อัยการ-ตำรวจ ต้องไม่เหมือนเดิม

อัยการ-ตำรวจ ต้องไม่เหมือนเดิม

คดีบอส อยู่วิทยา สะท้อนถึงวิกฤติกระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าความเหลื่อมล้ำมีทุกภาคส่วนของสังคมไทย หากปล่อยไปเป็นแบบเดิม ผลกระทบจะไม่จำกัดแค่สององค์กรในกระบวนการยุติธรรม อัยการและตำรวจเท่านั้น แต่จะกระทบไปถึง “รัฐที่ล้มเหลว” ในที่สุด

เราเห็นว่าคดีวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา สององค์กรในกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถอยู่แบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว เพราะต้องยอมรับว่า คดีบอสสร้างความตื่นตระหนก ตื่นรู้ของคนในสังคมพอสมควร ทำให้หลายคนย้อนกลับไปดูกระทบวนการยุติธรรมตั้งแต่ขั้นต้นถึงปลายทาง ตั้งข้อสงสัยในหลายกรณี ภาวะเช่นนี้เราเชื่อว่าเป็น “วิกฤติกระบวนการยุติธรรม”

ซึ่งหากปล่อยไปเป็นแบบเดิม ผลกระทบจะไม่จำกัดแค่สององค์กร อัยการและตำรวจเท่านั้น แต่จะขยายวง ตั้งคำถาม สงสัย ทุกกระบวนการยุติธรรม และกระทบไปถึงขั้นเป็น “รัฐที่ล้มเหลว” ในที่สุด ดังนั้นอย่าคิดว่าเป็นเพียงปัญหาเพียงคดีหนึ่ง เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้คือสิ่งที่คนสงสัยมานาน แต่ครั้งนี้ทำให้ประชาชนได้เห็นเชิงประจักษ์ของปัญหาว่า ความเหลื่อมล้ำมีทุกภาคส่วนของสังคมไทย ไม่ได้มีเพียงเศรษฐกิจ การศึกษา หรือการเข้าถึงทุนเท่านั้น แต่ยังฝังรากให้เห็นในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียม 

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจนั้น เราได้ยินมายาวนาน และยังไม่เห็นรัฐบาลไหนจริงจังในการแก้ไข ส่วนหนึ่งเพราะทราบดีว่ากระทบฐานของกลุ่มคนชั้นนำในสังคม เหมือนกับกรณีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน แม้จะเป็นคนส่วนน้อยของสังคม แต่คือคนกุมอำนาจ เศรษฐกิจ การเมือง จึงย่อมไม่ออกกฎหมายเพื่อกระทบฐานที่มั่น ฐานรายได้ของกลุ่มตนเอง

เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่เราเรียกว่าปฏิรูปค่อนข้างที่จะเกิดขึ้นยาก เพราะการปฏิรูปคือการทำลายสิ่งเก่า โครงสร้างเดิมที่คนส่วนน้อยผูกขาดผลประโยชน์ ผูกขาดความได้เปรียบ ทำให้แต่รัฐบาลจึงไม่ขยับเรื่องการปฏิรูปต่างๆ รวมถึงปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศเป็นมาตรการเร่งด่วน ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2557 เพราะตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ถึงวันนี้ นายกฯพูดหลายครั้งและมีการตั้งกรรมการปฏิรูปตำรวจมาแล้ว 4 ชุด 

คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ ที่มีนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เป็นประธาน ถือเป็นชุดแรก ตั้งเมื่อ 12 พ.ค.2558 โดยมีกรรมการ 17 คน ซึ่งถือเป็นชุดแรก หัวใจของชุดนี้คือการปฏิรูปความเป็นอิสระของตำรวจ ชุดที่สอง ชุดที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน ตั้งเมื่อ 4 ก.ค.2560 มีกรรมการ 36 ท่าน ระยะเวลาการทำงานประมาณ 1 ปี จนกระทั่งสามารถเสนอรายงานให้กับรัฐบาล 

เมื่อ 22 ส.ค.2562 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. .... โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และล่าสุด 30 มิ.ย.2563 มติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่ปรากฏชื่อนายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นประธาน มีกรรมการรวม 15 คน โดยระบุภารกิจ ขอบเขตงานด้านกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน