‘กูรู’ฟันธงกนง.‘คง’ดอกเบี้ย เก็บกระสุนใช้ยามจำเป็น

‘กูรู’ฟันธงกนง.‘คง’ดอกเบี้ย เก็บกระสุนใช้ยามจำเป็น

ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมานโยบายการเงินถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ทั้งทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอนการลงทุนของภาครัฐหยุดชะงัก

ยิ่งเกิดวิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ยิ่งต้องอาศัยกระสุนจากนโยบายการเงินที่ต้องทำควบคู่ไปกับกระสุนฝั่งนโยบายการคลังเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา กนง.ลดดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้ง จากระดับ 1.25% มาสู่ระดับ 0.50% ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเห็นนโยบายสำคัญอย่างให้ลดเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้กับสถาบันการเงินเหลือ 0.23% จาก 0.46% เป็นระยะเวลา 2 ปีด้วย

ส่วนการประชุมครั้งที่ 5 ของปีรอบนี้ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย คาดการณ์ว่าการประชุมวันนี้ (5 ส.ค.) หลังจากที่ผ่านมาลดดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง จากระดับ 1.25% เมื่อสิ้นปีก่อนหน้า แต่ในภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเช่นนี้ที่เอกชนขาดความเชื่อมั่น การลดดอกเบี้ยอาจมีผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อไม่มากนักหรือที่เรียกว่ากับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap) โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่แม้จะมีซอฟท์โลนธปท. แต่ธุรกิจจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้หรือไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อนี้ ดังนั้นธปท.น่าจะไปเร่งผ่อนคลายเกณฑ์ให้เอกชนใช้สินเชื่อมากกว่าการลดดอกเบี้ย

“ผมมองว่าทางกนง.ได้ผ่อนคลายมาตรการทางการเงินไปอย่างเต็มที่แล้วในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงขาลง และเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอการหดตัวหรือมีแนวโน้มว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ดังนั้นการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมหรือลดดอกเบี้ยอาจไม่จำเป็นมากนัก และสิ่งที่ต้องเร่งทำคือหามาตรการแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าเทียบสกุลอื่นในภูมิภาคเพื่อช่วยผู้ส่งออก”

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics คาดว่าครั้งนี้ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมเช่นกัน เนื่องจากมองว่า กนง.น่าจะโฟกัสไปที่ การปรับโครงสร้างหนี้ และการเร่งปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนมากกว่า แต่ระยะข้างหน้าก็มีโอกาสเห็นกนง.ลดดอกเบี้ยได้ หากมีเศรษฐกิจแย่กว่าที่คาด แต่การช่างน้ำหนักของกนง.ข้างหน้าจะยากขึ้น เพราะปัจจุบันเงินฝากออมทรัพย์อยู่ระดับต่ำมากที่ 0.25% ซึ่งมีผู้ฝากรายย่อยถึงระดับ 4 ล้านล้านบาท ดังนั้นหากดอกเบี้ยลงอีกอาจกระทบต่อผู้ฝากกลุ่มนี้ได้ ดังนั้นกนง.น่าจะเลือกใช้เครื่องมือลด FIDF ลงอีกมากกว่าเพื่อให้แบงก์ส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้กู้แทน

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด กล่าวว่าคาดการณ์ว่ากนง.น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% เพราะหากดูภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงองค์ประกอบต่างๆพบว่าครั้งนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปมากนักหากเทียบกับการประชุมครั้งก่อนหน้าและค่าเงินก็ยังไม่แข็งค่ามากนัก จึงไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้กนง.ต้องเร่งตัดสินใจลดดอกเบี้ย อีกทั้งกนง.ย้ำตลอดว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วดังนั้นเชื่อว่ากนง.น่าจะเก็บกระสุนไว้ หากจำเป็นก็อาจใช้เครื่องมืออื่นก่อน เช่น การลด FIDF ก่อน

ขณะที่นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็คาดการณ์เป็นไปในทิศทางเดียวกับนักวิเคราะห์อื่นๆว่ากนง.น่าจะคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำมาก ดังนั้นโจทย์ใหญ่มากกว่าและเป็นสิ่งที่ต้องทำมากกว่าลดดอกเบี้ยคือ การติดตามผลของมาตรการหรือติดตามคุณภาพของมาตรการที่ออกไปว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เช่น ซอฟท์โลนว่าจะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือไม่เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้นในช่วงวิกฤตินี้เพิ่มเติมหรือไม่