ชะตากรรม 'TikTok' เหยื่อขัดแย้ง 'สหรัฐ-จีน'

ชะตากรรม 'TikTok' เหยื่อขัดแย้ง 'สหรัฐ-จีน'

ติ๊กต๊อก (TikTok) แอพพลิเคชั่นยอดนิยมที่เปิดให้ผู้ใช้ทำคลิปได้อย่างสนุกสนาน กำลังถูกเล่นงานอย่างหนักประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันศุกร์ (31 ก.ค.) เตรียมลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ห้ามติ๊กต๊อกดำเนินการในสหรัฐ

ชัดเจนอย่างมากว่า คำประกาศของทรัมป์เป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทจีนเจ้าของแอพพลิเคชั่นนี้ต้องขายกิจการ และจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดภายในวันเสาร์ (1 ส.ค.) ตามเวลาสหรัฐ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งความกังวลที่สั่งสมมานานเรื่องภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยติ๊กต๊อกอาจจะดูแลข้อมูลส่วนตัวไม่ปลอดภัย นี่ถือเป็นระเบิดลูกใหญ่เล่นงานไบต์แดนซ์ เจ้าของแอพติ๊กต๊อกที่มีฐานปฏิบัติการในกรุงปักกิ่ง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทจีนเพียงไม่กี่เจ้าที่เติบโตระดับโลก ผลพวงจากความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ของแอพติ๊กต๊อก

แหล่งข่าววงในเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าคำประกาศของทรัมป์เกิดขึ้นหลังการเจรจาอย่างดุเดือด เมื่อวันศุกร์ คณะกรรมการทำเนียบขาวที่มีกระทรวงการคลังเป็นประธาน จัดประชุมทบทวนความเป็นเจ้าของติ๊กต๊อกของไบต์แดนซ์ ผู้ร่วมเจรจามีทั้งทำเนียบขาว ไบต์แดนซ์ และว่าที่ผู้ซื้อกิจการติ๊กต๊อก ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์ คอร์ป แต่ก็ไม่สามารถทำข้อตกลงให้ไบต์แดนซ์ยุติการปฏิบัติการของติ๊กต๊อกในสหรัฐได้ คาดว่าต้องมาเจรจากันต่อในเร็วๆ นี้

ส่วนไมโครซอฟท์แม้มีโซเชียลมีเดียเครือข่ายคนทำงานของตนเองอย่าง “ลิงค์อิน” แล้วก็ตาม การซื้อติ๊กต๊อกของไมโครซอฟท์จะเจออุปสรรคทางกฎระเบียบน้อยกว่าคู่แข่งโดยตรงอย่างเฟซบุ๊คอิงค์

ไบต์แดนซ์คาดว่า ติ๊กต๊อกมีมูลค่าเกินกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และยืนกรานถือหุ้นข้างน้อยในแอพเอาไว้

ขณะที่ทรัมป์เสียงแข็งว่า สหรัฐไม่ใช่ประเทศแห่งการควบรวมแล้วเข้าซื้อกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) แต่เป็นการขายกิจการ ให้ไมโครซอฟท์หรือบริษัทอื่นๆ ไปเลย

ตอนที่ทรัมป์แถลงยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เขามีอำนาจใดมาสั่งห้ามติ๊กต๊อกดำเนินการ แอพนี้มีผู้ใช้สม่ำเสมอในสหรัฐมากถึง 80 ล้านคนต่อเดือน รวมทั้งยังไม่ชัดเจนว่า จะสั่งห้ามอย่างไรและต้องเจอความท้าทายทางกฎหมายใดบ้าง

แถลงการณ์จากติ๊กต๊อก ระบุ “แม้เราไม่ให้ความเห็นเรื่องข่าวลือหรือการคาดการณ์ แต่เรามั่นใจในความสำเร็จระยะยาวของติ๊กต๊อก”

มูลเหตุของเรื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่เสื่อมถอยลงทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า ความเป็นอิสระของฮ่องกง ความมั่นคงไซเบอร์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ติ๊กต๊อกกลายเป็นสมรภูมิล่าสุดระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก

159629307685

สัปดาห์ก่อน คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและกิจการรัฐบาลของวุฒิสภาสหรัฐ มีมติเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมาย ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางใช้ติ๊กต๊อกบนอุปกรณ์ของรัฐ มตินี้จะต้องนำไปให้วุฒิสภาลงมติต่อไป ส่วนสภาผู้แทนราษฎรลงมติมาตรการคล้ายๆ กันนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

แอพติ๊กต๊อก ที่เปิดให้ผู้ใช้ทำคลิปสั้นด้วยเทคนิคพิเศษ กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน แต่ตอนนี้ไบต์แดนซ์กำลังถูกสหรัฐกดดันอย่างหนักให้เลิกควบคุมแอพ จึงต้องพิจารณาทางออกอย่างเหมาะสม

บริษัทได้รับข้อเสนอจากนักลงทุนจำนวนหนึ่ง เช่น บริษัทซีคัวญา และบริษัทเจนเนอรัล แอตแลนติก ให้ไบต์แดนซ์โอนหุ้นข้างมากในติ๊กต๊อกให้แก่บริษัทเหล่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวตีราคาติ๊กต๊อกไว้ที่ราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ผู้บริหารไบต์แดนซ์บางคนเชื่อว่า ติ๊กต๊อกราคาสูงกว่านั้น

นอกจากนี้ ไบต์แดนซ์ยังได้รับข้อเสนอจากบริษัทและบริษัทลงทุนอื่นๆ ที่สนใจในติ๊กต๊อกด้วยเช่นกัน

สำหรับความเป็นมาของติ๊กต๊อก เมื่อปี 2560 ไบต์แดนซ์ซื้อแอพวิดีโอ Musical.ly ในเซี่ยงไฮ้มาด้วยราคา 1 พันล้านดอลลาร์ ปีถัดมานำมาเปิดตัวใหม่ในชื่อ “ติ๊กต๊อก” โดยที่ไบต์แดนซ์ไม่ได้ขออนุมัติซื้อจากคณะกรรมาธิการการลงทุนต่างประเทศสหรัฐ (ซีเอฟไอยูเอส) ที่มีหน้าที่ตรวจสอบดีลส่อเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อปีก่อนว่า ซีเอฟไอยูเอสเปิดสอบติ๊กต๊อกแล้ว

ที่ผ่านมา สหรัฐตรวจสอบนักพัฒนาแอพมากขึ้นทุกทีเรื่องการจัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะแอพที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรของกองทัพหรือหน่วยข่าวกรองสหรัฐ คำสั่งให้ติ๊กต๊อกเลิกกิจการไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำเนียบขาวทำเพราะความกังวลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

หลายเดือนก่อน “ปักกิ่งคุนลุนเทค” บริษัทเกมสัญชาติจีนขาย Grindr แอพนัดเดตเกย์ยอดนิยมที่บริษัทซื้อมาในปี 2559 ออกไปด้วยราคา 620 ล้านดอลลาร์ หลังถูกซีเอฟไอยูเอสสั่งให้เลิกกิจการ

ปี 2561 ซีเอฟไอยูเอส บีบให้แอนท์ไฟแนนเชียลของจีน ยกเลิกแผนซื้อมันนีแกรมอินเตอร์เนชันแนลอิงค์ เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลที่อาจระบุตัวพลเมืองสหรัฐได้

ก่อนหน้านี้ ไบต์แดนซ์เคยมีมูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ตอนที่ ชีตาห์โมบาย ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งทำข้อตกลงส่วนตัวขายหุ้นส่วนน้อย นักลงทุนคนอื่นๆ ในไบต์แดนซ์ยังรวมถึงซอฟท์แบงก์กรุ๊ปของญี่ปุ่นด้วย

รายได้จำนวนมากของไบต์แดนซ์มาจากการโฆษณาบนแอพที่ดำเนินงานในจีน เช่น โต่วอิน หรือติ๊กต๊อกเวอร์ชันจีน แอพสรุปข่าว “โถวเถี่ยว” แอพวิดีโอสตรีมมิง “ซีกัว” และ Pipixia แอพวิดีโอแนวตลกขบขัน

แอพอื่นๆ ในต่างประเทศของไบต์แดนซ์ เช่น “ลาร์ค” สำหรับการทำงานร่วมกัน และ “เรสโซ” แอพสตรีมมิงเพลง

ด้านเควิน เมเยอร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ติ๊กต๊อก อดีตผู้บริหารวอลท์ ดิสนีย์ โพสต์ในบล็อกเมื่อวันพุธ (29 ก.ค.) ว่า บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐทุกประการ และอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูนโยบายสายกลางและตรวจสอบรหัสดำเนินการอัลกอริธึม