ร.ฟ.ท.ลุยมาร์เก็ตซาวดิ้ง ดันลงทุนต่อขยายไฮสปีด

ร.ฟ.ท.ลุยมาร์เก็ตซาวดิ้ง  ดันลงทุนต่อขยายไฮสปีด

ร.ฟ.ท.เดินหน้าฟังเสียงชาวเมืองตราด ดันสร้างส่วนต่อขยายไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ชี้เป็นส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวภาคตะวันออก ตั้งเป้าประมูลปี 2565

ว่าที่ร้อยตรีพิเชียน ลิมป์หวังอยู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด โดยพบว่าความเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนสนับสนุนการพัฒนาโครงการแม้ว่าผลการศึกษาโครงการในเบื้องต้น จะแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เพียง 5% โดยหากคุ้มค่าจะต้องมี EIRR สูงถึง 12% แต่หากมองภาพรวมผลบวก ไฮสปีดสายดังกล่าวจะเข้ามาสนับสนุนการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่

สำหรับโครงการไฮสปีดสายดังกล่าว มีแนวเส้นทางโครงการที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ 11 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ประกอบด้วย สถานีรถไฟ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีระยอง สถานีแกลง สถานีจันทบุรี และสถานีตราด และมีศูนย์ซ่อมบำรุงจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงจังหวัดระยอง มีระยะทางรวมประมาณ 190 กิโลเมตร (กม.)

ส่วนจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยองรูปแบบแนวคิดการออกแบบสถานี ร.ฟ.ท.ได้คำนึงถึงความสะดวกสบายในการใช้บริการ รวมทั้งได้ออกแบบให้มีการผสมผสานแสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยการนำรูปทรงผลไม้ที่โดดเด่นในแต่ละพื้นที่ มาประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตย์ ส่งเสริมนโยบายการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก

ทั้งนี้คาดว่าจะศึกษาโครงการแล้วเสร็จ ส.ค.2563 หลังจากนั้นจะเสนอขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2564 ก่อนจัดทำเอกสารร่วมทุน ในลักษณะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ควบคู่ไปกับการจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แล้วเสร็จในปี 2565 ได้ตัวผู้ลงทุน เดินหน้าออกแบบและก่อสร้าง ในปี 2567 ทดสอบระบบ และเปิดให้บริการในปี 2571