'วิชา' รับลูกนายกฯ รื้อคดีบอส เรียกตรวจทุกสำนวน ตั้ง4ทีมสอบตำรวจ-อัยการ

'วิชา' รับลูกนายกฯ รื้อคดีบอส เรียกตรวจทุกสำนวน ตั้ง4ทีมสอบตำรวจ-อัยการ

“ประยุทธ์” สั่งศึกษากฎหมายใช้อำนาจนายกฯรื้อคดี “บอส อยู่วิทยา” ขณะที่ “วิชา” ชี้นายกฯ เสนอแนะได้ ประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนัดแรกตั้ง 4 คณะทำงาน พร้อมเรียกตรวจทุกสำนวนจากตำรวจและอัยการ ส่วน กมธ.ประสานญาติฟ้อง “ตำรวจ-อัยการ” ผิดม.157

ความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำสำนวนคดีของนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยาในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 วานนี้ (3 ส.ค.) การประชุมนัดแรกของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน โดยนายวิชา กล่าวก่อนประชุมว่า คณะกรรมการของตนยังไม่ได้มีการหารือว่าคดีของนายวรยุทธได้สิ้นสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจสั่งอัยการให้มีการรื้อคดีได้อยู่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีมีข้อเสนอแนะได้

นายวิชากล่าวภายหลังการประชุมอีกครั้งว่า คณะกรรมการฯจะมีการขอสำนวนหลักฐานต่างๆ จากอัยการ รวมไปถึงสำนวนของตำรวจ ที่สน.ทองหล่อทำมาตั้งแต่ต้น และสำนวนของอัยการที่ทำส่งไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วย เพราะทุกสำนวนจะต้องส่งมาให้เราทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีมติแต่งตั้งคณะทำงาน 4 ชุด แบ่งเป็นชุด 1.นายบวรศักดิ์ สุวรรณโณ เป็นประธานด้านการตรวจสอบอัยการ 2.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ เป็นประธานด้านการตรวจสอบตำรวจ 3.นายวิศิษฐ์ วิศิษฐ์สรอัรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานด้านการตรวจสอบบุคคลทั่วไป กรรมาธิการ พยานต่างๆ 4.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาฯกฤษฎีกา เป็นประธานตรวจสอบด้านกฎหมาย

\'วิชา\' รับลูกนายกฯ รื้อคดีบอส เรียกตรวจทุกสำนวน ตั้ง4ทีมสอบตำรวจ-อัยการ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ตนคงไม่ไปก้าวล่วงการทำงานของคณะกรรมการ เพราะตนอยู่อำนาจบริหาร ชุดนี้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าเสนออะไรมาที่ตน หากอยู่ในกรอบที่ตนทำได้ก็จะทำ ซึ่งต้องดูต่อว่าทำไมจึงมีฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายปฏิรูปกฎหมายเข้ามาด้วย ต้องดูว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร ขั้นตอนทำให้เกิดปัญหาหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า นักวิชาการเสนอให้นายกฯใช้อำนาจรื้อคดี จะทำได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “กำลังให้เขาศึกษาอยู่ กรรมการดูอยู่ว่าตนสามารถรื้อได้หรือไม่ วันนี้อยู่ในขั้นตอนการทำให้เกิดข้อเท็จจริงว่าอยู่ในขั้นตอนไหน และดูว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ อำนาจมันคนละอำนาจกัน”

เมื่อถามว่า การที่นายกฯสั่งอายัดศพนายจารุชาติ มาดทอง 1 ในพยานคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจตายเมื่อปี 2555 แสดงว่าเห็นว่าการตายมีความผิดปกติใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่ตนฟังมาจากสื่อ สังคม ประชาชน ที่ให้ความสงสัย ตนจึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนเท่านั้นเอง และในฐานะที่ผมมีอำนาจควบคุมตำรวจ

\'วิชา\' รับลูกนายกฯ รื้อคดีบอส เรียกตรวจทุกสำนวน ตั้ง4ทีมสอบตำรวจ-อัยการ

“ผมก็สั่งตำรวจไปว่าทำได้หรือไม่ ต้องไปคุยกับญาติเขาว่าตกลงหรือไม่ เลื่อนวันเผาไปวันหน้าได้หรือไม่ เพื่อที่จะทำการผ่าศพพิสูจน์ ดูว่ามีหลักฐานอะไรหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จบตรงนั้นไป คือ ต้องลดปัญหาต่างๆ ที่พูดกันลงมาให้ได้ด้วยข้อเท็จจริง”

เมื่อถามว่า คดีนี้เข้าสู่การพิจารณาเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เดี๋ยวเขาคงพิจารณา กรรมการก็ต้องว่ามา” เมื่อถามว่า นายกฯได้ติดตามมาตลอดและเห็นว่ามีข้อพิรุธเช่นกันใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้ติดตามข่าวนี้มาตลอด แต่ตนไม่ได้ตัดสินใจ มันอยู่ในใจอยู่ และยังพูดอะไรไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม

“นักวิชาการ”ชี้ก.ม.มีทางออกรื้อคดี

นายมุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนขออนุญาตไม่ตอบกรณีการรื้อคดี เพราะคิดว่าควรให้คณะกรรมการฯ ได้มีการพูดคุยกันก่อน และหลังจากพูดคุยน่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะยากอะไร เพราะกฎหมายมีทางออกเสมอ อยู่ที่ผู้มีอำนาจจะใช้ช่องทางทางกฎหมาย เพียงแต่ผู้มีอำนาจจะนำช่องทางเหล่านั้นมาใช้หรือไม่

\'วิชา\' รับลูกนายกฯ รื้อคดีบอส เรียกตรวจทุกสำนวน ตั้ง4ทีมสอบตำรวจ-อัยการ

ส่วนอำนาจของนายกรัฐมนตรีจะสามารถไปสั่งการหรือคดีได้หรือไม่นั้น เดาว่านายกฯต้องการให้คณะกรรมการชุดนี้ทำงานโดยอิสระ เพราะตนก็เข้ามาเป็นกรรมการในฐานะนักวิชาการ ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านเข้ามา น่าจะมีความประสงค์ให้มีเป็นอิสระ

“ผมเชื่อว่าคดีดังกล่าวไม่ได้ซับซ้อนตามกฎหมาย แต่ซับซ้อนในข้อเท็จจริง เพราะอยากรู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ต้องหาความจริงให้ปรากฏ และเมื่อความจริงปรากฏก็จะเห็นข้อเท็จจริงปรากฏก็จะเห็นช่องทางทางกฎหมาย ส่วนใช้เวลา 30 วัน เพียงพอหรือไม่นั้น เชื่อว่าพอในการทำงานบางอย่างต้องขอย้ำว่าคณะกรรมการไม่ใช่ศาล ไม่สามารถจะชี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยน่าจะประเมินได้ว่าข้อสงสัยมันมีมูลหรือไม่ เพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนอย่างจริงจังต่อไป”

ศรีสุวรรณยื่นป.ป.ช.สอบอัยการสูงสุด

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมาที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อยื่นคำร้องให้ดำเนินการไต่สวนและสอบสวนกรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ในทุกข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้ทำเรื่องขออนุมัติศาลเพิกถอนหมายจับในคดีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อแม้อัยการจะพยายามชี้แจงว่าเป็นไปตามเกณฑ์ปกติของการพิจารณาสั่งคดีอาญาของพนักงานอัยการอยู่แล้ว แต่ทว่าคำชี้แจงดังกล่าวเป็นการปัดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายอัยการ ไปให้ฝ่ายตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบในการทำสำนวนคดีทั้ง ๆ ที่ตามอำนาจหน้าที่ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของอัยการ 2547 อัยการมีอำนาจในการตรวจสอบสำนวนคดี และหากพบข้อพิรุธใดๆ ในสำนวนคดีก็มีอำนาจที่จะย้อนสำนวนให้ฝ่ายตำรวจได้ชี้แจงหรือสอบสวน หรือหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

ยังมีกรณีมหาวิทยาลัยมหิดลแจ้งพนักงานสอบสวนว่าตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของผู้ต้องหา แต่กลับไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานดังกล่าวในสำนวนการสอบสวนแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ประเด็นดังกล่าวมีการนำเสนอของสื่อมวลชนมาตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อปี 2555 แล้ว แต่อัยการกลับอ้างว่า ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานดังกล่าวในสำนวนการสอบสวนแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาฐานเสพยาเสพติดแต่อย่างใด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของอัยการผู้สั่งคดีโดยชัดแจ้ง อันหมายถึงฝ่าตำรวจเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าวด้วย

ที่เลวร้ายไปกันใหญ่เมื่อฝ่ายตำรวจอ้างว่า ได้รับการยืนยันจาก หมอฟันว่าสารที่ตรวจพบในร่างกายนายวรยุทธเป็นยาที่ให้ผู้ต้องหาในการรักษาฟันที่มีส่วนผสมของสารโคเคนอยู่ ทำให้ไม่สั่งฟ้องเรื่องสารเสพติด ซึ่งทำให้เหล่าหมอฟันต้องออกมาชี้แจงว่าประเทศไทยไม่มีการใช้โคเคนในทางทันตกรรมมามากกว่า 100-150 ปีแล้ว แต่ตำรวจกลับไปนำเรื่องการทำฟันมาเฉไฉเพื่อกลบเกลื่อนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในตัวผู้ต้องหาเสียสิ้น สุดท้ายพอสังคมจับได้กลับอ้างว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเสียอย่างน่าละอาย

“ชวน”ติวเข้มกมธ.ไม่เรียกสอบซ้ำซ้อน

ขณะเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จัดประชุมพิจารณาเรื่องซ้ำซ้อนกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธเช่นกัน โดยเชิญประธานคณะกรรมาธิการ 3 คณะที่พิจารณาเรื่องเดียวกันคือ นายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมการการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และนายนิโรธ สุทรเลขา ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ

นายชวน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว โดยการที่ตนไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกัน เพราะไม่ต้องการรบกวนข้าราชการ หรือบุคคลภายนอก ที่ต้องเข้ามาชี้แจง เพราะหากกรรมาธิการทั้ง 3 คณะเชิญตำรวจ อัยการ หรือองค์การต่างๆ ทุกคณะ ก็จะต้องมา 3 ครั้ง ซึ่งถือเป็นภาระและความเดือนร้อน ดังนั้นตามระเบียบแล้วจึงต้องการให้กรรมาธิการที่มีความซ้ำซ้อนสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยต้องมีกรรมาธิการชุดใดชุดหนึ่งเป็นเจ้าภาพของเรื่องนั้นๆ เพื่อมาประชุมร่วมกัน

สำหรับกรณีที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. ขอบันทึกการประชุมของกรรมาธิการการกฎหมาย สนช. ที่พิจารณาคดีนายวรยุทธ์ เพื่อมาเปิดเผยต่อสังคมนั้น ข้อมูลอะไรที่นำมาเปิดเผยได้ก็สามารถเปิดเผยได้ แต่เรื่องที่ขอมาตนยังไม่เห็นรายละเอียด เบื้องต้นทราบว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบอยู่ แต่ยืนยันว่า รายงานของกรรมาธิการการกฎหมายสามารถนำมาเปิดเผยได้ เว้นแต่การประชุมลับและมีมติไม่ให้เปิดเผย ดังนั้นตนจึงไม่ทราบว่า กรณีดังกล่าวกรรมาธิการฯ ประชุมแบบลับหรือไม่

ดึงญาติฟ้องตำรวจ-อัยการเปิดทางรื้อคดี

ขณะที่นายนิโรธ กล่าวว่า ได้แจ้งต่อนายชวนแล้วว่า ขณะนี้ภารกิจในการตรวจสอบคดีของนายวรยุทธในส่วนของคณะกรรมการตำรวจถือว่าเสร็จสิ้นแล้ว เพราะได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงและได้ข้อมูลในระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องของความเร็วของรถและสารเสพติดก็เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้รวบรวมเอกสารข้อมูลต่างๆ เพื่อมอบให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรภายในสัปดาห์นี้ เพื่อส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวนครั้งนี้ไม่น่าจะถูกต้องชอบธรรม และควรรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ ถ้ารื้อฟื้นคดีโดยมรดกตกทอด ทางทายาทในเรื่องฟ้องคดีอาญานั้นพบทางตัน แต่กรรมาธิการฯ มองว่าน่าจะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งฟ้องตำรวจและอัยการตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งหากศาลเห็นว่ากระทำผิดก็สามารถนำคดีกลับมารื้อฟื้นใหม่ได้ ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการฯ กำลังประสานกับญาติของดาบตำรวจที่เป็นพี่หรือน้อง เพื่อให้ข้อเสนอแนะและให้ความช่วยเหลือ เพื่อรื้อฟื้นคดีต่อไป

ชันสูตรชี้“จารุชาติ”เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

รศ.พญ.กานดา เมฆใจดี หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงผลการชันสูตร​ศพรอบที่ 2 ของนายจารุชาติ​ มาด​ทอง​ ที่เป็นพยานคนสำ​คัญ​ในคดีของนายวรยุทธ ว่า สรุปการเสียชีวิตของผู้ตายมีการถลอกด้านซ้ายของศีรษะ บ่าซ้าย เลือดออกที่ฐานก้านสมองเลือดออกที่บริเวณก้านสมอง ซึ่งนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต

“ตามทฤษฎีผู้ตายมีแอลกอฮอล์ในเลือดกว่า 218 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทำให้ร่างกายขาดการควบคุม พอเกิดการกระแทกจากอุบัติเหตุ ปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อเสียไป เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ ทำให้เกิดการสะบัด ระหว่างล้ม ทำให้เกิดการปริแตกของเส้นเลือดในก้านสมอง ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเราได้ทำการผ่าตรวจพิสูจน์ทุกจุดหมดแล้วไม่มีอะไรน่าสงสัย”

ส่วนการตรวจสารพิษอื่นๆในร่างกายก็กำลังรอผลแล็บที่จะออกในอีกไม่กี่วันก็จะมีการชี้แจ้งอีกครั้งหนึ่ง