เตือน 'เกมสภา' ปมเสี่ยงนายกฯ จับตา 'อาฟเตอร์ช็อค' ปรับ ครม.

เตือน 'เกมสภา' ปมเสี่ยงนายกฯ จับตา 'อาฟเตอร์ช็อค' ปรับ ครม.

นักวิชาการ เชื่อ หลังปรับ ครม. “นายกฯ-รัฐบาล” ประคองตัวได้ แนะสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ เตือนระวังเพลี้ยงพล้ำเกมในสภา ขณะ “สมศักดิ์" รับอาจมี "อาฟเตอร์ช็อค" หลังปรับ ครม. คาดสภาฯได้รับผลกระทบ 1-2 ครั้ง เลือกผู้ว่า กทม. ยังมีเวลา

ความเห็นจากนักวิชาการต่อการปรับรัฐมนตรี โดยเฉพาะในซีกของทีมเศรษฐกิจ หลังจากที่ ทีมเดิม ของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ” ลาออกไป

ต่อเรื่องนี้ รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองในมุมวิชาการ ว่า ภาพรัฐบาลหลังการปรับครม. หากจะมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนก็ใช่ หรือมองว่าฉุดภาพลักษณ์ของรัฐบาล ก็ใช่เช่นกัน

“การปรับครม. รอบนี้ คือการปรับทีมเศรษฐกิจและเป็นการแก้ป้ญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ หากมองแยกส่วนคือ ทีมเศรษฐกิจที่เข้ามา หลังจากที่ได้เห็นหน้าแล้ว จะทำให้ประชาชนยอมรับได้หรือไม่ หากปรับของเก่าออก แต่ได้ของใหม่ที่แก้ปัญหาไม่ได้ อาจจะเป็นรอยซ้ำเติมรัฐบาลจากปัญหาต่างๆ เช่น การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ปัญหารอยร้าวภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องยอมรับว่ามีคนที่อกหก และคนที่สมหวัง หรือแม้แต่เรื่องในสภาผู้แทนราษฎร โดยทั้ง 3 ส่วนนั้นยอมรับว่ามีผลผูกโยงกัน”

สำหรับประเด็นม็อบ การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา นายอรรถสิทธิ์ มองว่า แม้ตอนนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพลังเงียบ เนื่องจากยังไม่ตอบโจทย์หรือสะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่าเมื่อรัฐบาล ได้กระทำภายใต้การบริหารประเทศที่ไร้ความเชื่อมั่นอาจเกิดแนวร่วมขึ้นได้ เพราะการแสดงจุดยืนของกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวตอนนี้ คือ แสดงความเป็นห่วงอนาคตของตนเองภายใต้การบริหารของคณะบริหารชุดปัจจุบัน ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้รัฐบาลต้องรับฟังเสียง และหาทางออกร่วมกัน หากไม่สนใจ จะไม่สามารถการันตีเสถียรภาพได้ในอนาคต

ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากมี ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่ นั่งเก้าอี้บริหารนั้น นักวิชาการรัฐศาสตร์ มองว่าสิ่งสำคัญคือ การทำงานให้ประชาชนเชื่อมือ และเชื่อถือ สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยวิธีทางงบประมาณ และการอัดฉีดงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ต้องทำให้เห็นว่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ ขณะที่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ลามไปทั่วโลก ต้องคำนึงถึงตัวคูณทางด้านเศรษฐกิจ คือ การดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ

เตือนระวังเพลี่ยงพล้ำในสภา

ขณะที่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขณะนี้มีความพยายามจากฝ่ายการเมือง ในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีข้อเรียกร้องสำคัญ คือการแก้ไขกติกาที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งเรื่องนี้ นายอรรถสิทธิ์ มองว่าสิ่งที่จะสัมพันธ์กัน คือ การแสดงความจริงใจจากรัฐบาล ต่อการสนับสนุนแก้ไข ไม่ใช่แค่ตั้งทีมเพื่อศึกษา หรือมีกรรมการเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนรู้สึกว่ามีความยุติธรรมในการเมืองไทย แน่นอนว่าหนีไม่พ้นเรื่องอำนาจ ส.ว. ที่ช่วยสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี หากแก้ไขให้พรรคการเมืองลงเสียงเลือกเอง โดยไม่ใช้เสียงส.ว.พลิกอาจเป็นสิ่งแรก แม้หลังจากแก้รัฐธรรมนูญแล้วต้องมีการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าฝ่ายค้านจะสนับสนุนแม้ยังไม่อยากให้เลือกตั้งตอนนี้”

ส่วนประเด็นการเมืองที่ต้องมองจากนี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มองว่า คือ เกมในสภาฯ หลังจากที่พรรคพลังประชารัฐ ปรับเปลี่ยนภายใน ทำให้มีคนที่สมหวังและไม่สมหวัง ภาพสะท้อนที่อาจเกิดขึ้น คือ บทบาทในสภาฯ หากรัฐบาลสามารถบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจได้ แต่อย่าลืม คำนึงถึงบรรยากาศในสภาฯ ด้วย เพราะหากรัฐบาลเพลี้ยงพล้ำในสภา จะเกิดผลกระทบต่อการประคับประคองรัฐนาวาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

“สมศักดิ์”แนะจับตาอาฟเตอร์ช็อก

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรีว่า รายชื่อทั้งหมดที่ปรากฏยังคงต้องรอความชัดเจนภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง แต่พรรคพลังประชารัฐไม่มีปัญหากับการปรับ ครม.ครั้งนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เพราะทุกคนให้เกียรตินายกรัฐมนตรี

ส่วนกรณีการแกนนำพรรคพลังประชารัฐบางส่วนพลาดหวังในตำแหน่งนั้น ยอมรับว่าอาจจะมี 1-2 ครั้งที่อาจจะกระทบต่อการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร แต่หลังจาก พูดคุยทำความเข้าใจกันแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

"ผู้ที่พลาดหวังจากการปรับครม.ครั้งนี้ ก็เหมือนกับคนอกหักที่อาจจะช็อค แต่ 1-2 อาทิตย์ก็หาย และคงไม่ใช้เวลานาน เพราะไม่ใช่รักแรกพบ ก็น่าจะทำใจได้เร็ว เนื่องจากการปรับครมมีมาหลายครั้งแล้ว ส่วนใหญ่จึงมีประสบการณ์

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การเปิดตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ลงตัวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบว่ามีการเปิดตำแหน่ง รมช.แรงงาน แต่หากมีการเปิดตำแหน่งดังกล่าวจริง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่น่าจะเป็นการปรับเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากมีคนตกงานจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรมาช่วยงานเพิ่มขึ้น แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่ก็สามารถทำได้ในฐานะผู้บริหาร ร่วมกับข้าราชการประจำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสนใจเรื่องของแรงงาน