวลาและเรียนพาร์ทไทม์ เพื่อให้พ่อแม่กลับไปทำงาน กับแนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด พบว่า การระบาดระลอก 2 สามารถป้องกันได้ ถ้า 75% ของผู้ติดเชื้อและมีอาการถูกตรวจพบ และตามรอยโรคได้ 68% หรือถ้าพบผู้ที่มีอาการ 87% และตามรอยโรคได้ 40% แต่ถ้าไม่มีการตรวจหาเชื้อ ตามรอยโรค และกักตัวเป็นวงกว้างมากพอ การเปิดเรียนพร้อมๆ กับเปิดสังคมในทุกสถานการณ์ อาจทำให้โควิด-19 ระบาดระลอก 2

159656324257

“ตัวแบบหนึ่งชี้ว่า การเปิดเรียนเต็มรูปแบบในเดือน ก.ย. โดยไม่มียุทธศาสตร์การตรวจหาเชื้อ ตามรอยโรค และกักตัวที่มีประสิทธิภาพ อาจส่งผลให้ค่าอาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 การติดเชื้อระลอก 2 จะขึ้นสู่ระดับสูงสุดในเดือน ธ.ค. ขนาดใหญ่กว่าการติดเชื้อระลอกแรก 2.0-2.3 เท่า” รายงานระบุ

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษประกาศว่า นักเรียนทุกคนทั่วสหราชอาณาจักรจะกลับเข้าเรียนได้ภายในต้นเดือน ก.ย. นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กล่าวว่า นี่คือความสำคัญอันดับ 1 ของชาติ