เปิดคำแถลงอัยการ 'คดีบอส' ปมร้อนย้อนแย้งสำนวนตำรวจ

เปิดคำแถลงอัยการ 'คดีบอส' ปมร้อนย้อนแย้งสำนวนตำรวจ

คณะทำงานของอัยการสูงสุดแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของคณะทำงานชุดที่มี “สมศักดิ์ ติยะวานิช” รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน 

 กรณีไม่สั่งฟ้องคดี วรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา” ในคดีขับรถชนด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ ในทุกข้อกล่าวหา ในประเด็นสำคัญ

1.การพิจารณาสั่งสำนวนคดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่? คณะทำงานเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 วรรค 4 ระบุว่า การปฏิบัติราชการของหน่วยงานของสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบและมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบงานคดีอัยการสูงสุด งานคดีกิจการอัยการสูงสุด เฉพาะงานคดีร้องขอความเป็นธรรม เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ร้องขอความเป็นธรรมซึ่งมีข้อเท็จจริงและพยานบุคคลที่ระบุแจ้งชัด กรณีจึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ซึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และยังเป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 48

พนักงานอัยการจึงมีการสอบสวนเพิ่มเติมตามที่ร้องขอความเป็นธรรม และการที่นายเนตร ในฐานะรองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดในการกำกับดูแลและรับผิดชอบงานคดีร้องขอความเป็นธรรม การพิจารณาสั่งสำนวนคดีนี้จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

 

2.ผู้สั่งคดีมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไรคณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน จากนั้นได้พิจารณาความเห็นและคำสั่งมีความเห็นว่า นายเนตร ได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้ ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติมซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามอำเภอใจรวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร และภายหลังที่มีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ได้มีการเสนอสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อพิจารณาอันเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ 

ซึ่งต่อมาผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวคณะทำงานเห็นว่าการสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว

ข้อเสนอแนะของคณะทำงาน แม้คดีนี้จะมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว คณะทำงานตรวจพบว่า คดียังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้ โดยคณะทำงานมีความเห็นว่า

คณะทำงานตรวจพบว่า ในสำนวนการสอบสวนมีการตรวจเลือดของนายวรยุทธ ในวันเกิดเหตุ และพบสารประเภทโคเคนในเลือด แต่พนักงานสอบสวน ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี (อายุความตามกฎหมาย 10 ปี)

ส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว แต่ปรากฏพยานหลักฐานสำคัญ คือ นายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า ขณะเกิดเหตุได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด

วัตถุพยาน ที่บันทึกภาพรถของผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมกับคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ โดยนานสธน ได้ทำรายงานการคิดคำนวณส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดี โดยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุรถของผู้ต้องหา1 แล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน 

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงผ่านสื่อ จากการให้สัมภาษณ์ของดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน คิด คำนวณ หาความเร็วของรถ และตนได้คิด คำนวณ พร้อมกับให้ความเห็นทางวิชาการว่า ขณะเกิดเหตุ รถที่ผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็วไม่ตำกว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่ง ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาที่ 1 ได้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

ทั้งสองประเด็นดังกล่าว คณะทำงานจึงมีความเห็นและนำกราบเรียนอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา แจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธต่อไป

จากการแถลงดังกล่าวยังมีข้อย้อนแย้งระหว่าง2องค์กร คือ “อัยการ” และ “ตำรวจ” ในหลายประเด็นทั้งประเด็นความเร็วรถ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางฝั่งตำรวจชี้แจงว่า แม้ผลการสอบสวนจากหน่วยพิสูจน์หลักฐานและ-อ.จุฬา จะให้ข้อมูลว่า บอสขับขี่ความเร็วเกิน80กม./ชม. แต่มีการระบุภายหลังว่าคำนวนผิดพลาด

 ขณะที่ประเด็นการเสพโคเคที่อัยการสั่งสอบเพิ่มเติมนั้น เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา ทางฝั่งตำรวจชี้แจงว่าการสอบปากคำแพทย์ที่เป็นคนตรวจร่างกายนายบอส ไม่ยืนยันผลการตรวจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า เป็นผลมาจากการเสพโคเคนโดยตรงหรือมาจากการใช้ยารักษา.