เจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ รับบริการเกือบ 6.4 หมื่นคน

เจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ รับบริการเกือบ 6.4 หมื่นคน

เผย 5 เดือน บัตรทองคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 4 แสนราย รักษาเกือบ 2.6 หมื่นคน ขณะที่ส่งยาผู้ป่วยทางไปรษณีย์ทะลุกว่า 1.21 แสนครั้ง ผู้ป่วยรับยาร้านยาใกล้บ้านเกือบ 2.63 หมื่นใบสั่งยา เจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ รับบริการเกือบ 6.4 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ (บอร์ด สปสช.) โดยที่ประชุมรับทราบผลดำเนินงานของ สปสช. ช่วงการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกองทุนบัตรทอง ร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อให้กับผู้ป่วยและลดการแพร่ระบาด ซึ่งภาพรวมจากข้อมูลเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 สปสช.ได้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายให้หน่วยบริการแล้วจำนวน 1,826,306,260 บาท โดยมีผลการดำเนินการดังนี้


การตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 และค้นหาผู้ติดเชื้อในระยะแรก ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด-19 ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับการส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ในระบบบัตรทอง 190 แห่ง แยกเป็นภาครัฐ 132 แห่ง และภาคเอกชน 58 แห่ง จากข้อมูล 2 มีนาคม - 20 กรกฎาคม 2563 มีประชาชนรับการตรวจคัดกรองและหน่วยบริการขอรับค่าใช้จ่าย 401,946 คน เป็นจำนวนเงิน 1,245 ล้านบาท โดยข้อมูลแยกตามสิทธิพบว่าเป็นผู้มีสิทธิประกันสังคมมากที่สุดร้อยละ 51 รองลงมา บัตรทองร้อยละ 34 และข้าราชการ/สิทธิพนักงานอง

ค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้อยละ 12
การรักษาพยาบาลกรณีโรคโควิด-19 สปสช.จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้หน่วยบริการที่รับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากระบบปกติ ครอบคลุมค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ, ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19, ค่าห้องควบคุมและค่าอาหาร, ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด 19, ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ ข้อมูลวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารักษาพยาบาล 25,953 คน รวมค่าเป็นค่าบริการ 524,252,240 บาท แยกเป็นบริการผู้ป่วยนอก 320 คน เบิกจ่ายจ่ายชดเชย 583,090 บาท บริการผู้ป่วยใน 1,580 คน เบิกจ่ายชดเชย 79,054,849 บาท และและผู้ป่วยกรณีเข้าเกณฑ์สอบสวน (IP-PUI) 24,053 คน เบิกจ่ายชดเชย 444,614,301 บาท


บริการจัดส่งยาหรือเวชภัณฑ์ให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ในผู้ป่วยอาการคงที่และตามการวินิจฉัยของแพทย์ ลดความเสี่ยงผู้ป่วยเดินทางมายังหน่วยบริการ และสนับสนุนนโยบายเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยหน่วยบริการได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้านในอัตรา 50 บาทต่อครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน – 22 กรกฎาคม 2563 มีโรงพยาบาล 202 แห่ง จัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์แล้ว 121,119 ครั้ง เบิกค่าจัดส่ง 6,055,187 บาท ทั้งนี้ 3 อันดับแรกของผู้ป่วยที่จัดส่งยาทางไปรษณีย์ ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จำนวน 30,097 ครั้ง, ผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 19,879 ครั้ง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 3,996 ครั้ง


โครงการรับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบัน ขย.1 หรือโครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน เพื่อลดความแออัดโรงพยาบาลและลดเวลารอคอยรับยาของผู้ป่วยบัตรทอง โดย สปสช.สนับสนุนค่าจัดบริการให้กับโรงพยาบาลในอัตรา 33,000 บาท/ร้านยา และร้านยา 70 บาท/ใบสั่งยา ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 มีหน่วยบริการ 130 แห่ง และร้านยา 1,199 แห่งเข้าร่วม ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 สปสช.เบิกจ่ายค่าบริหารจัดการให้กับโรงพยาบาล 122 แห่ง รวมเป็นเงิน 37,323,000 บาท และร้านยาที่ส่งบันทึกข้อมูลเบิกจ่าย 26,293 ใบสั่งยา เป็นจำนวนเงิน 1,840,510 บาท รวมเบิกจ่ายโครงการผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน 39,163,510 บาท


บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ นโยบายกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และลดความแออัดในห้องฉุกเฉิน โดยจัดบริการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วนและเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเวลาราชการเพิ่มเติม ช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น โดยกองทุนบัตรทองดูแลค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 - 20 กรกฎาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 63,692 คน เป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชยทั้งสิ้น 11,852,250 บาท