ผลสำรวจ ม.หอการค้าไทย SME ประคองธุรกิจได้ 6 เดือน

ผลสำรวจ ม.หอการค้าไทย SME ประคองธุรกิจได้ 6 เดือน

ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจ SME ประคองตัวได้ 6 เดือน กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์อาการหนักสุด หวั่นโควิดฉุดเศรษฐกิจปีนี้ 3 ล้านล้านบาท แนะทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

นางสาวอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การสำรวจผลกระทบโควิด-19 ต่อเอสเอ็มอี ซึ่งสำรวจวันที่ 20–24 ก.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 800 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ

เอสเอ็มอี 61.7% ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด รองลงมา 26.9% ได้รับผลกระทบปานกลาง และ 11.2% ได้รับผลกระทบน้อย

สำหรับระดับผลกระทบพบว่าส่วนใหญ่ 40.8% ได้รับผลกระทบมาก รองลงมา 26.9% ได้รับผลกระทบปานกลาง ในขณะที่ 20.9% ได้รับผลกระทบมากที่สุด และ 11.2% ได้บผลกระทบน้อย โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณีและหัตกรรม

เมื่อสอบถามประเด็นกรณีไม่มีรายได้เข้ามาหรือเข้ามาน้อยมากจะประคองธุรกิจได้นานเท่าไหร่ โดยเฉลี่ยจะประคองธุรกิจประมาณ 6 เดือน และถ้าลงรายละเอียดได้ ดังนี้

ธุรกิจที่ประคองธุรกิจได้น้อยที่สุด 3 เดือน คือ ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์

ธุรกิจที่ประคองตัวได้ 6 เดือน คือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการ ธุรกิจโรงแรมและเกสต์เฮ้าส์ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจที่ประคองตัวได้ 9 เดือน คือ ธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น ธุรกิจหัตถกรรม ธุรกิจพลาสติกและยาง ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร ธุรกิจบริการด้านความงาม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีข้อเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องการซอฟต์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่อง การพักชำระหนี้และการลดภาษี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ใหม่จากเดิมที่คาดการณ์ติดลบ 4.9% ถึงติดลบ 3.4% ปรับเป็นติดลบ 9.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว 2.098 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นผลจากมาตรการปิดเมืองที่กระทบต่อภาคท่องเที่ยวธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารค้าปลีกค้าส่งขนส่งและบันเทิง 1.5ล้านล้านบาท ผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกเกือบ 5 แสนล้านบาท ส่วนสถานการณ์ภัยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นคาดว่าทั้งปีจะมีความเสียหาย 3 ล้านล้านบาท

ขณะที่การส่งออกประเมินติดลบ 10.2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 12.0 ถึงลบ 8.8% การลงทุนรวมติดลบ 8% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 7.4 ถึงลบ 5.4% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าอยู่ที่ 7.03 ล้านคน หรือลดลง 82.3% จากเดิมคาดว่าจะมีนัท่องเที่ยวต่างชาติ 8.46-10.02 ล้านคน

นอกจากนี้ ตามที่ได้ประเมินว่าจีดีพีในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะติดลบ 15% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ และต่ำกว่าไตรมาส 2 ของปี 2541 ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่จีดีพีติดลบ 12% ส่วนไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ คาดว่าจะมีแนวโน้มทยอยดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการคลายล็อกแต่ละเฟสของภาครัฐ

159645958678

ขณะที่เม็ดเงินงบประมาณตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 400,000 ล้านบาท ยังไม่ถูกอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจภายในปีนี้มากนัก ดังนั้นภาครัฐจะต้องเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการใหม่ เช่น การเร่งดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชิมช็อปใช้เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นักวิชาการและเอกชนต้องการให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่เร่งออกมาตรการเติมเพิ่มในการพยุงเศรษฐกิจ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบการแจกเงินเหมือนการเยียวผู้ได้รับผลกระทบคนละ 5,000 บาท โดยควรผลักดันให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น แม้ว่าผลงานที่ออกมาจะเกิดประสิทธิภาพต่ำกว่าโครงการอื่น แต่ผลที่ได้ก็จะทำให้ประชาชนมีรายได้ในรูปแบบการทำงานและทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นหลายรอบ

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเร่งผ่อนคลายให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพราะมีปัญหาเข้าไม่ถึงและหลายกรณีธนาคารพาณิชย์ขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยต้องการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกัน

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีที่เข้ามีปัญหาสภาพคล่องถึงช่วงที่เหลือของปีนี้อาจต้องปลดแรงงาน 1.9 ล้านคน โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.นี้จะเห็นการปลดคนในระดับหลักล้านคนแน่นอน แต่หากเอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง ซึ่งส่วนหนึ่งก็นำมาเป็นค่าจ้างพนักงานและใช้ในการบริหารจัดงานองค์กรก็จะช่วยประคองการจ้างงานได้ 10 เดือน