ต่างชาติถล่มขายหุ้น‘AOT’ พิษปรับแผนเยียวยาผู้เช่า

ต่างชาติถล่มขายหุ้น‘AOT’ พิษปรับแผนเยียวยาผู้เช่า

มูลค่าหุ้น “เอโอที”วูบเกือบ 8 หมื่นล้านบาทใน 3 วัน พิษราคาหุ้นดิ่งหนัก 10% หลังบริษัทอนุมัติแผนช่วยเหลือ “คิง เพาเวอร์” นักวิเคราะห์ประเมินกระทบผลประกอบการบริษัทกว่า 1.3 แสนล้านบาท พร้อมหั่นเป้าลงเหลือ 45 บาท ขณะ ‘เอ็นวีดีอาร์’ถล่มขาย 6.5 ล้านหุ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามูลค่าหุ้นของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ในช่วง 3 ทำการที่ผ่านมาลดลงไปเกือบ 8 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากการที่ราคาหุ้นของบริษัทลดลงจากราคาปิดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 54.50 บาท มาอยู่ที่ 49.75 บาท ในวานนี้(3ส.ค.) หรือลดลงราว 8.7% ภายหลังจากที่คณะกรรมการบริหารของ AOT อนุมัติการเปลี่ยนวิธีการเก็บเงินการันตีขั้นต่ำจาก บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการดิวตี้ ฟรี ภายในสนามบินของ AOT

โดยวิธีการเก็บเงินที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ จะอิงจากจำนวนผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงที่จำนวนผู้โดยสารยังต่ำกว่าประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่ KPD ประเมินไว้ตอนเข้าร่วมประมูล นอกจากนี้จากการระบาดของโควิด-19 บริษัท KPD และบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) จึงไม่สามารถติดต่อพันธมิตรการค้าเพื่อเตรียมความพร้อมในการเริ่มเปิดให้บริการ

ดังนั้น AOT จึงขยายเวลาในการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ของดิวตี้ฟรีตามที่ได้กำหนดไว้ในเฟส 1 ของสัญญา ตั้งแต่ 28 ก.ย. 2563 – 31 มี.ค. 2565

ภายหลังจากเผยแพร่การอนุมัติแผนดังกล่าว พบว่าการซื้อขายสุทธิผ่านเอ็นวีดีอาร์ (NVDR) ระหว่างวันที่ 30 – 31 ก.ค. ที่ผ่านมาเป็นขายสุทธิต่อเนื่องรวมกัน 6.5 ล้านหุ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณายอดสุทธิตลอดทั้งเดือน ก.ค. 2563 ผ่านเอ็นวีดีอาร์ ยังคงเป็นการซื้อสุทธิอยู่ 9.2 ล้านหุ้น

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์ เปิดเผยว่าจากการสอบถามความเห็นของนักลงทุนต่างชาติบางรายมองว่าการตัดสินใจของบริษัทในครั้งนี้ไม่ดีนัก เพราะไม่ตรงไปตรงมาตามสัญญา และด้วยแรงกดดันจากการท่องเที่ยวที่มีการประเมินกันว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับสู่ระดับปกติอาจต้องรอถึงปี 2565 หรือปี 2567 จึงยิ่งเป็นแรงกดดันต่อราคาหุ้น AOT

“การตัดสินใจที่เกิดขึ้นยิ่งเป็นประเด็นกดดันต่อหุ้น AOT มากขึ้นพอสมควร จากการที่บริษัทเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เช่ามากขนาดนี้ อย่างไรก็ตามหากมองในระยะยาว เมื่อราคาหุ้นลดลงมาถึงราคาเป้าหมาย หรือต่ำกว่าราคาเป้าหมายใหม่นี้ นักวิเคราะห์อาจมีการปรับคำแนะนำการลงทุนได้”

ทั้งนี้ เราไม่เห็นด้วยกับการที่ AOT ตัดสินใจให้ส่วนลดเงินการันตีขั้นต่ำโดยไม่เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เนื่องจากเราคาดว่าผลกระทบต่อ AOT จากการออกส่วนลดครั้งนี้จะอยู่ที่ 1-1.5 แสนล้านบาท ขณะที่เราคาดว่า AOT น่าจะหาวิธีที่ดีกว่านี้เพื่อชดเชยให้กับทาง คิง เพาเวอร์ จากผลกระทบจากโควิด-19

อย่างไรก็ตามการยืดเวลาในการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ไม่ได้ส่งกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประมาณการของเรา เนื่องจากบริษัทได้มีการผ่อนปรนไม่เก็บเงินการันตีขั้นต่ำในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนวิธีคำนวณเงินการันตีขั้นต่ำจะฉุดให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ลดลง 5.3% จึงปรับลดคำแนะนำจาก ซื้อ เป็น ขาย

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า มาตรการขยายระยะเวลาเลื่อนการชำระผลประโยชน์ตอบแทน ค่าเช่าพื้นที่ และค่าบริการต่างๆ ไม่ได้กระทบอย่างมีนัย เนื่องจาก AOT มีเงินสด ส่วนการปรับวิธีคิดผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำเป็นลบต่อประมาณการของเราและตลาด เพราะโอกาสที่ AOT จะได้เงินตามสัญญาประมูลก็ต่อเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาที่ระดับ 66 ล้านคน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นหลังปี 2565 เทียบกับก่อนหน้าที่ AOT จะได้รับรู้ทันทีหลังหมดมาตรการเยียวยา หรือในครึ่งปีหลังของผลประกอบการงวดปี 2564-2565

นอกจากนี้หากนักท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ช้ามีโอกาสที่จะกระทบประมาณการปี 2566 เช่นกัน อย่างไรก็ดี เราคาดระยะยาวผลกระทบจำกัดจากมุมมองนักท่องเที่ยวจะกลับมาทำระดับสูงสุดใหม่ในปี 2567-2568 หรือภายใน 5 ปีหลังเกิดเหตุการณ์

โดยรวมเราคงประมาณการกำไรปกติปี 2562-2563 เป็น 2.3 พันล้านบาท ลดลง 91% จากปีก่อน และประมาณการกำไรปกติปี 2563-2564 ที่ 5 พันล้านบาท แต่ปรับลดประมาณการกำไรปกติปี 2564-2565 เป็น 1.4 หมื่นล้านบาท จากผลกระทบของการปรับวิธีคิดคำนวณดังกล่าว ส่งผลให้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2562-2563 ปรับลดเป็น 52.50 บาทต่อหุ้น