ฉากใหม่รางวัลเจ้าฟ้าไอที เฟ้นหาสุดยอด ‘คนไอซีที'

ฉากใหม่รางวัลเจ้าฟ้าไอที เฟ้นหาสุดยอด ‘คนไอซีที'

มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศเตรียมก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ในอีกสองปีข้างหน้าด้วยการปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กร ทั้งการตั้งชื่อใหม่และพลิกโฉมกลไกส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ เพื่อให้สอดรับกับบริบทของโลกยุคใหม่และยืนหยัดที่จะเป็นส่วนสำคัญช่วยยกระดับสังคม

จากมูลนิธิวิจัยฯ เปลี่ยนเป็น “มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ที่มาพร้อม “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” และปิดฉาก “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” หลังการประกาศผลครั้งล่าสุดปีที่ 12 เมื่อปี 2561

คลื่นการเปลี่ยนแปลงระลอก 3

ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่า เมื่อมองย้อนไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิวิจัยฯ ในปี 2535 เห็นว่าได้ผ่านการดำเนินงานมา 2 ช่วงเวลา กล่าวคือ ช่วงที่หนึ่ง (ปี 2535- 2548) 13 ปีแรก เป็นการสนับสนุนให้ทุนวิจัย และ ช่วงที่สอง (2548-2560) หรือ 12 ปีต่อมา เป็นการจัดประกวดโครงการในระดับบุคคลทั่วไป และนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อหาผู้ที่มีผลงานที่เป็นเลิศ และมีประโยชน์แก่สังคม

159655179398

มูลนิธิวิจัยฯ จะเฟ้นและมอบรางวัลให้กับโครงการที่ดีเยี่ยมด้วยมาตรฐานที่สูงมาก ทำให้ในบางปีไม่มีผู้ได้รับรางวัลเนื่องจากคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของผลงานยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เวทีการประกวดที่มูลนิธิดำเนินการจึงค่อนข้างแตกต่างจากรางวัลอื่นๆ ที่มีอยู่ขณะนั้น

“ปัจจุบันมาถึงช่วงที่สาม เป็นช่วงที่เราเห็นเวทีการประกวดแข่งขันโครงการด้านไอทีมีเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ทั้งที่จัดโดยภาครัฐ ภาคเอกชน หรืออื่นๆ คณะกรรมการจึงได้หารือกันถึงแนวทางที่มูลนิธิจะดำเนินการนับจากนี้ไป”

คณะกรรมการเห็นพ้องกันว่า การให้รางวัลในช่วงต่อจากนี้ไปควรทำในรูปของรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลผู้คิดค้น หรือมีส่วนสำคัญในการคิดค้น ดำเนินงาน และผลักดันโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้และเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา ฯลฯ ของประเทศที่รับรู้ได้ ปีละ 1 รางวัล จากรายชื่อที่องค์กร หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ เสนอเข้ามา ไม่มีลักษณะเป็นการประกวดหรือแข่งขัน
 

159655183214                                     ภาพบรรยากาศการประกาศรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 11


รางวัลพระราชทาน ประกอบด้วย เงินรางวัล 2 ล้านบาท เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน และโล่ประกาศเกียรติคุณ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนให้หน่วยงานกว่า 200 แห่ง เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัล ซึ่งเบื้องต้นมีการตอบรับแล้วกว่า 10 หน่วยงาน จากนั้นจะประกาศผลรางวัลในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้

ขณะเดียวกัน มูลนิธิต้องการให้รางวัลนี้เป็นการแสดงออกถึงการเทอดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องการให้ผู้ที่ได้รับรางวัล มีความภาคภูมิใจในรางวัลที่ได้รับ และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการคัดเลือก

ยกระดับระบบนิเวศไอซีที

ทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า ภารกิจเช่นนี้ทำองค์กรเดียวไม่ได้ ฉะนั้น ต้องอาศัย “ผู้นำ” ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านต่างๆ เกี่ยวกับไอที แต่ละองค์กรจะไม่จำกัดรายชื่อ เนื่องจากจำนวนนักคิดนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีพอสมควรในไทย ซึ่งบางคนอาจจะใช้ศักยภาพของตนเองไม่เพียงพอ เนื่องจากติดขัดเรื่องของการสนับสนุน และบางคนอาจจะจำกัดอยู่บางพื้นที่ ดังนั้น สิ่งที่มูลนิธิฯได้รับรู้จากรายชื่อที่ส่งเข้ามา ก็จะช่วยนำไปสู่การขยายผลได้เป็นอย่างดี

159655189148                                     Arincare ระบบบริหารจัดการร้านยาออนไลน์ ได้รับรางวัลเจ้าฟ้าไอทีฯ ครั้งที่ 12

สำหรับแผนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในระยะยาว 10 ปี นอกจากรางวัลที่จัดขึ้นแล้วก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การให้ทุนวิจัย การเชิดชูเกียรติโครงการ และการมอบรางวัลสูงสุดสำหรับบุคลากรที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคม โดยตั้งเป้าให้มีความต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ครั้ง ในแต่ละปีควรจะมีการเสนอรายชื่ออย่างน้อย 20-30 คน จะทำให้มูลนิธิฯ มีฐานข้อมูลและสามารถผลักดันให้เกิดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของทุนวิจัยจะไม่มีเงื่อนไขผูกมัด และเป็นการให้ทุนสนับสนุน คาดว่า อีก 1-2 ปีจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมได้เป็นอย่างดี จึงถือได้ว่าบทบาทของมูลนิธิจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับสังคมผ่านกลไกที่มีอยู่