‘ไมโครซอฟท์’  เปิดเทรนด์ ดิจิทัล พลิกโฉมการลงทุน

‘ไมโครซอฟท์’  เปิดเทรนด์ ดิจิทัล พลิกโฉมการลงทุน

ชูเทคโนโลยี “คลาวด์” พลิกฟื้นธุรกิจไทย รับรายได้จากค่าไลเซ่นส์ตก แต่ภาพรวมยังดี รับอานิสงส์บริการคลาวด์เติบโตได้ก้าวกระโดด

ไมโครซอฟท์พบว่า ตั้งแต่มีการล็อกดาวน์การใช้งานไมโครซอฟท์ทีมส์สำหรับทำงานและเรียนออนไลน์ เติบโตมากถึง 936% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โควิด-19 ได้สร้างโอกาสให้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ สำคัญคือต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดให้เป็น “Growth Mindset” เพื่อปูทางสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

เขากล่าวว่า การลงทุนไอทีในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทคโนโลยีคลาวด์ ข้อมูลและเอไอ รวมถึงซิเคียวริตี้ จากนี้เทคโนโลยีจะเข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนธุรกิจทุกอุตสาหกรรม ทุกเซ็กเมนท์ แม้ผลกระทบจากวิกฤติจะทำให้ธุรกิจระมัดระวังการใช้จ่าย ทว่าองค์กรเห็นถึงความสำคัญ และเทคโนโลยียังมีส่วนช่วยช่วยลดต้นทุนด้วย

สำหรับไมโครซอฟท์ กลยุทธ์ธุรกิจให้ความสำคัญกับบริการ “คลาวด์” ซึ่งวันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าช่วยเพิ่มความเร็ว คล่องตัว รองรับการทำงานช่วงภาวะวิกฤติ ขณะเดียวกันสามารถพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าได้จริง ปีนี้ไมโครซอฟท์ได้จัดตั้งทีมงานเฉพาะ "Customer Success Unit" โดยมีเป้าหมายหลักคือร่วมทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด ในฐานะพันธมิตรที่จะประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

“เราหวังเข้าไปสร้างผลกระทบในทุกพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน สตาร์ทอัพ เน้นการพัฒนาส่งเสริมทักษะความสามารถด้านดิจิทัล ยกระดับทีมงาน การบริหารงานภายใน โดยแต่ละโครงการจะมีการร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย ทั้งจะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของตลาดประเทศไทยมากที่สุด”

ปัจจุบัน รายได้ที่มาจากการขายไลเซ่นของบริษัทลดลงอย่างมากหรือติดลบในบางผลิตภัณฑ์ ทว่าบริการคลาวด์เติบโตเพิ่มขึ้นมหาศาล บางผลิตภัณฑ์เติบโตเป็นตัวเลข 3-4 หลัก ดังนั้นในภาพรวมผลประกอบการยังคงเป็นบวก และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งส่วนของรายได้รวมและคลาวด์

ไอเอ็มเอฟประเมินไว้ว่า ก่อนโควิดจีดีพีของประเทศไทยจะเติบโตราว 3% ทว่าหลังโควิดได้ปรับลดลงมาเป็นติดลบ 6.7% ทั้งมีการคาดการณ์ด้วยว่าไทยจะเป็นประเทศระดับต้นๆ ในเอเชียที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ โดยที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ อัตราการว่างงานโดยประเมินไว้ที่ 7.1% จากปกติต่ำกว่า 1% นอกจากนั้นมีความเสี่ยงด้านการฟื้นฟูธุรกิจ เศรษฐกิจโดยภาพรวมได้รับผลกระทบ ปัจจัยหลักเนื่องมาจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพากับธุรกิจบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ในวิกฤติยังคงมีโอกาสจากการเพิ่มขึ้นของของงานด้านดิจิทัล โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 จะเกิดตำแหน่งงานใหม่ 149 ล้านตำแหน่ง แบ่งเป็น งานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ 98 ล้านตำแหน่ง คลาวด์และดาต้า 23 ล้านตำแหน่ง การวิเคราะห์ข้อมูล แมชีนเลิร์นนิง เอไอ 20 ล้านตำแหหน่ง ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ 6 ล้านตำแหน่ง และความเป็นส่วนตัวและความเชื่อมั่น 1 ล้านตำแหน่ง

สำหรับประเทศไทยโอกาสเกิดขึ้นของตำแหน่งงานใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีมีอยู่กว่า 3 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ คลาวด์และดาต้า การวิเคราะห์ข้อมูล แมชีนเลิร์นิง เอไอ และไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ตามลำดับ