นายกฯปิดห้องคุย 2 หัวหน้าพรรค ห่วงนศ.ชุมนุม-แก้รัฐธรรมนูญ

นายกฯปิดห้องคุย 2 หัวหน้าพรรค ห่วงนศ.ชุมนุม-แก้รัฐธรรมนูญ

"ประยุทธ์" ปิดห้องคุย 2 หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล “จุรินทร์-อนุทิน” ยืนยันรัฐบาลสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญ ห่วงการชุมนุมของนักศึกษาเตรียมเปิดเวทีพูดคุย “จุรินทร์” นัดถกท่าที ส.ส.ปชป.วันนี้ “ชวน” อาสาเป็นคนกลางหารือ 3 ฝ่าย ด้านฝ่ายค้านหนุนทำประชามติตั้งส.ส.ร.

วานนี้ (4 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เข้าพูดคุยหารือในห้องพักรับรองถึงประเด็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีมติให้แก้ไขและธรรมนูญ

โดยเมื่อเข้าสู่วาระการประชุมครม.นายกฯ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอะไร ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่จะต้องดูประเด็นที่จะแก้ไขก่อน จากนั้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงานขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะต้องผ่าน 4 ขั้นตอน จึงทำให้นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลเร่งรัดรีบดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นผลงานของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุม ครม. นายจุรินทร์ ได้เรียกรัฐมนตรีของพรรคทั้งหมดไปหารือร่วมกันที่ห้องทำงานบนตึกบัญชาการ 1 ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคจะต้องทำเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค และเงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาล

ทั้งนี้นายจุรินทร์ได้แจ้งในวงพูดคุยว่านายกฯ ได้รับทราบถึงจุดยืนของพรรคที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แต่นายกฯแสดงความต้องการให้ทำร่วมกันในนามพรรคร่วมรัฐบาล โดยให้ส.ส.ของแต่ละพรรคมาลงชื่อสนับสนุนร่างของรัฐบาล แต่ในช่วงที่ผ่านมามีส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนต้องการจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรคเอง

นอกจากนี้พรรคยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้วิธีที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือรูปแบบอื่นใด เพราะต้องรอคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สรุปผลการศึกษาออกมาก่อน อย่างไรก็ตามจะมีการนำแนวทางดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปแจ้งในที่ประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 ส.ค. เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา เพื่อที่พรรคจะได้หาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวต่อไป

“บิ๊กตู่”เตรียมเปิดเวทีฟังคนรุ่นใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมครม.ว่า เรื่องชุมนุมตนเป็นห่วงเด็กๆ จึงได้ให้แนวทางเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนให้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้เขารู้ว่าเขาอยากได้อนาคตอย่างไร เราก็จะฟังจากพวกเขาภายในเดือนนี้ ก็จะเปิดเวทีลักษณะนี้ให้มากขึ้น สำหรับรูปแบบก็จะเป็นการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อพบปะหารือกัน

ทั้งนี้ในส่วนที่มีหลายคนแสดงความเกี่ยวกับสถาบันนั้น ตนคงไม่ปรามอะไร ให้เจ้าหน้าที่เขาปฏิบัติตามกฎหมายตามที่มีอยู่ ตนกังวลในเรื่องเหล่านี้ ทุกคนต้องเคารพกติกากฎหมายซึ่งกันและกัน ตนไม่ได้เป็นขู่อะไรใครทั้งสิ้น แต่ตนเป็นห่วงหลายคนที่พูดจาแล้วมันเกินเลยเลยเถิด อาจจะไม่ใช่การบริสุทธิ์ใจแท้จริง ก็เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการไป

“ชวน”อาสาคนกลางถก3ฝ่าย

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการตั้ง สสร.ว่า ต้องรอข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ตนยังไม่ทราบว่าการศึกษาตอนนี้ไปถึงไหน แต่น่าจะได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนหน้าก่อนปิดสมัยประชุม แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นแบบไหน

“เท่าที่สอบถามความเห็นของกรรมาธิการส่วนใหญ่ก็เห็นสอดคล้องกันให้แก้ไข ซึ่งส่วนตัวก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาและตอนลงประชามติ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และผมเคยให้ความเห็นว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ชอบละเมิดกฎหมายจึงทำให้บ้านเมืองมีปัญหาไม่ใช่ปัญหาจากรัฐธรรมนูญ”

ส่วนที่ท่าทีของ ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 256 และตั้ง สสร.นั้น อย่าเพิ่งคาดเดา ตนได้เสนอตั้งแต่ต้นว่าให้มีการเชิญ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมประชุมแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ส่วนตัวพร้อมเป็นตัวกลางในการพูดคุยหากมีการประสานมา

ปชป.เชื่อ 3 ฝ่ายให้ความร่วมมือ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์สรุปชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่าพรรคเห็นด้วยในการแก้มาตรา 256 เพื่อต้องการเปิดประตูในการไปแก้ไขในประเด็นต่างๆให้ประชาธิปไตยยิ่งขึ้น สำหรับการยื่นญัตติพรรคก็จะมีการนัดประชุมส.ส.ในวันที่ 5 สิงหาคม นี้ เพื่อที่จะได้รวบรวมประเด็นและขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง

ดังนั้นการจะแก้มาตรา 256 ก็ต้องมี 1.แสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เห็นพ้องต้องกัน และถ้ามีประเด็นใดที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินหรือทำให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น 2.สามารถแก้ไปพร้อมกับการแก้ไขมาตรา256 ได้ และ3. หากมีแนวความคิดที่จะให้บุคคลภายนอกมาร่วมเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ก็ต้องมีคำถามตามมาว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร.อย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นกระบวนการที่มีความชัดเจน อย่างน้อยที่สุดยืนยันได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แน่นอน

ทั้งนี้ต้องแสวงหาความร่วมมือจากพรรคการเมืองอื่นในการเข้าชื่อเสนอญัตติ เพื่อให้เกิดความเป็นจริง ซึ่งต้องใช้ 100 เสียง ในส่วนของรัฐบาลตนคิดว่าเราควรที่จะได้มีการหารือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะวิป 3 ฝ่ายคือฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และส.ว. เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง

“วิษณุ”ชี้ตั้งส.ส.ร.ต้องทำประชามติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ.ฯ มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เขายังไม่ส่งอะไรมาให้รัฐบาล และเรื่องนี้ยังไม่เคยหยิบยกมาหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนนี้ยังไม่มีอะไรมาจากสภาฯ จึงยังไม่รู้ว่าจะเริ่มลุกขึ้นพูดกันอย่างไร ตอนนี้เพียงได้ยินเพียงแต่ข่าว แต่เขายังลงมติไม่ครบถ้วน และนายพีระพันธุ์ ก็ไม่เคยมาหารืออะไรในเรื่องนี้

ส่วนข้อเสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น ยังไม่รู้ว่าจะตั้งรูปแบบไหนอย่างไร ถ้าร่างใหม่ก็เท่ากับการไปแก้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยากแก้ตรงไหนก็แก้ไป แต่ถ้าแก้หมวด 1 ว่าด้วยหมวดทั่วไป หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ และหมวด 15 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติองค์กรอิสระ หากเป็นประเด็นเหล่านี้เรื่องต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ผ่านวาระ 1 - 3 หากผ่านวาระ 3 ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ก่อนจะทูลเกล้าฯต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งกำหนดระยะเวลาไว้ 1 เดือน

ฝ่ายค้านหนุนทำประชามติตั้งส.ส.ร.

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า กมธ.ได้สรุปไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และเงื่อนไขเวลาที่ให้กระชับ ซึ่งวันนี้หลายพรรคก็ขานรับนำไปเป็นแนวทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า การแก้มาตรา 256 อาจติดเงื่อนไขว่าต้องไปทำประชามติ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก และต้องหาเสียงส.ว.มารับรอง กระบวนการนี้คาดว่าจะให้เสร็จภายในกี่เดือน นายสุทิน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากอยู่แล้ว การทำประชามติก็เป็นขั้นตอนที่เขียนไว้เพื่อให้เกิดความยุ่งยาก แต่ไม่ว่าจะยุ่งยากขนาดไหนก็ต้องทำ และไม่เชื่อเรื่องน่ารังเกียจ แม้จะเสียเวลาก็ยอม เสียเงินยิ่งดี