รู้จักพายุ 'ซินลากู' และวิธีเอาตัวรอดเมื่อ 'น้ำท่วม' ฉับพลัน

รู้จักพายุ 'ซินลากู' และวิธีเอาตัวรอดเมื่อ 'น้ำท่วม' ฉับพลัน

รู้หรือไม่? ชื่อพายุ "ซินลากู" มีที่มาจากชื่อเทพธิดาตามความเชื่อของชาวเกาะคอสไร ประเทศไมโครนีเซีย เป็นพายุโซนร้อนที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้ฝนตกและ "น้ำท่วม" หนักในหลายพื้นที่

จากกรณีพายุโซนร้อน "ซินลากู" พัดกระหน่ำในภูมิภาคเอเชียตะออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ก็คือ เวียดนาม เพราะพายุลูกนี้ได้เคลื่อนขึ้นฝั่ง ณ บริเวณเมืองทันหวา ทางตอนใต้ของกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม อีกทั้งประเทศใกล้เคียงอย่าง สปป.ลาว และประเทศไทยเอง ก็ได้รับผลกระทบจากพายุ "ซินลากู"  เช่นกัน 

โดยในไทยพบว่าเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก และ "น้ำท่วม" ฉับพลันรุนแรงและน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ จ.เลย และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือและภาคอีสานอีกหลายแห่ง ขณะนี้จึงมีพี่น้องชาวไทยกำลังได้รับความเดือดร้อนกันหลายครัวเรือน ซึ่งสำหรับพี่น้องคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มีคำแนะนำในการดูแลตัวเองและวิธีเอาตัวรอดเมื่อต้องประสบอุทกภัย รวมถึงทำความรู้จักที่มาของพายุลูกนี้ด้วย 

1. ชื่อพายุ "ซินลากู" มาจากชื่อเทพธิดาเกาะคอสไร

ซินลากู (Sinlaku) เป็นชื่อในรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนในชุดที่ 3 ของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ชื่อนี้ถูกนำเสนอโดยประเทศไมโครนีเซีย ส่วนที่มาของคำว่า "ซินลากู" ก็เป็นชื่อของเทพธิดาตามความเชื่อของชาวเกาะคอสไร ประเทศไมโครนีเซียอีกด้วย

2. ลักษณะของพายุโซนร้อน "ซินลากู"  

พายุโซนร้อน "ซินลากู" มีความรุนแรงเท่ากับ "พายุระดับ 3" เกิดจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา พายุโซนร้อนซินลากูได้พัดขึ้นฝั่งที่บริเวณเมืองทันหวา ทางตอนใต้ของกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวยข้อง : 

159643952216

3. โซนร้อน "ซินลากู" อ่อนกำลังลงเป็น ดีเปรสชัน

ภายในวันที่ 3-4 ส.ค. 63 นี้ คาดว่าพายุโซนร้อน   "ซินลากู" กำลังจะอ่อนกำลังลง กลายเป็นพายุระดับ 2 หรือกลายเป็น "ดีเปรสชัน ซินลากู"  มีทิศทางของพายุพัดเคลื่อนเข้าสู่ประเทศลาว จากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 1 หรือ "หย่อมความกดอากาศต่ำ"  ตามลำดับ

4. พายุ "ซินลากู" ทำ  "น้ำท่วม"  ที่ไหนบ้าง?

พายุโซนร้อนดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ กรมอุตุฯ จึงออกประกาศขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว ระมัดระวังผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย พื้นที่ที่ได้ผลกระทบในประเทศไทย   มีดังนี้

ภาคเหนือ: แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ

ภาคกลาง: นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

159643952446

5. วิธีเอาตัวรอดจาก "น้ำท่วม" ฉับพลัน

มีข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ค "กองปราบปราม"   ได้เผยแพร่  10 วิธีการดูแลตัวเองเมื่อต้องประสบเหตุ "น้ำท่วม" หรือเหตุอุทกภัย ที่ประชาชนควรทราบและนำไปปฏิบัติตาม โดยโพสต์ข้อความระบุว่า  "วิธีการป้องกันตนเองและสิ่งของต่างๆ เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย หากประชาชนจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์อุทกภัย จะทำอย่างไรให้สามารถหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย"   

1.  ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

2.  ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

3.  เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ

4.   ร่างกายต้องอบอุ่น

5.   สังเกตปริมาณน้ำให้ดี

6.   ตัดสะพานไฟฟ้าภายในบ้าน

7.   ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะขณะฝนตกหนักและมีพายุ

8.   ระวังเชื้อโรคที่มากับน้ำท่วม

9.   ระวังสัตว์มีพิษที่หนีน้ำท่วมมา

10.  เตรียมอาหารสำรองให้พร้อม

159643957369