'คณิศ'ชง กพอ.หนุนสมาร์ทซิตี้ รองรับประชากร EEC เพิ่ม 1 ล้านคน

'คณิศ'ชง กพอ.หนุนสมาร์ทซิตี้  รองรับประชากร EEC เพิ่ม 1 ล้านคน

ถึงแม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการลงทุนในไทย แต่ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนยังพร้อมลงทุน ซึ่งภาครัฐต้องสร้างความพร้อมเพื่อรับการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาว เช่น เมืองฉัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเดือน ส.ค.2563 จะมีการพิจารณาวาระการส่งเสริมการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะ (สมาร์ท ซิตี้) 

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการสร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ให้กับคนที่เข้ามาทำงานในอีอีซีภายใน 15-20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีคนที่ย้ายเข้ามาในอีอีซีเพิ่ม 1 ล้านคน โดยหากไม่มีเมืองให้อยู่วิถีชีวิตของคนในพื้นที่จะมีปัญหา จึงต้องเตรียมพื่นที่ไว้ให้ โดยจะเป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดทำ 4-5 ปี พื้นที่ละ 2,000-3,000 ไร่

สำหรับเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะมีกรอบการพัฒนาที่ภาครัฐกำหนด 7 ด้าน คือ คน ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ พลังงาน หน่วยงานรัฐ สิ่งแวดล้อมและคมนาคม ซึ่งต้องมีการเตรียมพื้นที่สีเขียว 30% ของพื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งมีการขนส่งเชื่อมต่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน และต้องอยู่ในระยะ 30 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้เข้าองค์ประกอบของการเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก

“สิ่งที่ตั้งใจไว้คือในพื้นที่ของเมืองใหม่อัจฉริยะ หรือสมาร์ท ซิตี้ จะไม่เป็นเพียงที่อยู่อาศัย แต่จะเป็นพื้นที่ทำงานได้ด้วย และต้องมีจุดค้าขาย มีศูนย์กลางธุรกิจ มีโรงเรียน โรงพยาบาล"

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า ที่ผ่านมามีเอกชนที่สนใจพัฒนาสมาร์ทซิตี้เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการเงินได้มาหารือกับ สกพอ.โดยต้องการให้ภาครัฐสร้างความชัดเจนในเรื่องของรูปแบบการพัฒนาเมือง มาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเมื่อ กพอ.พิจารณาในครั้งนี้จะสร้างความชัดเจนเพิ่มขึ้น รวมทั้ง สกพอ.ต้องมาช่วยดูประเด็นกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการพัฒนาพัฒนาสมาร์ทซิตี้บริเวณ จ.ฉะเชิงเทราได้มีกลุ่มเอกชนจากประเทศจีนแสดงความสนใจโดยมีแนวคิดที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งโครงการนี้จะผลักดันเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ที่จะเปิดประมูลโครงการได้ภายในเวลาอีกไม่นานเพราะมีภาคเอกชนที่สนใจที่จะลงทุนอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สกพอ.มีแผนส่งเสริมการลงทุนพัฒนาสมาร์ทซิตี้หลายพื้นที่ เช่น ฉะเชิงเทรา รวมทั้งการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เพื่อให้เป็นโครงการต่อเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่อีอีซี เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการเมืองการบินภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา

159654562596

นายคณิศ กล่าวว่า สกพอ.ได้หารือกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพื่อเตรียมบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่จะเข้ามาทำงานในอีอีซี รวมทั้งการเตรียมพื้นที่สำหรับพัฒนา “ซิลิคอล วัลเลย์” ที่ร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐ ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับสหรัฐถึงการพัฒนาร่วมกัน

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ประสาน สกพอ.ให้ประชุมทางไกลร่วมกับเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ 20-30 ประเทศ เพื่อขอให้เอกอัครราชทูตไทยช่วยดึงการลงทุนจากบริษัทที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่ไทยต้องการให้เข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5 จี ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการแพทย์และการดูแลสุขภาพ การพัฒนาเมือง

รวมทั้งมาตรา 59 พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 ให้อำนาจ กพอ.พิจารณาให้สิทธิประโยชน์อื่นใดตามที่เห็นสมควรได้ แม้ธุรกิจเหล่านี้จะไม่อยู่ในรายการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้เท่าบีโอไอ ซึ่งปัจจุบันมีบางธุรกิจที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด 13 ปี แต่ กพอ.เลือกธุรกิจที่จะส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ได้ แต่ต้องหารือกับบีโอไอต่อไปเพื่อไม่ขัดแย้งกัน

“บริษัทฝรั่งเศสที่ไทยอยากให้มาลงทุน คือ อุตสาหกรรมการบิน ส่วนบริษัทของสหรัฐที่อยากให้มาลงทุนเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ เช่น FedEx หรือ United Parcel Service (UPS) ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งสินค้าและไปรษณีย์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ โดยถ้าต้องการให้มาลงทุน กพอ.พิจารณาสิทธิประโยชน์เป็นกรณีพิเศษให้ได้ โดยส่งรายชื่อบริษัทที่ต้องการให้มาลงทุนในอีอีซีให้ทูตช่วยประสาน พร้อมแจ้งว่า กพอ.ช่วยออกแบบสิทธิประโยชน์ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาบางบริษัทไม่ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ต้องการให้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ”

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วมี 3 โครงการ คือ 

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) 

2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

3.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง เฟส 3 (ท่าเทียบเรือ F) คาดว่าลงนามได้ในเดือน ส.ค.นี้ ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วยบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทในกลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited

รวมมูลค่าลงทุน 4 โครงการ วงเงิน 650,000 ล้านบาท และเมื่อรวมการลงทุนผ่านบีโอไอปีละ 200,000 ล้านบาท ขณะนี้ถือว่าทำได้ 55% ของเป้าหมายการลงทุน 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแล้ว โดยปี 2564 จะมีเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการ รวมมูลค่า 70,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่จะเวนคืนที่ดิน การก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา

ในขณะที่โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) อยู่ระหว่างเตรียมการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน