'หมอพรทิพย์' มองคดี 'จารุชาติ' เสียชีวิต เป็นการด่วนสรุป ย้ำ ต้องชันสูตรศพ

'หมอพรทิพย์' มองคดี 'จารุชาติ' เสียชีวิต เป็นการด่วนสรุป ย้ำ ต้องชันสูตรศพ

"พญ.คุณหญิงพรทิพย์" ตั้งข้อสังเกตคดี "จารุชาติ" เสียชีวิต เป็นการด่วนสรุป ใช้หลักฐานเพียงกล้องวงจรปิด ย้ำ ต้องชันสูตรศพ เพื่อให้ชัดเจนถึงเหตุของการเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุของ นายจาจุชาติ มาดทอง พยานในคดีของ นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ว่า ตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 148 กำหนดว่า การระบุเรื่องการตายผิดธรรมชาติต้องชันสูตรพลิกศพ แต่ไม่ได้บอกวิธีว่าต้องทำอย่างไร ในกรณีของนายจารุชาติ ไม่แน่ใจว่ามีการผ่าศพหรือไม่ ขณะเดียวกัน มาตรา 150 มีการกำหนดว่า ทุกครั้งที่มีการตาย ให้ตามแพทย์นิติเวชมาตรวจสอบ

“ส่วนตัวได้ประมวลติดตามคดีดังกล่าว เป็นการด่วนสรุป โดยอ้างอิงจากหลักฐานกล้องวงจรปิด ถือเป็นการสรุปเร็วเกินไป มาถึงตอนนี้ยอมรับว่า การตรวจของหมอนิติเวชเป็นไปได้ยาก เนื่องจากศพเริ่มเน่าเปื่อย แต่เห็นว่าในคดีนี้ต้องทำให้ครบทุกขั้นตอน เพื่อตอบโจทย์ข้อสงสัยทุกอย่าง” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว และแสดงความเชื่อมั่นในการชันสูตรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า การมองภาพใหญ่คดีบอส อยู่วิทยา ขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต สะท้อนถึงภาพรวมกระบวนการยุติธรรมในภาพใหญ่ทั้งหมด ทั้งเรื่องกระบวนการสืบสวนสอบสวน การตรวจสถานที่เกิดเหตุ และการชันสูตรศพ ซึ่งตามกฎหมายเดิมกำหนดให้ใช้ดุลพินิจของตำรวจในการเก็บพยานหลักฐาน และการดำเนินการ ซึ่ง เป็นความไม่สมบูรณ์ที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมตั้งแต่แรกเริ่ม

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยังกล่าวถึง การร้องขอความเป็นธรรม ว่า ตามปกติต้องมี แต่ในอดีตที่ผ่านมา กรรมาธิการหลายคนผลักดัน ว่าไม่ควรมีการตรวจสอบซ้ำ แต่ครั้งนี้หลายคนต่างเห็นพ้องต้องกัน ว่าควรจะมีการตรวจสอบซ้ำ ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ขณะเดียวกัน ประชาชนยังไม่มีความรู้ของสิทธิประชาชน และสิทธิของเหยื่อ โดยเฉพาะเหยื่อ ไม่รู้ว่านำหลักฐานใดใส่ไปในสำนวนคดีบ้าง เพราะมักอ้างว่าเป็นความลับในคดี ทำให้สุดท้ายอาจตายฟรี แต่ตามหลักสากล เป็นสิทธิของเหยื่อที่จะเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด และว่า ที่ผ่านมา พยายามผลักดันมาตรฐานกลางตามสากล ว่าการตายหมอนิติเวชจะต้องไปจุดเกิดเหตุ และกำหนดให้มีการผ่าชันสูตรศพ ต้องมีขั้นตอนให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มี