ตลาดบอนด์ ‘ยางอะไหล่’ เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย (ตอน1)

ตลาดบอนด์ ‘ยางอะไหล่’ เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย (ตอน1)

ย้อนรอยวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 ที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากล้มละลายและเกิดภาวะขาดแคลนสินเชื่อซึ่งนำไปสู่การชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ การสนับสนุนระหว่างตลาดเงินและตลาดทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ดังที่ Alan Greenspan อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยตลาดทุนสามารถเป็นยางอะไหล่ หรือ “spare tire” ให้กับเศรษฐกิจและช่วยบรรเทาภาวะถดถอยหรือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่ผ่านมาเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ว่าขนาดของตลาดเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย แต่อัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นจาก 10% ในปี 2008 เป็น 22% ในปี 2019 หรือ มีขนาด 1 ใน 5 ของ GDP จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามและประเมินถึงประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของตลาดตราสารหนี้ควบคู่ไปกับขนาดที่ใหญ่ขึ้นนั้น เป็นการเติบโตที่มีคุณภาพหรือไม่

ตลาดตราสารหนี้เอกชนของไทยในปัจจุบันมีมูลค่าคงค้าง (outstanding) อยู่ในระดับที่สูงกว่ามูลค่าสินเชื่อภาคธุรกิจจากธนาคารแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงการลดการพึ่งพาสินเชื่อจากภาคธนาคารลง ได้ตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายที่มาของแหล่งเงินทุน (diversification of funding sources) ตราสารหนี้เอกชนจึงเปรียบเสมือนยางอะไหล่ให้กับเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต และอาจจะกลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันได้

จากการศึกษาเปรียบเทียบจำนวนผู้ออกตราสารหนี้เอกชนรายปี พบว่าช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 มีการออกตราสารหนี้เพียง 1-2 หมวดธุรกิจ (sector) แต่หลังวิกฤตทางการเงินปี 2008 พบว่าผู้ออกตราสารหนี้มีแนวโน้มที่หลากหลายมากขึ้น โดยในปี 2019 เพิ่มเป็น 24 หมวดธุรกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดตราสารหนี้เอกชนมีความหลากหลายของผู้ออกตราสาร (diversification of issuer profiles)

ในแง่ของธรรมาภิบาลของผู้ออกตราสาร บริษัทจดทะเบียนที่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้ส่วนมากเป็นบริษัทที่ได้รับคะแนนด้านธรรมาภิบาล (CG Score) อยู่ในระดับ 4 และ 5 ดาว ในปี 2015 บริษัทจดทะเบียนที่มีระดับ CG Score 5 ดาว มีเพียง 17 บริษัท และเพิ่มขึ้นเป็น 48 บริษัทในปี 2019 ซึ่งเป็นปริมาณที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทที่มี CG Score ระดับอื่น และพบว่าระดับ CG Score ของบริษัทจดทะเบียนที่ระดมทุนโดยออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่มีอันดับคงที่ นอกจากนี้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทได้รับการปรับ CG Score เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าถูกปรับลดลง

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ตลาดตราสารหนี้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนยางอะไหล่ (spare tire) ให้กับเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤตที่สินเชื่อธนาคารมีความตึงตัวและช่วยลดการพึ่งพิงภาคธนาคาร ตลาดตราสารหนี้ของไทยเติบโตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ มีความหลากหลาย รวมทั้งระดับความน่าเชื่อถือและธรรมาภิบาลของผู้ออกตราสารหนี้ปรับสูงขึ้นด้วย